ในขบวนนิทานด้วยกัน เกือบทั่วโลกยอมยกย่องให้ "นิทานอีสป" (AESOP'FABLES) เป็นนิทานเอกอมตะ ที่ไม่มีวันเสื่อมสูญไปจากความทรงจำของผู้อ่านทุกชั้นทุกวัย
นิทานอีสป ไม่ได้สร้างขึ้นจากเรื่องของนางฟ้า,แดนเนรมิต,หรือเทพเจ้า แต่นิทานอีสปเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบถึงความดี-ความชั่วเป็นคติสอนใจแก่ผู้อ่าน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยใช้ตัวละครจากสัตว์ต่างๆแล้วเดินเรื่องให้ความเพลิดเพลินเปรียบเทียบถึงคติธรรม-คติสอนใจ
คำว่า... "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า" จึงเป็นสัญญลักษณ์และได้รับการยกย่องจากทั่วโลกถึงคุณค่าของ"อีสป" มาจนทุกวันนี้
แต่แล้วความเป็นอมตะของนิทานอีสปที่ทั่วโลกให้การยอมรับก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า จะยกเลิกใช้นิทานอีสปเป็นสื่อในการเรียนการสอนเด็กในศูนย์เด็กเล็กทั้ง16,773 แห่งทั่วประเทศ
"ผมว่าเลิกได้แล้วนิทานอีสป ให้หานิทานใหม่ที่ทันสมัยเหมาะสมกับยุคนี้"
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปี 2545 กำหนดให้ดอกสร้อยสุภาษิต เพลงกล่อมเด็ก ประถม ก.กา รวมถึงนิทานอีสป เป็นวรรณคดีที่ครูจะต้องนำมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนให้นักเรียนอ่านในช่วงชั้นที่ 1 หรือประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยให้เลือกเรื่องที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนมานำเสนอ เพื่อให้นักเรียนซึมซับเกี่ยวกับวรรณกรรม และคุณธรรมที่มีการสอดแทรกอยู่ในนิทานแต่ละเรื่อง
สำหรับนักเรียนในระดับปฐมวัย ศธ.ไม่ได้กำหนดให้ต้องนำนิทานอีสปมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับการเลือกสรรของคณะครู แต่จะมีคณะกรรมการ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กลั่นกรองหนังสือที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในการส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้อ่าน
"ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะยกเลิกไม่ให้นำนิทานอีสปมาสอนเด็กปฐมวัย หากมองว่าเป็นสื่อที่ไม่ทันสมัยไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำนิทานอีสปมาสอดแทรกเพื่อประโยชน์อะไร หากต้องการให้เด็กได้ข้อคิด คุณธรรมจริยธรรมจากสิ่งที่อ่าน สื่อที่ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องมีความทันสมัยมากนัก เพียงเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้และมีการแทรกคุณธรรมก็เพียงพอ" ผู้ไม่ประสงค์ออกนาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แสดงความคิดเห็น
รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) หรือ "ป้ากุล" นักเล่านิทานขวัญใจเด็กๆ ชี้คุณลักษณะเด่นของนิทานอีสปว่า เป็นนิทานพื้นบ้านหรือวรรณคดีพื้นเมืองที่มีมาช้านาน แทรกหลักคุณธรรมคำสอนที่เป็นกฎหรือหลักปฏิบัติของสังคมแต่โบราณ เนื่องจากในอดีตไม่มีการบัญญัติกฎหมายเช่นปัจจุบัน
"นิทานอีสปไม่ล้าสมัย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเรื่องอะไรมาใช้ ใช้กับเด็กวัยไหน เราต้องปรับโครงเรื่องให้ง่าย ภาษาง่าย และข้อคิดก็ต้องง่ายเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย" ป้ากุลแนะ พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่อง กระต่ายกับเต่า นิทานยอดฮิตตลอดกาล
