xs
xsm
sm
md
lg

ค่านิยมดีๆที่ถูกเมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยักษ์ไม่มีกระบอง
โดย...ลัดดา ตั้งสุภาชัย

 
เป็นที่ยอมรับกันว่า คนเราทุกคนที่เกิดมาสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ครั้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้นสามารถสื่อสารได้ก็จะได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ที่เป็นเครือญาติ เพื่อให้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในเรื่องของค่านิยมและจารีตประเพณีที่ดีงาม ให้รู้จักการเคารพ กราบ ไหว้ หมอบ คลาน และเชื่อฟังผู้ใหญ่ รวมถึงการพูดจาด้วยวาจาที่ไพเราะ นุ่มนวล   มีหางเสียง และมีสัมมาคารวะ

หากเป็นเด็กผู้หญิงก็จะถูกสอนสั่งให้พูดคะ พูดขา ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า “หนู น้อง...” ส่วนเด็กผู้ชายก็จะถูกสอนให้พูดครับ ครับผม และใช้สรรพนามแทนตนเองว่า "ผม หรือกระผม”

บ่อยครั้งกับเหตุการณ์ที่พบเห็นเด็กน้อยที่รู้เดียงสาแต่ยังพูดไม่ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อุ้มมาเที่ยวเล่นตามศูนย์การค้าต่างๆ และด้วยความน่ารักน่าเอ็นดูประกอบกับอากัปกริยาที่ร่าเริงเป็นมิตรกับผู้พบเห็นเด็กน้อยจึงมักจะถูกหยอกเย้ากระเซ้าเล่นไม่ต่างอะไรกับตุ๊กตา ส่วนผู้เป็นพ่อแม่ก็จะบอกกล่าวให้ทักทายผู้มาทักว่า “ธุค่ะ” ถึงแม้ว่าเด็กน้อยจะยังพูดไม่ได้แต่ก็สามารถเข้าใจ  และรับรู้ในเรื่องที่ถูกบอกเพราะถูกปลูกฝังจากผู้เป็นพ่อแม่ทุกวัน มืออวบอ้วนน้อยๆทั้งสองข้างประกบเข้าหากันโดยอัตโนมัติพร้อมกับแววตาและรอยยิ้มที่น่ารักน่าชังยิ่งนัก ทำให้ผู้ที่พบเห็นเอ็นดูเด็กน้อยมากยิ่งขึ้น   รวมถึงประทับใจผู้เป็นพ่อแม่ที่ยังคงปลูกฝังความเป็นไทยที่ดีงามให้กับลูกตั้งแต่เยาว์วัย

การปลูกฝังสิ่งที่ดีงามและอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีในสังคมควรที่จะเริ่มในช่วงที่เด็กมีพัฒนาการที่สามารถรับรู้และสื่อสารได้  อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ   สาขาศิลปะการแสดง เคยบอกกล่าวไว้ในเวทีการแสดงโขน ละครและเวทีเสวนาทางวิชาการเอาไว้ว่า เด็กๆที่มีอายุระหว่าง ๓ ขวบ จนถึง ๑๒ ปี เป็นช่วงวัยที่ว่านอนสอนง่ายจะเชื่อฟังคำสั่งสอนผู้ใหญ่ สั่งอะไรก็จะปฏิบัติตามไม่ดื้อรั้น เป็นช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องฉกฉวยโอกาสสอนสั่ง ซึ่งหากเลยจากนี้ไปแล้วจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการชักจูงเด็กให้เชื่อฟัง  ส่วนในช่วงอายุ ๑๓ ถึง ๒๕ ปี จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีความเป็นตัวตนสูงมาก จะมีความเชื่อมั่นตนเอง ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่จะเชื่อเพื่อนในวัยเดียวกัน และจะเข้าใจโลกรู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้นในช่วงที่อายุเกิน ๒๕ ปีไปแล้ว
               
การสอนมารยาทไทย
เป็นค่านิยมดีงามที่สามารถปลูกฝังให้กับลูกหลานที่เยาว์วัยตั้งแต่ตัวน้อยๆเพื่อให้มีรากฐานที่แข็งแรง มีความพร้อมทางสังคม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขน่าจะได้แก่ การให้รู้จักสวัสดีเมื่อทักทาย กล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้ให้ และขอโทษเมื่อล่วงเกินผู้อื่น

มารยาทง่ายๆที่กล่าวมาซึ่งดูเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและใกล้ตัวซึ่งเป็นค่านิยมที่ดีงามที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ไม่ยากแต่ทุกวันนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากและถูกเมินเฉยจากผู้คนโดยเฉพาะในสังคมเมือง
               
