xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์เครื่องหอมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องหอมไทยถือเป็นมรดกตกทอดที่ทรงคุณค่าและน่าอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง ตำนานเล่าขานที่ได้ยินกันมาเกือบทุกยุคทุกสมัย คือ ความหอมจากกลิ่นกายของหญิงไทย ซึ่งหอมมากกระทั่งลุกออกไปจากที่นั่งแล้วกลิ่นหอมยังติดอยู่

คุณสมบัติที่โดดเด่นของเครื่องหอมไทยคือ มีความติดทนนาน ซึ่งถือเป็นความพิเศษสุดของเครื่องหอมไทยที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ แต่อนาคตของเครื่องหอมไทยอาจจะกลายเป็นเพียงของโบราณที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นกระดาษ เพราะค่านิยมในเครื่องหอมที่รู้จักกันดีในรูปของน้ำหอมจากตะวันตก เข้ามาครองใจคนไทยอยู่เวลานี้

เครื่องหอมไทยนอกจากจะมีความมหัศจรรย์ ในมนต์เสน่ห์ที่เย้ายวนแล้ว ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของไทยด้านต่างๆที่มีการสืบทอดต่อๆกันมาด้วย

นพ.วุฒิกิจ ธนะภูมิ ประธานกรรมการมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา อธิบายความหมายของเครื่องหอมว่า หมายถึงสิ่งต่างๆที่มีกลิ่นดีหรือกลิ่นหอมไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ หรือจากการปรุงแต่งของมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ของไทย การตามรอยเครื่องหอมไทย ตามหลักจารึกประวัติศาสตร์มีความเป็นไปได้มากว่าเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งจุดประเด็นจากการทำกระทงของนางนพมาศแต่ไม่มีบันทึกไว้ชัดเจน

จวบจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีการบันทึกไว้แต่เป็นในรูปของขลัง ยา ในลักษณะของยา ว่านสมุนไพรร้อยแปด สำหรับผู้ชายแช่อาบก่อนออกศึก ด้วยความเชื่อที่ว่า ว่านสมุนไพรร้อยแปด เป็นเครื่องหอมที่ช่วยป้องกันอาวุธ และผู้อาบจะอยู่ยงคงกระพัน อีกส่วนหนึ่งของการใช้เครื่องหอมในสมัยอยุธยาจะถูกใช้ในเรื่องของความสวยงามสำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องของการประทินโฉม นอกจากนี้ยังใช้เป็นในเรื่องของยาหอม เช่น ยาหอมตามตำรับของโอสถพระนารายณ์

“ถ้าไล่เรียงรูปลักษณ์ของเครื่องหอมไทยจนมาถึงปัจจุบัน จะมีตั้งแต่น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ และบุหงารำไป ในรูปแบบของดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง พวงมาลัย หรือแม้แต่การเอาดอกไม้สดมาวางตกแต่งในอ่าง หรือปลูกตามรั้วระเบียงบ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีปรากฏในวรรณคดีตลอด และเมื่อของสดเหลือใช้ก็จะถูกนำมาดัดแปลงเป็น บุหงารำไป น้ำอบน้ำปรุง แป้งร่ำ ซึ่งถือเป็นการเก็บถนอม เครื่องหอมไว้ใช้นาน รวมทั้งมีการปรับปรุงแต่งกลิ่นต่างๆให้มากขึ้น”

“ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องหอมอีกประการหนึ่ง คือ เป็นของชั้นสูง ใช้ในการบูชาเทพเจ้า หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการใช้ของคนจึงน่าจะเริ่มจากบุคคลชั้นสูงในรั้วในวังมากกว่าชาวบ้านทั่วไป”

ในส่วนของสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นเครื่องหอมนั้น นพ.วุฒิกิจ บอกเล่าว่า ส่วนใหญ่จะมาจาก ชะลูด ปลอกหอม กฤษณา แก่นจันทน์ โดยการนำมาบดให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกัน หรือนำมาร่ำและอบเผาไฟ เมื่อดับไฟแล้วกลิ่นหอมที่ลอยออกมาในรูปของควัน ก็จะไปติดอยู่ตามสิ่งของที่ต้องการให้ติด เช่น อาหาร ขนม หรือเสื้อผ้า ซึ่งนี่ถือเป็นกรรมวิธีการใช้กลิ่นหอมในอดีต

“สำหรับเครื่องหอมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากำยานซึ่งทำมาจากยางไม้ โดยหลักการใช้เครื่องหอมประเภทนี้ถูกถ่ายทอดมาทางวัฒนธรรมและศาสนา หรือใช้ในการมงคลเป็นเครื่องบูชาเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนด้านอวมงคลของศาสนาคริสต์ก็มีการใช้กำยานในการรักษาศพ ส่วนภูมิปัญญาของไทยอาจมีการใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หรือกลิ่นของใบเตย”

ส่วนคำถามที่ว่า กลิ่นหอมของสมุนไพรมีผลอย่างไรต่อร่างกายนั้น?