"เรื่องกระต่ายกับเต่าก็ไม่ล้าสมัย กระต่ายที่วิ่งเร็วกว่าเต่า คิดว่าตัวเองได้เปรียบก็เยาะเย้ยถากถางเต่าที่เดินช้า เหมือนคนในปัจจุบันที่ชอบดูถูกคนที่ด้อยกว่า ขณะที่เต่ารู้ตัวว่าตัวเองเสียเปรียบก็มานะ อดทน อดกลั้น ไม่ยอมหลบพักเหมือนกระต่าย ในที่สุดก็เป็นผู้ชนะ เราก็เอามาสอนเด็กในยุคปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีความอดทน อดกลั้นได้ว่า แม้เราจะมีข้อเสียเปรียบ หาเรามีความอดทน มีความมานะ เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้"
นอกจากนี้ ป้ากุล ยังยกตัวอย่างนิทานอีสปที่มีเนื้อหาและคติธรรมร่วมสมัยอีกว่า เรื่อง กระต่ายตื่นตูม ที่กระต่ายได้ยินเสียงตุ๊บก็วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งแค่เป็นเพียงเสียงลูกตาลหล่นเท่านั้น เรื่องนี้สอนให้เด็กรู้จักการฟังหูไว้หู หรือจะเชื่ออะไรก็ควรทบทวนให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่นิทานอีสปจะมีแง่คิดคติธรรมสอนเด็กเท่านั้น บางเรื่องก็ใช้สอนผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี เช่น กบเลือกนาย ที่สอนให้เรารู้จักเลือกนายที่นอกจากเก่ง มีความเป็นสามารถแล้ว เรายังต้องเลือกนายที่มีคุณธรรมด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะเดือดร้อน
"นิทานอีสปนอกจากจะมีความเป็นสากลแล้ว หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีความสอดคล้องกับนิทานชาดกในเรื่องคำสอนต่างๆ ด้วย ซึ่งแต่ละชาติที่รับเอานิทานอีสปไปก็จะไปปรับให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งนิทานนั้นนอกจากจะช่วยสั่งสอนให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขแล้ว นิทานยังช่วยฝึกทักษะการฟัง การเล่าเรื่อง สร้างพัฒนาการทางภาษาให้กับเด็กๆ เหนืออื่นใดนิทานช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัว พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง หรือให้ลูกเล่านิทานให้ฟัง ส่วนครูที่นำนิทานมาใช้ในห้องเรียน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนหนังสือ"
ป้ากุล บอกอีกว่า ป้ากุลโตมากับนิทาน และเชื่อว่านิทานที่ป้ากุลได้ฟังจากผู้ใหญ่มีส่วนช่วยกล่อมเกลาให้ป้ากุลเป็นคนดี ขณะที่คนยุคใหม่ไม่ค่อยอ่านนิทาน และแต่งนิทานไม่เก่ง เวลาสอนก็มักสอนตรงเกินไป แต่นิทานสมัยโบราณมักมีอุบายในการสอน เวลาพูดถึงใครหรือว่าอะไรจะไม่ว่าตรงๆ เช่น นิทานอีสป มักจะใช้ตัวละครเป็นสัตว์ ซึ่งทำให้เด็กๆ ชอบ และเป็นการไม่ว่าใครตรงๆ ให้สัตว์เป็นตัวแทน ดังนั้น การเลือกนิทานอีสปมาใช้จึงอยู่ที่ผู้ใหญ่ จะเลือกเรื่องอะไร จะเล่าอย่างไรให้สนุก เพราะความสนุกไม่ได้ไร้สาระ คนโบราณใช้นิทานในการสอนเด็ก สอนอย่างสนุกสนาน ให้จดจำและให้เป็นคนดี เสมือนใช้นิทานควบคุมสังคม แต่ปัจจุบันคนไม่ค่อยฟังนิทาน ทำให้คนไม่ดีมากขึ้น
ส่วนลักษณะเด่นของนิทานอีสป ที่มักจบว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..." ป้ากุล ให้ความเห็นว่า บางคนก็ว่าดีที่สรุปให้เด็กรู้ว่า นิทานแต่ละเรื่องสอนอะไร ขณะที่บางคนอาจบอกว่า ควรให้เด็กได้คิดเอง ว่าได้อะไรจากนิทาน ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีทั้งคู่ หากเด็กเล็กเกินไปไม่สามารถคิดเองได้ ผู้ใหญ่ก็ควรสรุปให้ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ แต่หากเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ให้เด็กคิดเองได้
