xs
xsm
sm
md
lg

สตรีนักสู้และครูผู้ให้/โดย...ลัดดา ตั้งสุภาชัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยักษ์ไม่มีกระบอง
โดย...ลัดดา ตั้งสุภาชัย
 
ในชีวิตของคนเราที่เกิดมาล้วนแล้วแต่มีครูในแต่ละช่วงชีวิตด้วยกันทุกคน โดยเริ่มต้นจากผู้เป็นพ่อแม่ที่ทำหน้าที่เป็นครูคนแรกของทุกคนที่สอนให้เราเรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับสภาวการณ์ต่างๆ ตั้งแต่หัดพูด เรียกขาน และเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายเมื่อมีพัฒนา การพร้อม โดยจะถูกฝึกหัดให้เรียนรู้การ “ตั้งไข่” เพื่อทรงตัว จนสามารถเดินและวิ่งเล่นได้ในที่สุด

ต่อจากนั้นก็จะถูกอบรมบ่มนิสัยและปลูกฝังให้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่ดีงามทั้งในเรื่องของมารยาท ระเบียบ วินัย รวมถึงคุณธรรมให้รู้จักความรับผิดชอบชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ และกาลเทศะ เพื่อให้มีความพร้อมทางสังคมสำหรับก้าวต่อไปของชีวิต
               
เมื่อถึงวัยที่จะต้องเล่าเรียนเขียนอ่าน พ่อแม่ก็จะนำลูกไปเข้าโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สำหรับการประกอบอาชีพและการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เป็นระบบจากครูของสังคม โดยมีการกำหนดหลักสูตรให้เรียนสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งการเรียนรู้สังคมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลายวันที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมต่างได้รับรู้ถึงเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของม๊อปครูที่ไม่พึงพอใจในนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอาชีพครู จนถึงกับมีการเดินขบวนจากหลายภาคส่วนมาที่กรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้และประท้วงเรียกร้องสิ่งที่พึงประสงค์ต่อผู้บริหารประเทศ  ทำให้ผู้เขียนหวนรำลึกถึง “ท่านผู้หญิงแผ้ว” ครูผู้ให้และสตรีนักสู้ของผู้เขียนเป็นยิ่งนัก จึงต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้

สำหรับชีวิตในวัยเยาว์ของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 8 ปี เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ในสมัยนั้นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีน้อยมาก การศึกษาจะถูกจำกัดในวงแคบเฉพาะผู้ชาย สถานที่ที่ผู้หญิงจะศึกษาหาความรู้ได้จะเป็นในวัง ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการศึกษาจนสามารถอ่านออกเขียนได้และแตกฉานจนถึงขั้นแต่งกลอนได้

ท่านผู้หญิงแผ้ว ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของท่านเมื่อครั้งยังเยาว์วัยให้ลูกๆ ของท่านฟังว่า.........
               
“เมื่อเด็กๆ แม่กับพ่อจัดของใส่หีบจะไปฝากแหม่มโคลที่โรงเรียน (โรงเรียนวังหลังหรือวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ก็มีคนจากวังสวนกุหลาบมาบอกว่า พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธฯ ได้ตั้งโรงเรียนละครเด็กตัวเล็กๆในวัง จะให้เรียนหนังสือด้วยและมาขอให้เข้าไปเรียน ก็เลยไม่ได้ไปอยู่กับแหม่ม แต่ได้เข้าไปอยู่ในวังแทน เมื่อเข้าไปอยู่ในวังได้ถวายตัวหัดรำละคร เรียนรำตั้งแต่ยํ่ารุ่งถึง  ๒โมงเช้าจึงเสร็จ ถึงได้รับประทานอาหารเช้า ที่เรียนอยู่ไม่ได้เรียนรำอย่างเดียว เรียนทำกับข้าว ปั้นขนมจีบด้วย วันละครึ่งชั่วโมง ตอน ๕โมงเช้า แล้วเรียนเย็บปักสะดึงต่ออีกครึ่งชั่วโมง หนังสือก็ต้อง เรียนด้วยวันละชั่วโมงมีครูมาสอนทุกวัน”
               
