ถ้าพูดถึง “ฮีโร่” ในดวงใจของเด็ก หลายคนอาจนึกถึงยอดมนุษย์ที่คอยต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ปราบเหล่าอธรรมเพื่อพิทักษ์โลกในการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างไอ้มดแดง หรือซูเปอร์แมนในหนังฝรั่ง แต่ใครจะรู้บ้างว่า “ฮีโร่” ในวัยเด็กของผู้ใหญ่บางคน คือยอดมนุษย์ในนิทานพื้นบ้านจักรวงศ์ของไทย อย่างสี่ยอดกุมาร ซึ่งอาจเป็นเพียงความทรงจำอันเลือนรางคลับคล้ายคลับคลาในความคลั่งไคล้ที่ไร้เดียงสาของช่วงชีวิตวัยเยาว์
“เจ้าชาย พลัดพรากจากบ้านเมือง ต้องออกเดินทางผจญภัย พบนาง ซึ่งเป็นลูกสาวของศัตรู ส่วนมากก็คือยักษ์ ในที่สุดก็ฆ่าพ่อตา แล้วพาลูกสาวเขากลับมาครองบ้านเมือง” รศ.ประคอง เจริญจิตรกรรม อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทย ม.ธรรมศาสตร์ พูดถึงลักษณะโครงเรื่องของละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไป
“ละครจักรๆ วงศ์ๆ มาจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อๆ กันแบบปากต่อปากหรือมุขปาฐะ จะแตกต่างกันบ้างก็ในเรื่องรายละเอียด ที่คนเล่าจะสอดแทรกในสิ่งที่ตัวเองรู้เข้าไปในแต่ละท้องถิ่น ต่อมาเมื่อมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คนก็อ่านคราวละหลายเรื่อง จึงได้เห็นโครงเรื่องที่ซ้ำกัน ดังนั้น เมื่อเห็นเรื่องแบบนี้ก็จะเดาถูกว่าเรื่องราวจะลงเอยเช่นไร เสน่ห์ของนิทานพื้นบ้านจึงไม่ได้อยู่ที่โครงเรื่อง แต่อยู่ที่ส่วนปลีกย่อยที่ผู้เล่าเรื่องเสริมแต่งกันเข้าไปให้เหมาะกับท้องถิ่นและยุคสมัย โดยเรื่องที่นำมาตีพิมพ์ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากในขณะนั้นก็คือ นิทานวัดเกาะ”
จากนั้นเรื่องราวในหนังสือก็กลายมาเป็นมหรสพ เช่น โขน ละคร ลิเก จวบจนเป็นละครในโทรทัศน์ ละครจักรวงศ์หรือละครพื้นบ้านของไทยเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2510 เรื่องแรกคือ “ปลาบู่ทอง” ในนามของบริษัทดาราฟิล์ม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสยามฟิล์ม หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ บริษัท สามเศียร จำกัด แม้ว่าจะมีบริษัทอื่นที่สร้างผลงานเช่นเดียวกันนี้ แต่เป็นเวลาเพียงไม่นานก็ลาจอไป กระทั่งปัจจุบันมีเพียงสามเศียรบริษัทเดียวที่ยังคงผลิตละครพื้นบ้านอยู่ โดยมี สยม สังวริบุตร เป็นทายาทเจ้าพ่อละครพื้นบ้าน “ไพรัช สังวริบุตร”
จาก MATTS และ โครมาคี เทคนิคพิเศษในสมัยบุกเบิก จนถึง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกในยุคดิจิตอล ไม่เพียงแต่รูปแบบของละครพื้นบ้านเปลี่ยนแปลงไป เนื้อหาก็ถูกดัดแปลงไปมากเช่นกัน สยม สังวริบุตร ผู้ผลิตละครพื้นบ้านแห่งค่ายดีด้าฯ บอกว่า การผลิตละครพื้นบ้านในปีที่ผ่านมาเริ่มมีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น เพราะใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในการทำเทคนิค ซึ่งลงทุนสูงมาก
