xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติห้องสมุดเมืองกรุง มุ่งสู่มหานครแห่งการอ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสารที่เรียกกันว่า IT หรือ Information Technology อย่างไรก็ดีหนังสือเป็นอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ยังคงได้รับความนิยมไม่แพ้แหล่งข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ อีกมากมาย จะเห็นจากการส่งเสริมและปลูกฝังให้รักการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน เพราะเชื่อว่าหนังสือนอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญาแล้ว ยังเป็นการสร้างจินตนาการ สร้างแรงจูงใจ จนอาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างชาติชั้นดีได้อีกด้วย

ห้องสมุดเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของสังคม เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุดและเป็นสัญลักษณ์ความใฝ่รู้ของสังคมนั้นๆ การค้นคว้าหาความรู้จึงควรเป็นกิจกรรมหลักของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเชิงวิชาการ การติดตามข่าวสารบ้านเมือง หรือแม้กระทั่งการแสวงหาความบันเทิง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งดียิ่งที่ดึงแหล่งเรียนรู้ให้มาอยู่ใกล้

สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว นอกจากห้องสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ อีกหนึ่งห้องสมุดที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ ห้องสมุดของกทม. ซึ่งปัจจุบันการให้บริการของกทม.ได้เข้าไปให้บริการยังชุมชุมต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันแบ่งห้องสมุดประชาชนจำนวน 23 แห่ง บ้านหนังสือ 23 แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่ 7 คัน

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจัดสร้างห้องสมุดประชาชนเพิ่มในเขตที่ยังไม่มีอีกจำนวน 5 แห่ง บ้านหนังสือ 50 แห่ง โดยจะจัดสร้างห้องสมุดเพิ่มให้ครบทุกเขตภายในปี 2551

อรุณวรรณ พิมพาพัฒนโยธิน หัวหน้ากลุ่มงานห้องสมุดประชาชน กองนันทนาการ สังกัดสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว บอกว่า อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายสนับสนุนงบประมาณด้านคุณภาพชีวิต โดยการส่งเสริมงานทางด้านห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ในการพัฒนาและขยายบริการด้านห้องสมุดประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีนิสัยรักการอ่านและเรียนรู้อย่างมีความสุข ตลอดจนสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองแห่งการอ่าน” (Word Book Capital)

ดังนั้น จึงต้องการปรับปรุงศักยภาพห้องสมุดที่มีอยู่เดิมให้เป็นห้องสมุดมิติใหม่สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย ถือเป็นห้องสมุดที่มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และดึงดูดใจให้ผู้ใช้กลับมาอีกครั้ง

“เป็นการกระจายการอ่านเชิงรุกถึงชุมชน เน้นการเรียนรู้ที่พัฒนากระบวนการเล่น การคิด และความเข้าใจได้อย่างรอบด้านด้วยทักษะ 7 ส. สู่การเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ สงสัย สังเกต สัมผัส สำรวจ สืบค้น สั่งสม และสรุปผลด้วยตนเอง โดยมีผู้นำกิจกรรมเป็นผู้กระตุ้น แต่ตอนนี้เกิดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำงานคือ การไม่มีพื้นที่ในการก่อตั้ง จึงอยากขอความร่วมมือไปตามผู้มีจิตศรัทธา ต้องการบริจาคที่ดินพื้นที่ประมาณ 200-300 ตารางเมตร บริเวณชุมชน การคมนาคนสะดวก สามารถแจ้งมาได้”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็ก และกิจกรรมพิเศษแก่สมาชิกที่มาใช้บริการ เพื่อเป็นการโน้มน้าวจูงใจ โดยการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาและเข้าค่าย พาไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเองและเขตใกล้เคียง เพราะเด็กส่วนใหญ่จะเป็นเด็กด้อยโอกาส ซึ่งพ่อแม่ไม่มีโอกาสสนับสนุนด้านนี้ โดยจะให้เด็กศึกษาท้องถิ่นหรือเรื่องราวในที่นั้นก่อนในห้องสมุด ให้เป็นข้อมูลบวกกับที่วิทยากรบรรยาย เพื่อนำไปตอบปัญหาและได้ของรางวัลต่อไป

“คาดหวังคนในชุมชนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะเป็นจุดสำคัญในการปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ เพราะเชื่อว่าเมื่อโตขึ้นจะรักการอ่าน เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ เพื่อที่จะเอามาพัฒนาคุณภาพชีวิต ฝากถึงคนกรุงเทพฯ เข้ามาใช้บริการห้องสมุดของเราไม่ว่าจะเป็นบ้านหนังสือ ห้องสมุด ห้องสมุดเคลื่อนที่ ให้ประชาชนพ่อแม่พี่น้องพาบุตรหลานมาเป็นครอบครัวเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งสามารถยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านได้ แล้วเราก็จะได้สร้างสังคมแห่งการอ่าน สร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการอ่านต่อไป โครงการในอนาคตที่ทางกรุงเทพฯ จะทำคือ การจัดห้องสมุดประชาชนตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ” หัวหน้าฝ่ายห้องสมุดอธิบาย

ด้านมานิตย์ โกตน อาสาสมัครบรรณารักษ์ห้องสมุดสุกันยา เขตบางกอกน้อย เล่าให้ฟังว่า ปิดปรับปรุงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เปิดใหม่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. หลังจากปรับปรุงใหม่ ตามโครงการขยายบ้านหนังสือ มีคนเข้าใช้บริการมากขึ้น วันละกว่า 100 คน และมีมากขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะว่ามีการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ทั้งยังขยายพื้นที่ให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการในชุมชน โดยติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเป็น 7 ตู้ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เหมาะสมสวยงาม เพิ่มวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นสวนสาธารณะ สำหรับใช้เป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ ที่หลากหลาย ในช่วงวันหยุด เช่น การบริการภาพยนตร์ ดูหนังฟังเพลง ห้องทำการบ้าน เป็นต้น ซึ่งเด็กๆ จะพอใจมาก
สำหรับหนังสือที่ให้บริการนั้นเป็นหนังสือทุกประเภท ไม่เน้นวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ทั่วไป เช่น ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ภาษาศาสตร์ ให้นักเรียน นักศึกษาใช้ประกอบการเรียน นอกจากนี้ยังมีหนังสือให้ความบันเทิง เช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ นวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือแปล ประชาชนทั่วไปก็จะเป็นสารคดี ท่องเที่ยว แม่บ้านการเรือน ฝึกอาชีพ

แต่ที่เน้นคือ หนังสือสำหรับเด็ก เช่น การ์ตูน วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ นิทาน หนังสือภาพ เพื่อใช้ในการจินตนาการ มีการเล่านิทานเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การอ่านหนังสือในระดับต่อไป ส่วนการสมัครสมาชิก ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 25 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าถูกมาก

น้องแน็ต-ภารดี นาคะสิงห์ น้องหญิง-ขนิฏฐา สองสี และน้องหนิง-ชลิดา โชคประจักษ์ชัย นักเรียนชั้นป. 6 โรงเรียนวัดวิเศษการ บอกเล่าความรู้สึกถึงบ้านหนังสือแห่งนี้ว่า มาใช้บริการบ้านหนังสือทั้งก่อนและหลังที่จะปรับปรุง และรู้สึกดีใจมากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ เพราะเดิมเป็นเพียงที่โล่งไม่น่าสนใจ ส่วนที่ชอบมากที่สุดคือ หนังสือเด็กเยอะและบรรยากาศดีมาก

“หนังสือที่อ่านบ่อยคือ แฮรี่พอตเตอร์ และมาค้นคว้าเพิ่มเติมจากที่เรียนมาเพื่อทำรายงาน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมาหลังเลิกเรียนประมาณ 3 โมง จนถึง 5 โมง สิ่งที่อยากให้บ้านหนังสือปรับปรุงก็คือ เสียงเพลง เพราะว่ามันเงียบไป ส่วนกิจกรรมที่ทางบ้านหนังสือจัดยังไม่เคยเข้ามาร่วม เพราะมาบ่อยและบ้านอยู่แถวนี้ ไปมาสะดวก นอกจากนี้เคยรวมตัวกันไปที่บ้านหนังสือเขตราษฎร์บูรณะตามคำแนะนำของครูด้วย” น้องหนิงให้ความเห็นทิ้งท้าย
ห้องสมุดวิชาการ
ห้องสมุดเยาวชน
บรรยากาศการอ่านหนังสือของเด็กๆ  ที่เข้ามาใช้บริการ
(จากซ้ายไปขวา) น้องแน็ต  ภารดี  นาคะสิงห์  น้องหญิง  ขนิฏฐา  สองสี  และน้องหนิง  ชลิดา  โชคประจักษ์ชัย  นักเรียนชั้นป.  6  โรงเรียนวัดวิเศษการ
บ้านหนังสือ อีกหนึ่งรูปแบบห้องสมุดของคนกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น