xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ชี้ รายการเด็ก "ฟรีทีวี" ต้องพัฒนา-เสนอตั้งศูนย์ควบคุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ ระบุ เนื้อหารายการเด็กทางฟรีทีวีสาระยังต้องพัฒนา ให้ความรู้เด็กแค่ระดับต้น กว่า 2 ใน 3 เน้นบันเทิง โดยกว่าครึ่งเป็นการ์ตูน ซึ่งมีเนื้อหาความรุนแรง ขณะที่โฆษณาในรายการเด็กกระตุ้นให้เด็กฟุ่มเฟือยมากขึ้น เสนอตั้งศูนย์ควบคุมเนื้อหารายการและข่าวสำหรับเด็กและเยาวชน

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ Media Monitor แถลงผลการศึกษาและเฝ้าระวังรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทางช่อง 3 5 7 9 11 และไอทีวี ระหว่างวันที่ 5 - 11 มกราคม 2549 โดยมุ่งรายการสำหรับเด็กอายุ 3 - 12 ปี พบว่ารายการเด็กเกินครึ่งเป็นการ์ตูน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและตะวันตก และมีเนื้อหาความรุนแรงปรากฏอยู่ในการ์ตูนบางเรื่องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากการต่อสู้ ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กดูการ์ตูนโดยลำพัง รองลงมา คือ รายการวาไรตี้ นิตยสารทางอากาศ ตอบปัญหา/เกม และละคร ซึ่งเป็นกลุ่มรายการที่มีเนื้อหาบันเทิงเป็นหลัก ในขณะที่รายการที่มีความชัดเจนในการให้สาระความรู้แก่ผู้ชมที่เป็นเด็ก คือ รายการสารคดี และรายการแสดงออกของเด็กมีสัดส่วนน้อยมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่า รายการเด็กกว่า 2 ใน 3 ของรายการทั้งหมด มุ่งให้ความบันเทิงมากกว่าสาระความรู้ การสร้างพัฒนาการทางด้านความรู้ของเด็ก ยังคงอยู่ในระดับต้น คือ การให้ความรู้ขั้นใช้ความจำ ความเข้าใจ ส่วนการประยุกต์ การจำแนกแยกแยะมักพบในรายการประเภทวาไรตี้ หรือนิตยสารทางอากาศที่เน้นไปทางการสอน งานศิลปประดิษฐ์ ส่วนความรู้ ขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ พบว่า ยังมีอยู่น้อย ซึ่งมักพบในรายการประเภทตอบปัญหา/เกม ด้านการส่งเสริมจริยธรรม พบว่า ไม่ได้มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนัก โดยในรายการบางประเภทไม่ปรากฏลักษณะการส่งเสริม หรือสอดแทรกคุณธรรมอยู่เลย ส่วนรายการที่มีการสอดแทรกเนื้อหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมนั้น มักใช้ลักษณะการส่งเสริมแบบ การให้แบบอย่างที่ดี

สำหรับโฆษณาในรายการเด็ก พบว่า โฆษณาตรงของสินค้าประเภทขนม ปรากฏมากที่สุดในรายการการ์ตูน โดยมีเนื้อหามุ่งเป้าหมายไปที่ลูกค้าที่เป็นเด็กโดยเฉพาะ อีกทั้งมีเนื้อหาไม่เหมาะสมหลายลักษณะ เช่น กระตุ้นให้เกิดการยอมรับการข่มเหงรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ที่สำคัญ กระตุ้นให้เด็กฟุ่มเฟือย เช่น โฆษณามีของแถมติดมากับบรรจุภัณฑ์กระตุ้นให้เด็ก ๆ ที่ชมอยากซื้อผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังพบว่า โฆษณาบริการ Audio text ผ่าน โทร.1900 นำเสนอสิ่งที่งมงาย และน่ากลัว โดยชี้ชวนให้ผู้ชมที่เป็นเด็กใช้บริการเพื่อฟังเรื่องผี เรื่องน่ากลัว และเรื่องราวลี้ลับ

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่หน่วยราชการ หรือสถาบันการศึกษาต้องช่วยกันทำวิจัยและทำรายการต้นแบบว่าทำรายการเด็กอย่างไรจึงจะมีคุณภาพและเด็กก็นิยมดู โดยการวิจัยต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาคสื่อ ผู้ผลิต กุมารแพทย์ และจิตแพทย์ด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างจริงจัง ทั้งการลดภาษี หรือจัดงบส่วนหนึ่งมาสนับสนุนผู้ผลิตรายการสำหรับเด็กด้วย

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่และเยาวชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอให้ตั้งศูนย์ควบคุมและให้คำปรึกษาสำหรับสื่อมวลชนทุกแขนง ประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ กุมารแพทย์ จิตแพทย์ องค์กรพัฒนาเอกชนเด็ก และตัวแทนสื่อมวลชน เพื่อเป็นองค์กรกลางรับเรื่องร้องเรียนและเซ็นเซอร์ พร้อมให้คำแนะนำว่าควรนำเสนอรายการหรือข่าวอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกัน อยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของเด็กและเยาวชนที่ทำความดีให้มากขึ้น ส่วนข่าวลบที่ไม่ดี เช่น เด็กมั่วสุม หรือ ฆ่าตัวตาย ไม่ควรเน้นมากนัก เพราะอาจก่อให้เกิดการเลียนแบบได้ และอยากให้เพิ่มการนำเสนอข่าวการเลี้ยงลูกให้ถูกทางกับพ่อแม่ด้วย เพื่อให้พ่อแม่มีความรู้ ไม่เลี้ยงลูกด้วยวิธีการผิด ๆ จะได้ตระหนักรู้เท่าทันพิษภัยของสื่อ และรู้จักเลือกสื่อและรายการโทรทัศน์ที่ดีแก่ลูกหลานของตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น