ป้ากุล ย้ำอีกว่า การมีนิทานให้เด็กๆ อ่านและเล่านิทานให้เด็กฟัง ส่งผลดีต่อการพัฒนาสมองและจินตนาการของเด็ก เนื่องจากเด็กปัจจุบันมีปัญหาสมาธิสั้น เพราะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสื่อสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เด็กไม่มีจินตนาการและสมาธิ เช่น นิทานที่ทำออกมาในรูปวีซีดี มีภาพเคลื่อนไหวให้เห็น ซึ่งภาพที่ปรากฏเป็นจินตนาการของคนวาดเพียงคนเดียว ขณะที่หากให้เด็กอ่าน หรือเล่าให้ฟัง เด็กแต่ละคนก็จะมีจินตนาการของตัวเอง กระต่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกระต่ายสีเทา สีดำ หรือสีขาว
"การให้เด็กมีจินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เราจึงไม่ควรไปปิดกั้นจินตนาการของเขา"
ด้าน ศิวกานท์ ปทุมสูติ นักกวีและนักเขียนอิสระ เปิดเผยว่า นิทานที่ถูกนำมาสื่อสารกับเด็กที่ผ่านการเล่าเรื่องในวิถีชาวบ้าน เป็นวิถีที่ดีต่อการเรียนรู้ เพราะเวลาเล่าเรื่องให้ลูกหลานฟัง ปู่ย่าตายายจะเล่าแล้วชวนติดตาม แต่ไม่สรุปว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไร เพราะนิทานสอนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ทำให้เด็กเกิดความสนุก และได้คิดโดยไม่ต้องบอกให้คิด แต่ข้อเสียของการศึกษาคือนิทานมาใช้แล้วมักสรุปว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..." ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกสอนอยู่ตลอดเวลา
เป็นการนำนิทานมาใช้โดยขาดความเข้าใจธรรมชาติของนิทาน แม้แต่นิทานต่างประเทศดังนิทานอีสป ก็ถูกนำมาเข้าสูตรสำเร็จสรุปตอนท้าย ซึ่งควรเอานิทานจุดประกายความคิดเด็ก โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีวิธีการคิดใหม่ ไม่สรุปท้ายนิทาน แต่เชื่อมั่นว่านิทานจะแสดงการสอนด้วยตัวมันเองแทน
"นิทานไม่ได้จำกัดกาลเวลา เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องลิง นก ปลา และไม่ได้บอกว่าเกิดที่ไหน นิทานมีความเป็นสากล ไม่เกี่ยวข้องกับยุคสมัย นิทาน ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของตัวละคร นิทานจึงไม่มีคำว่าตกสมัยและไม่ล้าสมัย แต่ข้อสำคัญคือ นิทานที่ดีมักจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับวัตถุที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ถือเป็นข้อดีของนิทานที่จะทำให้เด็กที่ฟังนิทานพลอยได้รับการสั่งสมที่ดื่มด่ำกับธรรมชาติไปด้วย"
ศิวกานท์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสป นิทานใหม่ นิทานเก่า หรือนิทานเรื่องใดๆ ก็ตาม ควรจะมีอยู่และถูกนำมาใช้เชื่อมโยงกับความคิดของเด็กๆ และไม่ควรถูกยกเลิกไป
ตัวอย่างนิทานอีสป
เรื่อง "ลิงกับสัตว์ทั้งหลาย"
ลิงตัวหนึ่ง ซึ่งมีสันดานเห็นแก่ตัว อย่างมากมายนั้น ครั้นเป็นที่รังเกียจของลิงด้วยกันทั่วไป ก็ไม่สามารถอยู่ในป่าเดียวกันได้ ต้องไปอาศัยอยู่ในป่าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์สารพัดชนิดนอกจากลิง
ลิงตัวนั้น เมื่อมันเข้าไปหากินอยู่ในถิ่นใหม่ ก็ได้กระทำตนเป็นมิตรกับสัตว์ทุกชนิด และสัตว์ทั้งหลายก็พอใจในความเป็นมิตรอันสนิทและสนุกสนานของมัน นอกจากนั้นสัตว์ทั้งหลาย ยังได้แบ่งปันอาหารต่างๆ นานาที่หามาได้ให้แก่ลิงมิได้เว้นวัน ลิงตัวนั้นเห็นสัตว์ใดคาบอาหารเดินผ่านต้นไม้ใหญ่อันเป็นที่อาศัย มันก็รีบลงมาจากยอดไม้ เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งปันจากสัตว์เหล่านั้น
วันหนึ่ง ช้างถามลิงว่า "ทำไมเจ้าไม่ลงจากต้นไม้"
"เพราะไม่ปลอดภัย" ลิงตอบ
"มีอันตรายอันใดหรือไฉน?"
