xs
xsm
sm
md
lg

“หมอสุชัย” ตั้งโมบายแล็บตรวจหวัดนก รู้ผลเร็ว 6-8 ช.ม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สธ.กำชับเข้มทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 1,300 ทีม พร้อมทัพอาสาสมัครสาธารณสุขอีก 9 แสนคน เข้าควบคุมโรคและให้ความรู้เร่งด่วนประชาชนในพื้นที่ที่พบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก เน้นย้ำเข้มข้นในพื้นที่สีแดง 21 จังหวัด และให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 12 แห่ง ตั้งหน่วยตรวจแล็บโมบายในพื้นที่ เริ่มที่ จ.กาญจนบุรีและกำแพงเพชร รายงานผลตรวจรวดเร็วภายใน 6-8 ชั่วโมง


วันนี้ (24 ตุลาคม) ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ไพจิตร วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางไปตรวจเยี่ยมติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือไข้หวัดนก ที่โรงพยาบาลบางระกำ จ.พิษณุโลก และเดินทางต่อไปที่จังหวัดกำแพงเพชร และเยี่ยมชมผลการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกที่บ้านมหาชัย อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง โดย จ.กำแพงเพชรมีรายงานผลตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่ อ.เมือง อ.คลองขลุง อ.ไทรงาม และ กิ่ง อ.บึงสามัคคี

ศ.นพ.สุชัย กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมในวันนี้ เพื่อติดตามความพร้อมในภาพรวมของระบบทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยโรคโดยเร็วและถูกต้อง การรักษาอย่างทันท่วงที ระบบการส่งต่อ ความพร้อมของโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค หากเกิดโรคต้องไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และสามารถควบคุมการเกิดโรคให้อยู่ในวงจำกัดไม่ให้แพร่ขยายในวงกว้างเป็นอันขาด และขอให้ทีมเคลื่อนที่เร็ว (SRRT)ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขอให้ความมั่นใจว่า ในเรื่องของคนไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในวงกว้างแน่นอน

ทั้งนี้ ในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก ในพื้นที่ทีพบเชื้อในสัตว์ปีก ได้สั่งการให้ทีมเฝ้าระวังที่มีอยู่ 1,300 ทีม และอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้านอีกประมาณ 900,000 คน เข้าไปในหมู่บ้านโดยเร็ว ให้ความรู้ชาวบ้าน อย่าสัมผัสไก่ที่ตายหรือติดเชื้อด้วยมือเปล่า อย่านำไก่ตายมาทำอาหาร โดยไม่ต้องรอให้มีการตายของสัตว์ปีก โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง ที่มีการตายของสัตว์ปีกและไก่ ซึ่งตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ มี 21 จังหวัด ให้ดำเนินอย่างเข้มข้นเป็นกรณีพิเศษ วิธีนี้จะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดไปสู่คนได้

ศ.น.พ.สุชัยกล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรค ขณะนี้มีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ในภูมิภาค 12 แห่งทั่วประเทศและตรวจยืนยันเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ ในวันนี้ได้ปรับแผนการตรวจเชื้อให้รวดเร็วขึ้น โดยสั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดทำโมบายแล็บ หรือห้องตรวจปฏิบัติการเคลื่อนที่ เข้าไปให้บริการตรวจในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) เป็นนโยบายเชิงรุกเข้มข้นขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้ระบบการการควบคุมป้องกันรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังตามที่สื่อมวลชนเผยแพร่นั้น ขอยืนยันว่า ยังไม่ใช่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก แต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หอบ และปอดอักเสบ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้คัดกรองเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินการทุกวัน ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก 70,000-80,000 คน แต่จะคัดกรองเฉพาะในรายที่มีประวัติการสัมผัสไก่ป่วย ซากไก่ตายเท่านั้น ถ้ามีตัวเลขคัดกรองมาก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และขอยืนยันว่าไม่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มเติม”ศ.นพ.สุชัยกล่าว

ด้าน นายแพทย์ไพจิตร วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า โมบายแล็บที่จะดำเนินการนี้ จะเริ่มปฏิบัติการได้ภายใน 10 วันนี้ โดยเริ่มที่ 2 จังหวัด คือที่กาญจนบุรีและกำแพงเพชรก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงไม่มีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งอยู่ใกล้ และอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อให้ความมั่นใจประชาชน ในการจัดทำนั้นจะประยุกต์ใช้รถตรวจอาหารเคลื่อนที่ซึ่งมีอยู่แล้ว 2 คัน และติดตั้งเครื่องตรวจพีซีอาร์เพิ่มเติม โดยจะไปตั้งที่โรงพยาบาลจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ตรวจประมาณ 2-3 คน สามารถรายงานผลตรวจที่แม่นยำรวดเร็วขึ้นภายใน 6-8 ชั่วโมง และจะปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์การระบาดโรคจะสงบ

ทางด้าน น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวว่าสำหรับ อสม.ที่ต้องเข้าไปทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ ขอให้ระมัดระวังตนโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น สวมชุดป้องกัน สวมผ้าปิดปากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ที่ตาย รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังปฏิบัติงานเสร็จ

ด้าน น.พ.วิทยา ศุภรพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า การดำเนินงานเฝ้าระวังโรคตามยุทธศาสตร์การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ซึ่งมีนายไพศาล รัตนพัลลภ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธาน เน้น 2 มาตรการหลัก คือ การเฝ้าระวังสถานการณ์ป่วยของประชาชนและการรักษา และมาตรการการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน มีการเตรียมความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ได้สั่งการให้โรงพยาบาลชุมชนจัดเตรียมความพร้อมของทีมเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลตลอด 24 ชั่วโมง ที่พร้อมจะปฏิบัติงานเมื่อพบผู้ป่วยทีเฝ้าระวังในรายที่สงสัย สนับสนุนเวชภัณฑ์ วัสดุ ชุดตรวจ และอุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากร ให้กับทุกสถานบริการสาธารณสุข และมีการแจ้งข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยศูนย์ฮอตไลน์ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย และมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน อย่างเข้มแข็งทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น