การสวัสดีด้วยการไหว้ ซึ่งเป็นการทักทายแบบไทย เป็นค่านิยมที่ดีงามที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน ถึงวันนี้กลับดูเหมือนว่าผู้คนตามสำนักงานและบริษัทต่างๆกลับไม่เห็นความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ จึงไม่สู้จะเอาใจใส่กัน โดยบางคนได้ให้เหตุผลไว้ว่า “เจอกันอยู่เกือบทุกวันไม่จำเป็นต้องไหว้” บ้างก็ติดยึดอยู่กับรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตกเพราะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมาระยะหนึ่งจนลืมคุณค่าที่ดีงามเปลี่ยนจากไหว้เป็นจับมือแทน และกับบางคนตั้งแต่โตมาไม่เคยถูกอบรมให้ไหว้มาตั้งแต่เด็กจึงมือแข็งไหว้คนไม่เป็นก็มีให้เห็น

หากเหลียวไปดูมิตรประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยคบค้าสมาคมอยู่จะพบว่ายังมีการทักทายด้วยภาษาท่าทางอยู่สม่ำเสมอเมื่อพบปะกัน เช่น ชาวญี่ปุ่นเมื่อพบปะกันก็จะทักทายด้วยการโค้งคำนับกันหลายๆครั้งตามแบบฉบับ ชาวอินเดียก็จะทักทายกันด้วยการไหว้ ส่วนชาวตะวันตกก็จะจับมือเพื่อทักทายกัน

ที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อชวนให้คิดว่าประเทศที่กล่าวมาก็เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าแต่ก็ยังคงรักษาค่านิยมของตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมที่ดีงามในเรื่องของการทักทายมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เพราะเหตุใดจึงไม่สนใจที่จะร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้
               
การไหว้
ไม่เพียงแค่เป็นเอกลักษณ์ของการทักทายเท่านั้น หากแต่มีคุณค่าแฝงอยู่หลายประการด้วยกัน เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกได้หลายมิติ เช่น ทักทายแสดงความยินดีที่พบกัน แสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส แสดงความขอบคุณ และเพื่อแสดงความขอโทษเมื่อล่วงเกิน
               
การขอบคุณ เป็นมารยาทตามปกติของสังคมที่เจริญแล้วซึ่งมีการถือปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเลือนหายไปจากวิถีชีวิตผู้คนในเมืองเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างง่ายๆของการใช้ลิฟท์ขึ้นลงอาคารร่วมกัน คนหลายคนมีน้ำใจที่จะกดลิฟท์ให้ผู้ร่วมโดยสารบ่อยครั้งจะพบว่าไม่ได้ยินการกล่าวคำขอบคุณกลับแม้แต่น้อย จึงสงสัยว่าคงจะเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าผู้ที่มีน้ำใจเหล่านี้คือพนักงานประจำลิฟท์หรือเปล่า? ถ้าคิดเช่นนี้ก็น่าเศร้าใจกับคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง
หากทุกคนในสังคมรู้จักที่จะใส่ใจกับการขอบคุณในเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันกันบ้างสังคมก็คงจะน่ารื่นรมย์กว่าที่เป็นอยู่
               
การขอโทษ มักเป็นเรื่องยากสำหรับใครบางคนที่ไม่ได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าคำ    ขอโทษจะเป็นคำสั้นๆซึ่งบางคนไม่เห็นว่าเป็นความจำเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นมารยาทสังคมที่ไม่ควรละเลย กับหลายๆสถานการณ์การขอโทษไม่เพียงแต่เป็นการแสดงมารยาทเท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกที่สวยงามและสามารถบรรเทาสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นให้คลี่คลายไปในทางที่ดีได้

สำหรับบางปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น กรณีของการบริหารบ้านเมืองที่ผิดพลาดไปบ้างหากผู้นำแสดงความรับผิดชอบรู้จักกล่าวขอโทษสังคม ก็เชื่อได้ว่าสถานการณ์ที่วิกฤตจะสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ หรือกับกรณีของคนในครอบครัวที่มีการกระทบกระทั่งกันซึ่งเป็นเรื่องปกติหากลดทิฐิกันและกัน โดยรู้จักที่จะกล่าวขอโทษต่อกันก็จะทำให้บรรยากาศลดความตึเครียดลงและส่งเสริมความเป็นครอบครัวให้มั่นคงต่อไปได้
               
ถึงวันนี้ค่านิยมที่ดีงามที่กล่าวมายังคงอยู่ในวิถีชีวิตมิได้สูญหายไปไหน แม้บางพื้นที่จะดูเหมือนว่าหมางเมินไม่ใส่ใจ  แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่เราจะช่วยกันนำค่านิยมที่ดีงามกลับมาสู่วิถีชีวิตได้ไม่ยากที่สำคัญที่สุดจะต้องช่วยกันปลูกฝังให้ลูกหลานตั้งแต่เยาว์วัยและบ่มเพาะให้ติดจนเป็นนิสัย

กำลังโหลดความคิดเห็น