“ในเรื่องของการดัดแปลงบทละคร อาจจะเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ยังคำนึงถึงเค้าโครงเรื่องเดิมเป็นหลัก อาจเพิ่มตัวละคร หรือเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเหมือนเป็นคนหนึ่งที่นำนิทานมาเล่าต่อให้สนุกสนานมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนดู พอใจที่สุด ไม่รู้สึกว่าตกยุค ส่วนการขับเสภาประกอบเรื่องนั้นก็ยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของเรา แต่อาจจะมีน้อยลง เพราะรู้สึกว่าไม่อยากยัดเยียดเด็ก เราไม่ได้บอกว่าจะอนุรักษ์ความเป็นไทยแต่เอาความเป็นไทยมาเป็นแกนของละครอยู่แล้ว”
ในขณะที่แฟนละครตัวยงอย่าง อุไร อรุณฉาย อาจารย์ภาษาไทย ร.ร.ศึกษานารี บอกว่า ดูละครจักรวงศ์ของช่อง 7 มาตั้งแต่เด็ก จนมีลูกก็แนะนำให้ลูกดูด้วย รู้สึกชื่นชมผู้ผลิตละครพื้นบ้าน เพราะละครให้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการสอนเรื่องคุณงามความดีทางอ้อม และอยากให้สร้างต่อไป
“การดัดแปลงบทละคร ถ้าสนุกกว่าเดิมก็เป็นเรื่องดี แต่ดัดแปลงยืดเรื่องเพื่อขายวีซีดี แทรกบทไร้สาระมากเกินไป อย่างบทของตัวประกอบ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครน่าเบื่อ ที่สำคัญ บทบาทของนางอิจฉาที่สมจริง พูดจาก้าวร้าว จาบจ้วง ท่าทางแสดงออกมากเกินไป ก็เป็นตัวอย่างไม่ดีสำหรับเด็กด้วย”
อุไร ยังบอกอีกว่า ละครพื้นบ้านช่อง 7 มีพัฒนาการในการผลิตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ฉาก เครื่องแต่งกาย เพลงประกอบ และเทคนิค แต่ในช่วงหลังเปลี่ยนเพลงประกอบมาเป็นเพลงไทยสากล ทำให้เสียอรรถรสในการชมไป เพราะรู้สึกว่าไม่เข้ากับละคร นอกจากนี้การใช้เทคนิคในการสร้างสัตว์ประหลาดก็ยังชวนให้นึกถึงหนังยอดมนุษย์ของญี่ปุ่นอีกด้วย
“อยากให้ผู้ผลิตเน้นคุณภาพของเนื้อหา เพราะเนื้อหาเดิมของนิทานพื้นบ้านสนุกในตัวอยู่แล้ว การดำเนินเรื่องเข้มข้น ตรงประเด็น แทรกเทคนิคพอควร ไม่บิดเบือนเรื่องจนไร้สาระ เท่านี้ก็คิดว่าละครพื้นบ้านจะเป็นขวัญใจเด็กๆ ต่อไปแล้ว” อุไรสรุป
ด้าน บัณฑิต ภิญโญวัฒนชีพ เจ้าหน้าที่โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอละครพื้นบ้านช่อง 7 ว่า การแต่งเรื่องใหม่ โดยใช้เค้าโครงหรือแก่นของเรื่องที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น เรื่องกุลาแสนสวย ทำให้เกิดความสับสนว่าคืออะไร วรรณคดีที่เคยอ่านหรือวรรณคดีชุดใหม่
ส่วนการใช้เทคโนโลยีนั้น จริงอยู่ที่ทำให้น่าดู แต่มีความรุนแรงที่มากขึ้นด้วย ครูหยุยก็เคยบอกว่าเด็กต่างจังหวัดจะชอบรายการอย่างนี้มาก ซึ่งมันเหมือนหนังของผู้ใหญ่ไปเลย เพียงแต่มีภาพของละครพื้นบ้าน ความเป็นเด็ก และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ปะปนอยู่ก็เท่านั้น
“ไม่ว่าอะไรก็เปรียบเหมือนดาบสองคมทั้งนั้น ถ้าเป็นละครพื้นบ้านสมัยก่อนจะสร้างเสริมวรรณคดี แต่ละฉากมีการอ่านทำนองเสนาะประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกทักษะทางภาษา ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งของเด็กที่มาออกรายการคุณพระช่วยถูกหล่อหลอมมาด้วยละครพื้นบ้านชุดที่มีทำนองเสนาะประกอบ ทำให้รักและเทิดทูนบูชาวัฒนธรรมไทย แล้วก็ศิลปะมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ปัจจุบันค่อนข้างจะมีลักษณะเหมือนการ์ตูนเข้าไปทุกที คนก็เลือกดูการ์ตูนไปเลยน่าจะดีกว่า ละครพื้นบ้านอาจสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คุณภาพอาจยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ดูแล้วมีแต่ความรุนแรงและเรื่องเพศ ซึ่งโดยวรรณคดีก็มีเรื่องเพศอยู่แล้ว แต่เขาใช้ภาษาเข้ามาช่วยโดยใช้ทำนองเสนาะ แต่เดี๋ยวนี้มีน้อยลง ก็จะมีแต่การแสดงออกทางอารมณ์เท่านั้น เช่น การตบตีเพื่อแย่งชิงผู้ชายหรือชิงตัวผู้หญิงเท่านั้นเอง”
