ผลิตภัณฑ์ของใช้เสี่ยงอันตราย ซึ่งอยู่ใกล้หูใกล้ตา ในชีวิตประจำวันของเด็ก มีมากมายแต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ได้แก่ ถังน้ำ เบาะที่นอน เชือกหมอนข้าง เตียงนอน รถหัดเดิน ซี่รถจักรยาน และหากคุณใส่ใจบุตร หลาน สักนิด อุบัติเหตุที่น่าเศร้าก็จะไม่เกิดขึ้น
อันดับ 1 “ถังน้ำ” วายร้ายนี้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ หากเป็น “ถังสี” ขนาดกว้าง 12 นิ้ว สูง 15 นิ้ว มีน้ำขังอยู่ข้างในประมาณ 8 นิ้ว มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี โดยเฉพาะมักเกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีครึ่ง และเสียชีวิตภายในเวลาแค่ 4 นาที ถังน้ำจึงต้องมีฝาปิดเมื่อบรรจุน้ำหรือของเหลวในภาชนะ ไม่ควรวางใกล้เด็ก มีป้ายคำเตือนปิดข้างถังทุกใบ เพื่อเตือนสติผู้ใหญ่ อันดับที่ 2 เบาะที่นอน เชือกหมอนข้าง เบาะที่นอน หมอน ฟูก ผ้าห่ม ที่นุ่ม หนาและขนาดใหญ่ เมื่อเด็กคว่ำหน้าลง จะถูกกดจมูกและปาก เป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ ดังนั้น - เบาะนอนต้องมีความแข็งกำลังดี ไม่อ่อนนุ่มหรือยุบตัวง่าย - เชือกรูดหมอนข้าง เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีเชือกผูกหรือสายรัด ที่มีความยาวเกินกว่า 15 เซนติเมตร อาจ เป็นสาเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้ - ของเล่น ประเภทตุ๊กตา อ่อนนิ่ม ตัวใหญ่ๆ อาจตกทับเด็กและกดการหายใจ หรือ อาจเป็นฐานในการปีนป่ายจนเด็กตกเตียงได้ เช่นกัน อันดับที่ 3 เตียงนอน U.S. Consumer Product Safety Commission (CPSC) ได้รายงานการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี จำนวน 180 ราย ในช่วงตั้งแต่ มกราคม 1999 ถึงธันวาคม 2001 ซึ่งมีสาเหตุจากการนอนบนเตียงผู้ใหญ่ ในจำนวนนี้ 122 รายเกิดจากการติดค้างของศีรษะตามช่องว่างต่างๆ (entrapment) อีก 58 รายเกิดจากการถูกนอนทับ (overlying) โดยผู้ร่วมเตียง ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบนอนบนเตียงของผู้ใหญ่ ควรนอนเตียงเด็ก (ที่ได้มาตรฐาน) หรือนอนเบาะที่นอนเด็ก (ไม่ใช้เตียง) แยกจากเบาะที่นอนผู้ใหญ่ เด็กเล็กนอนเตียงผู้ใหญ่อาจมีอันตรายจากช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการจัดเตียง ช่องว่างที่มีขนาดกว้างกว่า 6 เซนติเมตรในเด็กทารก (หรือขนาด 9 เซนติเมตร ในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป) มีโอกาสที่ลำตัวเด็กจะตกลงไปและศีรษะติดค้างในท่าแขวนคอได้ ช่องว่างที่อาจพบบ่อยได้อีก คือ ช่องว่างระหว่างเตียงกับกำแพงที่เกิดจากการจัดวางเตียงไม่ชิดกำแพงหรือช่องว่างที่เกิดจากการจัดวางเตียงกับเฟอร์นิเจอร์อื่น ความเสี่ยงการนอนทับเด็กเสียชีวิตจากการนำเด็กนอนร่วมกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการนอนทับเด็กทารก คือคนอ้วนมากๆ คนที่ทานยานอนหลับหรือยาทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว เตียงเด็กเล็ก (crib) เป็นเครื่องใช้ที่เหมาะอย่างยิ่งกับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตามต้องเลือกใช้เตียงที่มีมาตรฐานความปลอดภัย สำนักงานคุ้มครองความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เตียงเด็ก (cribs) ถึงปีละกว่า 10,240 ราย เป็นการเสียชีวิตประมาณปีละ 35 ราย อย่างไรก็ตามก่อนปี 1970 เป็นยุคที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานของเตียงเด็กจะพบว่ามีการเสียชีวิตถึงปีละ 150-200 ราย สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต คือ การติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราว การกดทับใบหน้าจมูกเมื่อใบหน้าคว่ำในช่องระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก การแขวนคอซึ่งเกิดจากเสื้อผ้า สร้อยคอ หรือสายคล้องหัวนมดูดเล่น เกี่ยวกับส่วนยื่นของมุมเสา 4 ด้าน ดังนั้น มาตรฐานความปลอดภัยของเตียงเด็กเล็ก ต้องมีคุณลักษณะดังนี้ - ราวกันตกมีซี่ราวห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร - ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดที่ดี ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้เด็กตกได้เอง - จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร หรือ ¾ ของความสูงเด็ก - เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียง และไม่มีช่องว่าง ระหว่างเบาะกับราวกันตกเกินกว่าด้านละ 3 เซนติเมตร - ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดช่องว่าง หรือหากเป็นลักษณะซี่ราวต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 ซม. - พื้นรองเบาะที่นอนต้องทึบและแข็ง - มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร ปัจจุบัน มีมาตรฐานเตียงเด็กเล็กแต่ไม่เป็นมาตรฐานบังคับ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดร้อยละ 80 ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศ เช่นมีซี่ราวห่างกันมากกว่า 6 เซนติเมตร เป็นต้น หลายบริษัมที่ผลิตจำหน่ายต่างประเทศต้องถูกตีกลับเพราะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และพบว่ามีการนำมาจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั้งนั้น อันดับ 4 รถหัดเดิน ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับบาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ร้อยละ30-40 ของเด็กที่ใชัรถหัดเดินจะได้รับบาดเจ็บ การบาดเจ็บที่พบบ่อย คือ ตกบันได และคว่ำจากพื้นต่างระดับถึง 75 - 90% และบาดเจ็บจากน้ำร้อนลวกถึง 2-5% ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีหลักฐานประกอบแน่ชัดที่รับรองว่า รถหัดเดินมีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง และทำให้เด็กเดินได้ช้ากว่าปกติ ดังนั้น จึงมีข้อพึงระวังกับการใช้รถหัดเดิน ดังนี้ การที่เด็กนั่งรถหัดเดินจะทำให้ยกตัวเด็กสูงขึ้นจากพื้น โอกาสที่เด็กจะคว้า หรือหยิบฉวยสิ่งของให้หล่นจากโต๊ะโดยไม่ตั้งใจ จึงเป็นไปได้ง่ายและเกิดอันตรายได้ เช่น ถ้วยกาแฟร้อน, สายไฟจากปลั๊กกา ต้มน้ำ ฯ ซึ่งรถหัดเดินรุ่นใหม่ ยังไม่มีการออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนั้น ประตูห้อง หรือประตูบ้านที่มีความกว้างมากกว่า 36 นิ้ว ไม่อาจป้องกันไม่ให้เด็กดันรถหัดเดินออกนอกประตูไปโดยไม่ตั้งใจ อาจคว่ำหรือตกพื้นต่างระดับ ถ้าอยู่บนทางเท้าหรือบนพื้นถนนก็อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกรถชนได้ คำแนะนำบางประการที่อาจเป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไป - กำจัดรถหัดเดินไปเสีย ไม่ควรเสียดายเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุแก่ลูกน้อย - แต่ถ้ายังยืนยันที่จะให้ลูกเล่นรถหัดเดินต่อไป ก็เลือกซื้อรถหัดเดินรุ่นล่าสุด และศึกษาอุปกรณ์ของรถหัด เดินว่าออกแบบมาได้มาตรฐานความปลอดภัย เหมาะแก่การใช้หรือไม่ -หันมาใช้อุปกรณ์ที่คล้ายรถหัดเดิน แต่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น Activity centre ปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีล้อ - ถ้าปล่อยลูกไว้ให้คนอื่นดูแล เช่นพี่เลี้ยง หรือญาติพี่น้องควรบอกให้ทราบว่า ไม่ให้ลูกนั่งรถหัดเดิน อันดับที่ 5 การบาดเจ็บจากซี่ล้อรถจักรยาน (Bicycle spoke injuries) การศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า การบาดเจ็บของเด็กจากซี่ล้อรถจักรยานพบได้บ่อย ร้อยละ 1.9 ของการบาดเจ็บที่มารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน หรือร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บจากรถจักรยาน เมื่อประมาณทั้งประเทศจะมีการบาดเจ็บชนิดนี้ปีละ 45,220 ราย เด็กที่บาดเจ็บส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) อายุน้อยกว่า 5 ปี และพบเด็กอายุ 3-4 ปีมากที่สุด (ร้อยละ41) เด็กชายและเด็กหญิงมีโอกาสเกิดเท่า ๆ กัน เด็กที่บาดเจ็บจากขาเข้าซี่ล้อมีอายุตั้งแต่ 1 ปีถึง 13 ปี พบได้บ่อยที่อายุ 3-4 ปี ตำแหน่งที่บาดเจ็บมักเกิดขึ้นที่ส้นเท้า (ร้อยละ 60) ฝ่าเท้า (ร้อยละ 19) ตาตุ่มด้านใน (ร้อยละ 11) นิ้วเท้า (ร้อยละ7) ลักษณะการบาดเจ็บมีตั้งแต่ผิวหนังถลอก ผิวหนังฉีกขาด เส้นเอ็นร้อยหวายช้ำ เส้นเอ็นร้อยหวายฉีกขาด หรือกระดูกนิ้วเท้า ฝ่าเท้าหัก บางรายที่มีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกระดูกอาจต้องทำการใส่เฝือก ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วรถจักรยาน การบาดเจ็บที่เท้ามักไม่รุนแรงแต่บางครั้งมีการบาดเจ็บจากศีรษะกระแทกพื้นร่วมด้วยที่มีอาการรุนแรงได้ การป้องกันการบาดเจ็บจากซี่ล้อรถจักรยาน ควรติดตั้งที่นั่งพิเศษเฉพาะของเด็กเล็กในรถจักรยานที่มีเข็มขัดรัดเด็กติดกับที่นั่งและมีที่วางเท้าในตัว นอกจากนี้ผู้ผลิตรถจักรยานต้องติดป้ายคำแนะนำถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเรื่องของการบาดเจ็บศีรษะและการบาดเจ็บจากเท้าเด็กเข้าไปในซี่ล้อ ผู้ติดตั้งที่นั่งพิเศษควรช่วยตรวจสอบแผ่นกันเท้าเข้าซี่ล้อของล้อหน้าและหลัง และควรติดตั้งควบคู่กันไป หากผู้ผลิตตระหนักด้านความปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ ควรผลิตอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ได้แก่ แผ่นกันเท้าเข้าซี่ล้อ ที่นั่งพิเศษของเด็ก หมวกนิรภัยของเด็กทุกอายุให้มีอย่างเพียงพอและส่งเสริมการใช้ให้เกิดความนิยมควบคู่กันไป |