xs
xsm
sm
md
lg

หมื่นสี หมื่นลาย หมื่นพับ ฝ้ายงาม...ที่ "บ้านป้าดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านไร่ไผ่งาม เรือนไม้สักใต้ถุนสูง ที่คุ้มแดดคุ้มฝนแก่สมาชิกที่อาศัยอยู่ภายใต้เงาหลังคามากว่า 60 ปี จากรุ่นสู่รุ่นที่ภูมิปัญญาศิลปะแห่งการวาดลวดลายเส้นฝ้ายบนกี่ทอ ผ่านกระบวนการที่ต้องอาศัยความรักและความเอาใจใส่อย่างยิ่งยวด กว่าจะออกมาเป็นผ้าฝ้ายทอมือสักผืนหนึ่ง ผ้าซึ่งได้รับการยืนยันจากสมาชิกใน “บ้านป้าดา” ว่าเป็นผ้า “หมื่นสี หมื่นลาย หมื่นพับ” ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ...สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ซึมซับ ซาบซึ้ง และสืบสานความงดงามอันเป็นภูมิปัญญาที่แสนทรงคุณค่าต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (สวช.) ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรโครงการ “เปิดป้ายบ้านศิลปินแห่งชาติ นางแสงดา บันสิทธิ์” ขึ้นที่บ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญสื่อมวลชนจากหลายแห่งเข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้

“แสงดา บันสิทธิ์” กับชีวิตหญิงทอผ้า

...อ.จอมทอง กิโลเมตรที่ 69 เป็นที่ตั้งของ “บ้านไร่ไผ่งาม” และ “พิพิธภัณฑ์บ้านป้าดา” ตัวบ้านไม้สักสีน้ำตาลเข้มตั้งตระหง่านสง่างามและเคร่งขรึม สมกับที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกขายให้กับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ - สามีของป้าแสงดา ด้วยเพราะลูกชายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รู้จักและสนิทสนมกับนายดาบมาลัยเป็นอย่างดี

ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เจ้าของบ้านไร่ไผ่งาม เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2462 ในหมู่บ้านที่มีกี่ทอผ้าอยู่ในบ้านทุกหลังคาเรือน ได้เห็นกระบวนการทอผ้ามาแต่เยาว์วัย จับกี่หัดลองทอครั้งแรกตอน 5 ขวบ และได้ศึกษาวิธีการทอจากครูผู้ชำนาญที่สุดในหมู่บ้านทั้งด้านการปั่นด้ายและการทอผ้า ทำให้ป้าแสงดาทั้งรักและชำนาญในการทอผ้าฝ้ายเป็นอย่างมาก

จนอายุ 17 ปี ป้าแสงดาสมรสกับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ นายตำรวจจาก จ.ราชบุรี นายดาบมาลัยไม่ใคร่เห็นด้วยกับการทอผ้าของภรรยานัก เพราะเห็นว่าเสียเวลา ผืนหนึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นผ้า แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ผ้ากลายเป็นสินค้าขาดตลาด ป้าแสงดาแก้ปัญหาโดยลงมือทอผ้าเปลือกไม้ และนำไปตัดเป็นชุดให้สามีไปทำงาน ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กระทั่งนายดาบมาลัยถึงแก่กรรม ป้าแสงดาจึงได้นำเงินที่มีอยู่ไปซื้อกี่ทอผ้า และชักชวนแม่บ้านจากบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมกันทอผ้า ในช่วงต้นป้าดาจำเป็นต้องต่อสู้ทางการตลาดค่อนข้างหนัก กว่าจะทำให้ผ้าฝีมือแม่บ้านในกลุ่มเป็นที่รู้จักและมีคนต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความพยายามศึกษาพัฒนาสีที่ใช้ย้อมให้สวยงามแปลกตาคงทน รวมทั้งประดิษฐ์ลวดลายให้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร

ปลายทางแห่งความพยายามของป้าดา ก็สามารถทำให้ผ้าของบ้านไร่ไผ่งามติดตลาดได้สำเร็จ มีแม่บ้านมาร่วมเป็นสมาชิกร่วมทอผ้ากับบ้านไร่ไผ่งามถึง 42 คน โดยใช้ใต้ถุนบ้านป้าเป็นโรงทอ

จนกระทั่งป้าแสงดาได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ในปี พ.ศ.2529 ด้วยฝีมือการทอผ้าฝ้ายทอมือที่แสนละเอียดและพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแกะฝ้ายออกจากฝัก ดีดฝ้ายให้เป็นปุย หีบฝ้าย แยกเมล็ดฝ้าย ปั่นให้ออกมาเป็นเส้น เอาเส้นฝ้ายที่ได้มาไปย้อม จนมาขึ้นกี่ แล้วถึงจะลงมือทอออกมาเป็นผืนผ้า

ตลอดชีวิตของ “ป้าดา” นั้น คนใกล้ชิดได้เปิดเผยว่า คล้ายกับว่าป้าแต่งงานกับงานทอ กับผืนผ้า เพราะป้าจะทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพัก ป้าไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยเห็นป้าทำตัวหม่นหมอง ไม่เคยนอนกลางวัน เมื่อตื่นเช้ามา ป้าก็จะทำงานทั้งวัน เรื่อยไปจนตะวันตกดิน เป็นเช่นนี้ทุกวันตลอดชั่วชีวิต 73 ปีของป้า