ท่านผู้หญิงแผ้ว ได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่การรำละครนั้นก็จัดได้ว่ามากด้วยความรู้และความสามารถ ประกอบกับความงดงามทั้งกายและใจที่ได้รับการอบรมบ่มสอนมาตั้งแต่เยาว์วัย  จึงทำให้ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นสุภาพสตรีที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของสุภาพสตรีครบถ้วนสมกับเป็นกุลสตรีศรีสยาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะภริยาทูตท่านผู้หญิงแผ้วต้องเดินทางไปอยู่ต่างแดนถึงประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และโปรตุเกส ต้องทำงานบ้านทุกชนิดและดูแลลูกๆ พร้อมกับนักเรียนไทยที่ติดค้างอยู่ในอิตาลีอีกนับสิบคนที่เสมือนลูกของท่านด้วยความลำบากในช่วงสงครามจึงทำให้ต้องขายเครื่องประดับและข้าวของส่วนตัวเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายโดยไม่นึกเสียดาย  ด้วยสำนึกอยู่เสมอว่าเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติทางหนึ่ง

จากคำบอกเล่าจากหลานๆ ท่านผู้หญิงแผ้ว ที่บรรจงบรรยายถึงคุณยายที่รักยิ่งจากความรู้สึกเบื้องลึกที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือเล่าขานสู่สังคม ในหนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงแผ้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2543 ในหลายปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนเรื่องราวของสุภาพสตรีนักสู้และครูผู้ให้โดยแท้

“นับตั้งแต่จำความได้ พวกเราได้เห็นภาพของคุณยายทุกท่วงท่ามีรูปแบบเฉพาะตัว แฝงไว้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัย และเรียบง่าย

เมื่อเราโตขึ้นสัก 7-8 ขวบ ช่วงปิดเทอม คุณยายจะพาเราไปดูคุณยายทำงานที่กรมศิลปากร ณ กองการสังคีต ชั้น 4 ภาพความผูกพันของคุณยายและศิษย์ช่างเป็นภาพที่ฝังลึกในความรู้สึกอย่างแท้จริง คุณยายถือไม้เท้าคู่ใจเดินนำหน้าเราไปที่ห้องทำงาน ใช้ไม้เท้าเคาะเป็นจังหวะยามฝึกสอนท่ารำต่างๆให้ลูกศิษย์ ความเข้มงวดของคุณยายบางครั้งเรายังอดสงสารผู้เป็นลูกศิษย์ไม่ได้ เพียงแต่นึกอยู่ในใจว่า ทำไมคุณยายถึงดุออกอย่างนี้หนา แต่เมื่อถึงตอนไปดูละครที่แสดงที่โรงละครจึงได้เห็นผลงานว่าท่ารำนั้นงดงามอ่อนช้อยเกินคำบรรยาย

คุณยายเป็นคนช่างสังเกต จับจุดเด่นของแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว เพียงพบครั้งแรกจะเห็นแววทันทีว่า แม่คนนี้ต้องเป็นอิเหนา พ่อคนนี้ต้องเป็นทศกัณฐ์ แม่คนนี้รำงาม ทุกเรื่องที่คุณยายดำเนินไปดูเรียบง่าย ถ้าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อย่ากลัวที่จะทำดี จงทำดีให้เต็มที่  คุณยายสอนให้กล้าพูด กล้าทำ ถ้าไม่ถูกต้องแล้ว ให้กล้าขัด แสดงความคิดเห็นให้เหตุผล  คุณยายมีวิธีพูดเพื่อก่อได้อย่างน่าทึ่ง และเราจะพบได้ว่าในเนื้อแท้ของการติชมนั้นเป็นไปด้วยความหวังดีทั้งสิ้น”

ท่านผู้หญิงแผ้วถือได้ว่าเป็นครูอาชีพโดยแท้ หาใช่เพียงบุคคลผู้มีอาชีพเป็นครูเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นถึงปรมาจารย์ผู้รักในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงอย่างเป็นชีวิตจิตใจ  และได้สร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏศิลป์ไทยที่สูงค่าไว้อย่างมากมายจนกลายเป็นมรดกอันเป็นเลิศและล้ำค่าของแผ่นดินไทยชั่วลูกหลาน และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงในเวลาต่อมา

ผู้เขียนเองเคยได้รับความเมตตาจากท่านในฐานะลูกศิษย์ นอกจากได้รับการถ่ายทอดวิชาชีพนาฏศิลป์แล้ว ยังได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีของสังคมไม่ต่างอะไรกับมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นย้ำให้กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง ให้เป็นคนดี มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครู และแผ่นดิน จนทุกวันนี้สามารถนำความรู้และสิ่งดีๆในชีวิตที่ถูกปลูกฝังมาช่วยเหลือสังคมอย่างภาคภูมิใจในความเป็นลูกศิษย์ท่านผู้หญิงแผ้วสตรีนักสู้และครูผู้ให้ของแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น