"มีอันตรายที่ข้าต้องระวังตัวเสมอ"
"เจ้ารักตัวของเจ้ามาก" กวางว่า
ลิงก็หัวเราะตอบว่า "ถูกแล้ว"
กวางจึงกล่าวว่า "ถ้าเจ้าลงจากต้นไม้ไปหากินบ้างจะดีมาก"
ตั้งแต่นั้น ลิงจึงไปหากิน มันหากินเก่ง หอบอาหารกลับที่อยู่มากๆ ทุกวัน
"ขออาหารให้ข้าบ้างได้ไหม ? " กระต่ายผู้เป็นมิตรและเคยให้อาหารแก่ลิงถามด้วยความหิวโหย
"เสียใจ ข้าต้องเก็บอาหารไว้สำหรับตัวข้า" ลิงตอบ
สัตว์ต่างๆ ที่เคยให้อาหารแก่ลิงนั้น ครั้นไม่มีอาหารกินก็ร้องขอจากลิง แต่ลิงก็ไม่ยอมให้ สัตว์ทั้งหลายก็ว่า "เราเคยรักกัน แบ่งปันอาหารให้เจ้ากินเสมอ ทำไมเกลอไม่แบ่งให้ข้าบ้าง"
ลิงตอบว่า "ข้าต้องรักตัวของข้ายิ่งกว่าใครๆ ข้าจะให้อาหารแก่ใครไม่ได้เลย"
สัตว์ทั้งหลาย ที่เคยรักลิงตัวนั้น ก็พากันเกลียดชังลิงทั่วไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้ใดรักตัวของตัวมากเกินไป ผู้นั้นย่อมไม่มีใครรักเลย




นิทานอีสป ไม่ได้สร้างขึ้นจากเรื่องของนางฟ้า,แดนเนรมิต,หรือเทพเจ้า แต่นิทานอีสปเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบถึงความดี-ความชั่วเป็นคติสอนใจแก่ผู้อ่าน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยใช้ตัวละครจากสัตว์ต่างๆแล้วเดินเรื่องให้ความเพลิดเพลินเปรียบเทียบถึงคติธรรม-คติสอนใจ
คำว่า... "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า" จึงเป็นสัญญลักษณ์และได้รับการยกย่องจากทั่วโลกถึงคุณค่าของ"อีสป" มาจนทุกวันนี้
แต่แล้วความเป็นอมตะของนิทานอีสปที่ทั่วโลกให้การยอมรับก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า จะยกเลิกใช้นิทานอีสปเป็นสื่อในการเรียนการสอนเด็กในศูนย์เด็กเล็กทั้ง16,773 แห่งทั่วประเทศ
"ผมว่าเลิกได้แล้วนิทานอีสป ให้หานิทานใหม่ที่ทันสมัยเหมาะสมกับยุคนี้"
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปี 2545 กำหนดให้ดอกสร้อยสุภาษิต เพลงกล่อมเด็ก ประถม ก.กา รวมถึงนิทานอีสป เป็นวรรณคดีที่ครูจะต้องนำมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนให้นักเรียนอ่านในช่วงชั้นที่ 1 หรือประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยให้เลือกเรื่องที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนมานำเสนอ เพื่อให้นักเรียนซึมซับเกี่ยวกับวรรณกรรม และคุณธรรมที่มีการสอดแทรกอยู่ในนิทานแต่ละเรื่อง
สำหรับนักเรียนในระดับปฐมวัย ศธ.ไม่ได้กำหนดให้ต้องนำนิทานอีสปมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับการเลือกสรรของคณะครู แต่จะมีคณะกรรมการ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กลั่นกรองหนังสือที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในการส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้อ่าน
"ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะยกเลิกไม่ให้นำนิทานอีสปมาสอนเด็กปฐมวัย หากมองว่าเป็นสื่อที่ไม่ทันสมัยไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำนิทานอีสปมาสอดแทรกเพื่อประโยชน์อะไร หากต้องการให้เด็กได้ข้อคิด คุณธรรมจริยธรรมจากสิ่งที่อ่าน สื่อที่ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องมีความทันสมัยมากนัก เพียงเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้และมีการแทรกคุณธรรมก็เพียงพอ" ผู้ไม่ประสงค์ออกนาในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แสดงความคิดเห็น
รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) หรือ "ป้ากุล" นักเล่านิทานขวัญใจเด็กๆ ชี้คุณลักษณะเด่นของนิทานอีสปว่า เป็นนิทานพื้นบ้านหรือวรรณคดีพื้นเมืองที่มีมาช้านาน แทรกหลักคุณธรรมคำสอนที่เป็นกฎหรือหลักปฏิบัติของสังคมแต่โบราณ เนื่องจากในอดีตไม่มีการบัญญัติกฎหมายเช่นปัจจุบัน
"นิทานอีสปไม่ล้าสมัย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเรื่องอะไรมาใช้ ใช้กับเด็กวัยไหน เราต้องปรับโครงเรื่องให้ง่าย ภาษาง่าย และข้อคิดก็ต้องง่ายเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย" ป้ากุลแนะ พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่อง กระต่ายกับเต่า นิทานยอดฮิตตลอดกาล
"เรื่องกระต่ายกับเต่าก็ไม่ล้าสมัย กระต่ายที่วิ่งเร็วกว่าเต่า คิดว่าตัวเองได้เปรียบก็เยาะเย้ยถากถางเต่าที่เดินช้า เหมือนคนในปัจจุบันที่ชอบดูถูกคนที่ด้อยกว่า ขณะที่เต่ารู้ตัวว่าตัวเองเสียเปรียบก็มานะ อดทน อดกลั้น ไม่ยอมหลบพักเหมือนกระต่าย ในที่สุดก็เป็นผู้ชนะ เราก็เอามาสอนเด็กในยุคปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีความอดทน อดกลั้นได้ว่า แม้เราจะมีข้อเสียเปรียบ หาเรามีความอดทน มีความมานะ เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้"
นอกจากนี้ ป้ากุล ยังยกตัวอย่างนิทานอีสปที่มีเนื้อหาและคติธรรมร่วมสมัยอีกว่า เรื่อง กระต่ายตื่นตูม ที่กระต่ายได้ยินเสียงตุ๊บก็วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งแค่เป็นเพียงเสียงลูกตาลหล่นเท่านั้น เรื่องนี้สอนให้เด็กรู้จักการฟังหูไว้หู หรือจะเชื่ออะไรก็ควรทบทวนให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่นิทานอีสปจะมีแง่คิดคติธรรมสอนเด็กเท่านั้น บางเรื่องก็ใช้สอนผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี เช่น กบเลือกนาย ที่สอนให้เรารู้จักเลือกนายที่นอกจากเก่ง มีความเป็นสามารถแล้ว เรายังต้องเลือกนายที่มีคุณธรรมด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะเดือดร้อน
"นิทานอีสปนอกจากจะมีความเป็นสากลแล้ว หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีความสอดคล้องกับนิทานชาดกในเรื่องคำสอนต่างๆ ด้วย ซึ่งแต่ละชาติที่รับเอานิทานอีสปไปก็จะไปปรับให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งนิทานนั้นนอกจากจะช่วยสั่งสอนให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขแล้ว นิทานยังช่วยฝึกทักษะการฟัง การเล่าเรื่อง สร้างพัฒนาการทางภาษาให้กับเด็กๆ เหนืออื่นใดนิทานช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัว พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง หรือให้ลูกเล่านิทานให้ฟัง ส่วนครูที่นำนิทานมาใช้ในห้องเรียน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนหนังสือ"