จุดเด่นของผ้าฝ้ายทอมือฝีมือป้าแสงดาอยู่ที่ลายทอละเอียด และสีย้อมที่ได้มาจากสมุนไพรชนิดต่างๆ สีย้อมผ้าของป้าดาไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีการช่างตวงวัดว่าส่วนผสมกี่กรัมถึงจะออกมาเป็นสีใดๆ ป้าจะใช้สายตาและความรู้สึกว่าดีไหม สวยไหม พอหรือยัง และในทุกๆ วัน ป้าจะจับโน่นผสมนี่ รวมทั้งหาพืชใหม่ๆ มาทดลองย้อมเพื่อจะได้สีใหม่ๆ ดังนั้น การพัฒนาของผ้าใน “บ้านไรไผ่งาม” จึงไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ...แต่แล้ววันที่สมาชิกบ้าน “บันสิทธิ์” ทุกคนต้องสูญเสียเสาหลักก็มาถึง...11 มกราคม พ.ศ.2536 ป้าแสงดาจากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคมะเร็งลำไส้
 

“บ้านไร่ไผ่งาม” กับ “รุ่นที่สอง”

ด้วยความรักที่มีต่อ “แม่” และความศรัทธาในงานที่ “แม่” ได้ลงมือเริ่มต้นเอาไว้ เสาวณีย์ ไชยซาววงศ์ ลูกสาวเพียงคนเดียวของป้า จึงเลือกที่จะเดินตามรอยเท้าแม่ ลงแรง ลงใจ เพื่อการต่อยอดงานที่ป้าดาได้ลงมือทำเอาไว้ จุดประสงค์ก็เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าฝ้ายให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีลูกมือคนสำคัญคือ “พี่ต้อม” หรือเนาวรัตน์ บันสิทธิ์ ลูกสาวของเธอ หรือหลานยายของป้าแสงดาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

“ป้ามีจุดมุ่งหมายว่าป้าจะทำเพื่อแม่ ป้าจะสานต่องานที่แม่ทำ วันนี้งานของบ้านไร่ไผ่งามก้าวหน้าไปมาก มากกว่าตอนที่แม่อยู่ สังคมเข้ามาหาเยอะ แต่เราจะพยายามขยายงานสู่ชนบท ไม่ใช่ว่าป้าเก่งนะที่ทำได้ แต่ป้าเป็นส่วนหนึ่งของแม่ เป็นส่วนหนึ่งของงานแม่ ทำเพื่อแม่ เพื่อลูกหลานเหลนที่จะเจริญเติบโตต่อไป

มีหลายคนพูดว่าป้าจะอยู่ไม่ได้ บ้านไร่ไผ่งามจะอยู่ไม่ได้ เมื่อแม่แสงดาจากไป คนที่เข้าใจเช่นนั้นไม่เข้าใจจุดยืนของเรา จุดยืนของครอบครัวเรารู้กันดี แม่ไม่ได้บอกป้าว่า “รับเถิดนะ” แต่ป้าก็รับต่องานจากแม่ ซึ่งหน้าที่ของป้าก็คือศึกษาเพิ่ม พัฒนาต่อจากที่แม่ทำเอาไว้ บ้านไร่ไผ่งามในวันนี้หยั่งรากลึกมั่นคงแล้ว แต่อนาคตป้าไม่รู้ แต่อยากให้ลูกหลานสืบทอดต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ป้าไม่ได้บังคับ คืองานแบบนี้ถ้าไม่รักมันจะทำไม่ได้ ถ้าไม่รักไม่ชอบ ปัญหามันจะตามมา

ทุกวันนี้ที่ป้าทำอยู่คือให้ลูกหลานซีรอกซ์ทุกอย่าง ทั้งหมด ทั้งสิ้นจากตัวป้า อนาคตของที่นี่ป้าตอบไม่ได้หรอกว่ามันจะเป็นเช่นไร ซึ่งการรับช่วงต่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด แต่จุดยืนเรายังไม่เปลี่ยนแปลง เอกลักษณ์ที่แม่เคยสั่งสอนเอาไว้ ป้าก็นำมาใช้สอนลูกหลาน ต่อไปก็คือ “คุณภาพ” แม่ย้ำมากเรื่องคุณภาพ เราก็จะเน้นลูกหลานเรา เช่นถ้าวันนี้ทอสวยแค่นี้ พรุ่งนี้สวยมากกว่านี้นะ แล้วผ้าของเราก็จะสวยทุกวัน ทุกชิ้น ทุกผืน” เสาวนีย์...ทายาทรุ่นที่สองลูกสาวของป้าแสงดากล่าว

“บันสิทธิ์” รุ่นที่สามกับความงามที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