นพ.วุฒิกิจ อธิบายว่า กลิ่นหอมของสมุนไพรไทยที่เป็นเครื่องหอมมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท สังเกตได้หลังจากที่ได้มีการสูดดมแล้ว ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีอารมณ์ดี มีความสดชื่นขึ้น ซึ่งเป็นการใช้กลิ่นของเครื่องหอมในลักษณะของการสร้างบรรยากาศที่ยังไม่ถึงขั้นรักษาบำบัด

ด้านพญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เลขานุการมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา เอ่ยถึง เครื่องหอม น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ในการนวดบำบัดในประเทศไทยว่า เกือบ 100% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มูลค่าการใช้ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 60% เป็นสารสังเคราะห์ไม่ใช่สารสกัดจากธรรมชาติ

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรจะสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการสกัดสารน้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม เช่น สกัดจากมะกรูด ใบเตย ดอกมะลิ จำปูน จำปี จำปา กระดังงา เป็นต้น สามารถนำมาใช้ในการทำเครื่องหอมและเครื่องสำอางได้ และต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต แปรรูปเพิ่มมูลค่า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยรวมเป็นกลุ่มสหกรณ์ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการทำอย่างมืออาชีพ เพื่อก้าวสู่ระดับมาตรฐานโลก

“การใช้น้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่าอโรมาเทอราปี (Aroma Therapy) ในประเทศไทย มีการนำมาใช้เพื่อการรักษาโรคและการส่งเสริมสุขภาพลดความเครียด ทั้งการสูดดม ทา นวด แต่จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง และสารที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง รวมทั้งระบบหายใจ แต่ในประเทศไทยยังมีการวิจัยในเรื่องนี้น้อยมาก”

โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดขึ้นกับหลายกลุ่ม เช่น น้ำมันหอมประเภทน้ำมันส้ม น้ำมันมะกรูด ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีชื่อว่า คาราเวย์ (Caraway) จะทำให้ผู้ใช้บางคนเกิดการแพ้แสงแดดได้ น้ำมันประเภทน้ำมันกานพลู น้ำมันเออกาโน หรือน้ำมันเครื่องเทศของฝรั่ง ซึ่งบ้านเรายังไม่มีแต่มีการนำเข้ามาใช้ หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ และหลอดลมได้

พญ.เพ็ญนภา เตือนว่า กลุ่มที่จะต้องระมัดระวังมากที่สุดในการใช้น้ำมันหอมระเหย คือ กลุ่มหญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคลมชัก หรือลมบ้าหมู โดยในกลุ่มหญิงมีครรภ์ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยประเภทเปปเปอร์มิ้นต์ หรือน้ำมันพริกไทยดำ น้ำมันกานพลู น้ำมันอบเชย น้ำมันตะไคร้หอม เนื่องจากสารในน้ำมันดังกล่าวจะทำให้มีผลต่อเด็กในครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลมชักหากใช้น้ำมันหอมประเภทโรสแมรี่ น้ำมันเบซิล จะกระตุ้นให้อาการชักกำเริบได้ ดังนั้นผู้ที่ใช้จะต้องรู้ผลดีผลเสียของน้ำมันหอมระเหยด้วย

“อย่างไรก็ตาม มีน้ำมันหอมระเหยหลายประเภทที่แนะนำให้ใช้เพื่อสุขภาพ มีดังนี้ ประเภทลาเวนเดอร์ น้ำมันมะลิ หรือน้ำมันจัสมิน (Jasmine) น้ำมันส้ม มีสรรพคุณในการลดความเครียด ทำให้มีสมาธิ จิตใจสบาย นอนหลับดี แต่น้ำมันส้ม แนะนำใช้เพื่อสูดดม ไม่เหมาะในการนำไปทาผิว โดยน้ำมันส้มดังกล่าว ขณะนี้พัฒนาเป็นยาดมส้มมือมีขายทั่วไป สำหรับน้ำมันที่ทำให้กระชุ่มกระชวย ช่วยรักษาอาการหวัดได้ ได้แก่ น้ำมันยูคาลิปตัส และเบอร์กามอต โดยมูลนิธิการแพทย์แผนไทยฯ จะจัดทำคู่มือในการใช้น้ำมันหอมระเหยนี้ แจกจ่ายให้สปา สถานนวดเพื่อสุขภาพและเสริมสวยทั่วประเทศด้วย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ” 
กำลังโหลดความคิดเห็น