ป้ากุล บอกอีกว่า ป้ากุลโตมากับนิทาน และเชื่อว่านิทานที่ป้ากุลได้ฟังจากผู้ใหญ่มีส่วนช่วยกล่อมเกลาให้ป้ากุลเป็นคนดี ขณะที่คนยุคใหม่ไม่ค่อยอ่านนิทาน และแต่งนิทานไม่เก่ง เวลาสอนก็มักสอนตรงเกินไป แต่นิทานสมัยโบราณมักมีอุบายในการสอน เวลาพูดถึงใครหรือว่าอะไรจะไม่ว่าตรงๆ เช่น นิทานอีสป มักจะใช้ตัวละครเป็นสัตว์ ซึ่งทำให้เด็กๆ ชอบ และเป็นการไม่ว่าใครตรงๆ ให้สัตว์เป็นตัวแทน ดังนั้น การเลือกนิทานอีสปมาใช้จึงอยู่ที่ผู้ใหญ่ จะเลือกเรื่องอะไร จะเล่าอย่างไรให้สนุก เพราะความสนุกไม่ได้ไร้สาระ คนโบราณใช้นิทานในการสอนเด็ก สอนอย่างสนุกสนาน ให้จดจำและให้เป็นคนดี เสมือนใช้นิทานควบคุมสังคม แต่ปัจจุบันคนไม่ค่อยฟังนิทาน ทำให้คนไม่ดีมากขึ้น
ส่วนลักษณะเด่นของนิทานอีสป ที่มักจบว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..." ป้ากุล ให้ความเห็นว่า บางคนก็ว่าดีที่สรุปให้เด็กรู้ว่า นิทานแต่ละเรื่องสอนอะไร ขณะที่บางคนอาจบอกว่า ควรให้เด็กได้คิดเอง ว่าได้อะไรจากนิทาน ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีทั้งคู่ หากเด็กเล็กเกินไปไม่สามารถคิดเองได้ ผู้ใหญ่ก็ควรสรุปให้ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ แต่หากเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ให้เด็กคิดเองได้
ป้ากุล ย้ำอีกว่า การมีนิทานให้เด็กๆ อ่านและเล่านิทานให้เด็กฟัง ส่งผลดีต่อการพัฒนาสมองและจินตนาการของเด็ก เนื่องจากเด็กปัจจุบันมีปัญหาสมาธิสั้น เพราะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสื่อสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เด็กไม่มีจินตนาการและสมาธิ เช่น นิทานที่ทำออกมาในรูปวีซีดี มีภาพเคลื่อนไหวให้เห็น ซึ่งภาพที่ปรากฏเป็นจินตนาการของคนวาดเพียงคนเดียว ขณะที่หากให้เด็กอ่าน หรือเล่าให้ฟัง เด็กแต่ละคนก็จะมีจินตนาการของตัวเอง กระต่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกระต่ายสีเทา สีดำ หรือสีขาว
"การให้เด็กมีจินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เราจึงไม่ควรไปปิดกั้นจินตนาการของเขา"
ด้าน ศิวกานท์ ปทุมสูติ นักกวีและนักเขียนอิสระ เปิดเผยว่า นิทานที่ถูกนำมาสื่อสารกับเด็กที่ผ่านการเล่าเรื่องในวิถีชาวบ้าน เป็นวิถีที่ดีต่อการเรียนรู้ เพราะเวลาเล่าเรื่องให้ลูกหลานฟัง ปู่ย่าตายายจะเล่าแล้วชวนติดตาม แต่ไม่สรุปว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไร เพราะนิทานสอนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ทำให้เด็กเกิดความสนุก และได้คิดโดยไม่ต้องบอกให้คิด แต่ข้อเสียของการศึกษาคือนิทานมาใช้แล้วมักสรุปว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..." ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกสอนอยู่ตลอดเวลา