“ละครพื้นบ้านไม่จำเป็นต้องเข้ากับยุคปัจจุบันก็ได้ ผมมองว่าเป้าหมายของละครพื้นบ้านคือ การสร้างเสริมวรรณกรรม วรรณคดี เพื่อพัฒนาการใช้ภาษา การสร้างสรรค์อรรถรส ทำนองเสนาะไพเราะต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรม มันไม่จำเป็นต้องถูกพัฒนาให้เป็นของใหม่ แต่ของเดิมที่มีอยู่สามารถพัฒนาให้มันน่าดูด้วยเทคนิคที่มีอยู่ อย่างทำนองเสนาะ และอาจใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกันเพื่อดึงคนดู มันก็จะเป็นละครพื้นบ้านแบบใหม่ที่ยังคงมีวัฒนธรรมต่างๆ หลงเหลืออยู่อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว”
ส่วน รศ.ประคอง มีมุมมองต่อการนำเสนอละครจักรวงศ์ในปัจจุบันว่า ไม่รู้สึกต่อต้านที่ผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงบทละคร เพราะถือว่าเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ คือมุขปาฐะ เป็นนิทานพื้นบ้าน ซึ่งสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หรือแต่งนิทานใหม่ๆ ได้ ที่ผ่านมาก็เห็นมีพัฒนาการมาตลอด แต่ด้วยเรื่องการตลาด เนื้อเรื่องจึงเน้นแอคชั่น ไม่สมจริง แต่งตัวสวยงามให้ดูแปลกตา เดี๋ยวนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นพอสมควร เห็นได้จาก ทรงผมของตัวละคร อีกสิ่งหนึ่งที่สอดแทรกเข้ามาแล้วเป็นตัวที่เรียกคนดูได้ ก็คือ บทตลก หรือตัวละครตลก เพื่อให้เรื่องมีรสชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษา
“เดี๋ยวนี้เด็กไทยไม่ค่อยรู้จักนิทานพื้นบ้านแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่เด็กเล็กจะอ่านหนังสืออ่านที่แต่งใหม่ ส่วนเด็กโตก็สนใจการ์ตูนญี่ปุ่น เด็กที่มีคอมพิวเตอร์ก็ติดเกม ผู้ใหญ่ก็ไม่เล่านิทานให้ลูกฟัง ดังนั้นนิทานพื้นบ้านได้ถูกตัดตอน คือ มันไม่มีคนสืบทอด ฉะนั้นสิ่งที่จะสืบทอดก็คือ จะต้องปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร”
“ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การที่เด็กหันมาสนใจนิทานพื้นบ้าน วิธีการของสื่อโทรทัศน์ที่ทำอยู่ โดยนำบทแอ็คชั่นเข้าไป ให้มันหวือหวาก็มีส่วนช่วยให้เด็กสนใจ อย่างน้อยเด็กก็ได้เนื้อหาบ้าง การอนุรักษ์ก็คงต้องเป็นการอนุรักษ์ที่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง อนุรักษ์ไว้ในแบบเดิมทีเดียวคงไม่ได้ นิทานก็คือนิทาน เราก็อาจเปลี่ยนรูปแบบมาทำเป็นการ์ตูนบ้าง เช่น สุดสาคร ดิฉันไม่ขัดขวางเลย เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะเก็บตัวละครไว้ให้เด็กรู้จัก ถ้าเขาสนใจก็จะไปอ่านเอง การทำหนังสือนิทานที่หนาๆ ให้บางลง อ่านง่ายขึ้น หรือเอานิทานมาเขียนเป็นการ์ตูนแบบใหม่โดยคนสมัยใหม่เขียนก็ได้”
“วันนี้ละครพื้นบ้านอาจมีทิศทางที่ต่างไปจากเดิมอยู่บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ จุดยืนของผู้ผลิต ที่ว่า “ไม่ได้อนุรักษ์ในสิ่งที่กำลังจะตายหรือหายไป แต่สร้างสิ่งที่กำลังจะเติบโต”