xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรรมอากาศยาน ฝันใหม่ของคนรักการบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวะเดียวกันกับมีสายการบินพาณิชย์ใหม่ๆ เปิดบริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้านอุตสาหกรรมการบิน และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราขาดบุคลากรเพื่อมารองรับการเติบโต


ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขันอาสาเข้ามารับหน้าเสื่อเพื่อผลิตนักศึกษา(Aerospace Engineering) หรือ วิศวกรรมอากาศยาน หลักสูตรนานาชาติ โดยจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2549 นี้

และมั่นใจว่าสาขาวิศวกรรมอากาศยาน จะได้รับการขานรับจากนักเรียน เนื่องจากเป็นทางเลือกใหม่ที่อนาคตสดใ
สไม่แพ้เรียนแพทย์

ศ.ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองว่า บุคลากรด้านวิศวกรรมอากาศยานกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยเหตุนี้ทางจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ เปิดหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน หลักสูตรนานาชาติ ขึ้น โดยผู้เรียนจะเรียนเกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบ ด้านวิเคราะห์ และขบวนการผลิตเครื่องบิน จะเน้นความด้านตัวอากาศยาน

“วิศวะ จุฬา มีชื่อเสียงมายาวนาน ขณะที่โรงเรียนนายเรืออากาศ มีชื่อเสียงด้าน นักบิน ผลิตช่าง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีอุปกรณ์ เครื่องมือในการเรียน ครบถ้วน ความร่วมมือครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการดึงเอาจุดเด่นของ 2 สถาบันมาไว้รวมกัน แล้วสร้างบุคลากรสายพันธุ์ใหม่ ไม่แน่วันข้างหน้าประเทศไทยอาจจะผลิตเครื่องบินพาณิชย์เองและจำหน่ายต่างประเทศก็ได้”

ส่วนเหตุผลที่เปิดหลักสูตรนานาชาติ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าต้องการอัปค่าเทอมรึเปล่า ดร.ดิเรก กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องค่าเทอมที่ถีบตัวสูงขึ้นเมื่อเปิดหลักสูตรนานาชาติ แต่ให้สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยคาดหวังจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นบุคลากรต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน อีกอย่างหนึ่งเครื่องบินมีศัพท์เฉพาะที่ผู้เรียนจะต้องรู้มากมาย

ที่สำคัญคือ เชื่อว่าจะมีลูกศิษย์หลายคนเรียนจบจากเราแล้วจะไปเรียนต่อปริญญาโททั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ซึ่งความสามารถทางด้านภาษาเป็นสิ่งที่จำเป็น

“ตามปกติค่าเทอมของนักศึกษาที่เรียนวิศวะส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาท สำหรับวิศวกรรมอากาศยานหลักสูตรนานาชาติ จะอยู่ที่ 9 หมื่นบาท เพราะเราเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ทางด้านอากาศยานมาสอนลูกศิษย์ของเรา นอกจากนี้ยังมีแผนการให้ไปเรียนที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เนื่องจากที่นั่นมีสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนครบถ้วน ได้สัมผัสของจริง”

ดร.ดิเรกบอกด้วยว่า นอกจากโรงเรียนนายเรืออากาศ พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่างนาซ่าจะส่งวิทยากรมาให้ความรู้แก่นักศึกษาด้วย ขณะเดียวกันจะพาไปดูงานต่างประเทศอย่างอินโดนีเซีย และอื่นๆ ด้วย เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสดูองค์วิธีการจัดการต่างๆ

ทั้งนี้ ในปีแรกคงจะให้เรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้แน่นก่อน พอขึ้นปีสองสอนให้รู้โครงสร้างของเครื่องบิน จากนั้นจะให้นักศึกษาออกแบบเครื่องผ่านคอมพิวเตอร์ ส่วนปี 3 และปี 4 จะเน้นการออกแบบพร้อมศึกษารายละเอียดเครื่องบินจริง ๆ

“นักศึกษาของเราจะมีความรู้โครงสร้าง ชิ้นส่วนเครื่องบินหลากหลายแบบ ไม่จำเป็นจะต้องรู้จักเครื่องบินเฉพาะพาณิชย์ รู้องค์ประกอบของเครื่องบินรบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องบิน นักศึกษาจะรู้ว่าเครื่องบินมีปัญหา เขาจะรู้ได้ทันทีว่ามีปัญหาตรงจุดไหนแล้วจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรด้วย”

จากนั้น ศ.ดร.ดิเรก กล่าวถึงวิธีการรับนักศึกษาว่า จะรับนักศึกษา 50 คน โดยคัดเลือกผ่านระบบเอนทรานซ์ เด็กคนไหนคะแนนตามที่กำหนด แล้วมีความประสงค์อยากจะเรียนวิศวกรรมอากาศยาน จะเชิญมาสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองอีกครั้งหนึ่ง คณาจารย์ที่สัมภาษณ์จะสังเกตการตอบโต้ภาษาอังกฤษ ไหวพริบสติปัญญา ตลอดจนสุขภาพร่างกาย ฯลฯ

“จะรับเพียง 50 คนเท่านั้น เพื่อให้อาจารย์ได้สอนอย่างใกล้ชิดและนักศึกษาจะได้สัมผัสอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เป็นของจำลองและของจริงไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือ เราต้องการผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ” ศ.ดร.ดิเรกสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น