เป็นการนำนิทานมาใช้โดยขาดความเข้าใจธรรมชาติของนิทาน แม้แต่นิทานต่างประเทศดังนิทานอีสป ก็ถูกนำมาเข้าสูตรสำเร็จสรุปตอนท้าย ซึ่งควรเอานิทานจุดประกายความคิดเด็ก โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีวิธีการคิดใหม่ ไม่สรุปท้ายนิทาน แต่เชื่อมั่นว่านิทานจะแสดงการสอนด้วยตัวมันเองแทน
"นิทานไม่ได้จำกัดกาลเวลา เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องลิง นก ปลา และไม่ได้บอกว่าเกิดที่ไหน นิทานมีความเป็นสากล ไม่เกี่ยวข้องกับยุคสมัย นิทาน ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของตัวละคร นิทานจึงไม่มีคำว่าตกสมัยและไม่ล้าสมัย แต่ข้อสำคัญคือ นิทานที่ดีมักจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับวัตถุที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ถือเป็นข้อดีของนิทานที่จะทำให้เด็กที่ฟังนิทานพลอยได้รับการสั่งสมที่ดื่มด่ำกับธรรมชาติไปด้วย"
ศิวกานท์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นนิทานอีสป นิทานใหม่ นิทานเก่า หรือนิทานเรื่องใดๆ ก็ตาม ควรจะมีอยู่และถูกนำมาใช้เชื่อมโยงกับความคิดของเด็กๆ และไม่ควรถูกยกเลิกไป
ตัวอย่างนิทานอีสป
เรื่อง "ลิงกับสัตว์ทั้งหลาย"
ลิงตัวหนึ่ง ซึ่งมีสันดานเห็นแก่ตัว อย่างมากมายนั้น ครั้นเป็นที่รังเกียจของลิงด้วยกันทั่วไป ก็ไม่สามารถอยู่ในป่าเดียวกันได้ ต้องไปอาศัยอยู่ในป่าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์สารพัดชนิดนอกจากลิง
ลิงตัวนั้น เมื่อมันเข้าไปหากินอยู่ในถิ่นใหม่ ก็ได้กระทำตนเป็นมิตรกับสัตว์ทุกชนิด และสัตว์ทั้งหลายก็พอใจในความเป็นมิตรอันสนิทและสนุกสนานของมัน นอกจากนั้นสัตว์ทั้งหลาย ยังได้แบ่งปันอาหารต่างๆ นานาที่หามาได้ให้แก่ลิงมิได้เว้นวัน ลิงตัวนั้นเห็นสัตว์ใดคาบอาหารเดินผ่านต้นไม้ใหญ่อันเป็นที่อาศัย มันก็รีบลงมาจากยอดไม้ เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งปันจากสัตว์เหล่านั้น
วันหนึ่ง ช้างถามลิงว่า "ทำไมเจ้าไม่ลงจากต้นไม้"
"เพราะไม่ปลอดภัย" ลิงตอบ
"มีอันตรายอันใดหรือไฉน?"
"มีอันตรายที่ข้าต้องระวังตัวเสมอ"
"เจ้ารักตัวของเจ้ามาก" กวางว่า
ลิงก็หัวเราะตอบว่า "ถูกแล้ว"
กวางจึงกล่าวว่า "ถ้าเจ้าลงจากต้นไม้ไปหากินบ้างจะดีมาก"
ตั้งแต่นั้น ลิงจึงไปหากิน มันหากินเก่ง หอบอาหารกลับที่อยู่มากๆ ทุกวัน
"ขออาหารให้ข้าบ้างได้ไหม ? " กระต่ายผู้เป็นมิตรและเคยให้อาหารแก่ลิงถามด้วยความหิวโหย
"เสียใจ ข้าต้องเก็บอาหารไว้สำหรับตัวข้า" ลิงตอบ
สัตว์ต่างๆ ที่เคยให้อาหารแก่ลิงนั้น ครั้นไม่มีอาหารกินก็ร้องขอจากลิง แต่ลิงก็ไม่ยอมให้ สัตว์ทั้งหลายก็ว่า "เราเคยรักกัน แบ่งปันอาหารให้เจ้ากินเสมอ ทำไมเกลอไม่แบ่งให้ข้าบ้าง"
ลิงตอบว่า "ข้าต้องรักตัวของข้ายิ่งกว่าใครๆ ข้าจะให้อาหารแก่ใครไม่ได้เลย"
สัตว์ทั้งหลาย ที่เคยรักลิงตัวนั้น ก็พากันเกลียดชังลิงทั่วไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้ใดรักตัวของตัวมากเกินไป ผู้นั้นย่อมไม่มีใครรักเลย