หากนับว่าป้าเสาวณีย์...ลูกสาวของป้าแสงดาเป็น “บ้านไร่ไผ่งามรุ่นที่สอง” “ต้อม” หรือเนาวรัตน์ - ลูกสาวคนเล็กและคนเดียวของป้าเสาวณีย์ก็ถือเป็น “บันสิทธิ์รุ่นที่สาม” ที่มีโลหิตแห่งความรักในหัตถกรรมการทอไหลอยู่ในทุกอณูของร่างกาย

“พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งในปี 2537 หลังคุณยายเสีย 1 ปี จนถึงวันนี้พิพิธภัณฑ์บ้านป้าดาอยู่มาได้ 12 ปี ซึ่งนั่นถือได้ว่าหากรวมกับท่านม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว คุณยายน่าจะเป็นศิลปินแห่งชาติกลุ่มแรกๆ ที่มีพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเอง โดยพิพิธภัณฑ์นี้ได้เรี่ยวแรงสำคัญในการดำเนินงานต่างๆ จากคนในครอบครัวเอง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ลูกๆ หลานๆ ช่วยกันทำ

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อยู่ด้วยกัน แต่พอคุณยายเสียลูกหลานก็ย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง ครั้งแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ถึงขั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ เพียงแต่เราอยากจะทำอะไรเพื่อระลึกถึงคุณยาย ทำไปทำมาเลยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ดังเช่นทุกวันนี้ ... พิพิธภัณฑ์ของเราเปิดให้ชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้มาเยือนสามารถเดินชมได้ด้วยตัวเอง และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกกระบวนการล้วนเป็นวิถีชีวิตของคนบ้านไร่ไผ่งาม”

ต้อมเผยถึงโครงการที่กำลังจะทำในอนาคตอันใกล้ คือการเปิดสอนการทอผ้าฝ้ายแบบฉบับต้นตำรับบ้านไร่ไผ่งาม ที่เป็นการทอผ้าฝ้ายด้วยมือทุกกระบวนการ เพื่อเผยแพร่ภูมิความรู้และ สืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้อยู่สืบต่อไปอีกด้วย

“เราใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่การแกะฝ้าย หีบฝ้าย ดีดฝ้ายให้เป็นปุย ไปจนกระทั่งขึ้นกี่ทอและทำมือทุกกระบวนการ ราคาผ้าจะเริ่มต้นที่ เมตรละ 400-500 บาท ซึ่งนับว่าสูงมากหากเทียบกับผ้าฝ้ายที่ผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรม แต่ยืนยันว่าผ้าของบ้านไร่ไผ่งามนั้น การผลิตทุกขั้นตอนเราใส่ใจในคุณภาพ ที่สำคัญที่คุณยายสอนเสมอว่า ผ้าของเราจะเป็น “ผ้าหมื่นสี หมื่นลาย หมื่นพับ ผ้าของเราจะไม่เหมือนกันเลยสักผืนเดียว เพราะเราทอมือ ผ้าที่ได้จากเราไปมีผืนเดียวในโลก เพราะการย้อมแต่ละครั้งได้จากสีสมุนไพร เป็นการย้อมที่ไม่มีสารเคมีเจือปน ทำให้สีไม่เสมอกัน ผ้าจะมีสีเหลือบกัน และเป็นผ้าที่ยิ่งซัก ยิ่งตก จะยิ่งสวย เอกลักษณ์ของเนื้อผ้า คือเส้นฝ้ายไม่เสมอกัน เพราะเป็นการปั่นด้ายด้วยมือก่อนจะเอาขึ้นกี่ทอ จะไม่เรียบเหมือนใช้เครื่องทอ นี่เป็นที่มาของ “หมื่นสี หมื่นลาย หมื่นพับ” ของบ้านเรา” พี่ต้อมกล่าว

ขณะนี้ “เจเนอเรชั่นล่าสุด”ของบ้าน“บันสิทธิ์” เสมือนดอกฝ้ายดอกงามผู้เติบโตขึ้นในโลกของยุคดิจิตอล คือเด็กสาววัย 14 ปี ชื่อ “น้องปอสา” ...

ปอสา เริ่มสืบทอดความเป็น “บันสิทธิ์” ไปได้บ้างแล้ว เธอทอผ้า ชอบงานศิลปะ และเหนืออื่นใดเธอ “รัก” ในความเป็นตัวเธอและความเป็นครอบครัว ถึงขนาดออกปากว่า “ทำต่อค่ะ เพราะรัก เพราะชอบ รู้สึกภูมิใจ...”




หากสนใจต้องการติดต่อพิพิธภัณฑ์บ้านป้าดา สามารถเดินทางไปได้ด้วยตัวเอง ที่เลขที่ 105 บ้านไร่ไผ่งาม ถ.เชียงใหม่ – ฮอด ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 053-361231 , 053-361480 , 053-361414 หรือโทรสารหมายเลข 053-361230

สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ของร้านบ้านไร่ไผ่งามสามารถซื้อได้ที่ “ร้านบ้านไร่ไผ่งาม” ซึ่งมี 2 แห่งคือ ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า ชั้น 2 ฝั่งนอร์ธเทิร์นวิลเลจ และที่ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 1 หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 01-8837072
กำลังโหลดความคิดเห็น