xs
xsm
sm
md
lg

"ทักษิณ" มั่นไทยจัดการหวัดนกได้-สธ.ยันผู้ป่วยเสียชีวิตที่กาญฯไม่ใช่หวัดนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทักษิณ" มั่นไทยจัดการหวัดนกได้ ระบุพร้อมช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค ยันผู้ป่วยที่จ.กาญจนบุรีไม่ได้ตายจากหวัดนก แต่จะเฝ้าระวังคนในครอบครัวต่ออีก 21 วัน พร้อมแจกคู่มือป้องกันโรคไข้หวัดนก 100,000 เล่มในพื้นที่เสี่ยง รับลูกรัฐบาล สต็อกยายาทามิฟลู 1 ล้านเม็ด ใช้ในคนไข้สงสัยเป็นไข้หวัดนก 100,000 คน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนกว่า ประเทศไทยได้เอกซเรย์ในจุดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง หากพบที่ใดก็จัดการทันที โดยจะไม่ปล่อยให้มีการแพร่ระบาด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการระบาดจากสัตว์สู่คน และมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้สั่งวัคซีนเพื่อรองรับการระบาดของโรคไข้หวัดนกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการเตรียมการไว้ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะได้ไม่มีปัญหา แต่มั่นใจ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคนี้ เราสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดหรือมีปัญหาได้ นอกจากดูแลประเทศเราเองแล้ว เรายังจะไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว มีความเป็นห่วงการระบาดของโรคไข้หวัดนกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราไม่ห่วง เราดูแลของเราได้ นอกจากนี้ ยังจะไปดูแลประเทศเพื่อนบ้านให้ด้วย โดยจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมผู้นำกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 2 (2nd ACMECS Summit) ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2548

ส่วนมาตรการที่จะนำไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วย อาจจะส่งยาวัคซีนเข้าไปช่วยด้วย ขณะนี้ในส่วนของไทยได้ใช้ระบบเอกซเรย์ในเชิงรุก จะไม่รอให้เกิดปัญหาก่อน

สำหรับเรื่องนโยบายฟาร์มปิด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเร่งทำ พร้อมจะเพิ่มแรงจูงใจให้กับเกษตรกรหันมาใช้ระบบฟาร์มปิดให้มากขึ้น โดยชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงสัตว์ระบบฟาร์มปิดจะเป็นผลดีต่อการค้าในระบบบาเตอร์เทรด คือ การนำสินค้าเกษตรไปแลกกับสินค้าของประเทศคู่ค้า โดยใช้หลักจูงใจให้เห็นว่าสินค้าเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องของวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกจะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ระหว่างการประสานงานด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะวัคซีนที่เกี่ยวกับคน แต่ขณะนี้เราป้องกันได้ อย่าไปตกใจว่าได้เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่มีอะไร แต่เราก็ไม่ควรประมาท โดยขณะนี้ยังไม่พบรายงานว่าพบเชื้อไข้หวัดนกในคน

ด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ที่ป่วยด้วยอาการไข้ ไอ หลังชำแหละไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ต่อมาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 เวลาประมาณ 02.00 น. ว่า ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่โรคไข้หวัดนก เนื่องจากผลตรวจทดสอบเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ และตรวจยืนยันเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ใช่เชื้อไข้หวัดนกอย่างแน่นอน ซึ่งรายนี้จะต้องตรวจพิสูจน์ยืนยันเชื้อตัวอื่นต่อไปอีก เพื่อระบุสาเหตุได้แน่ชัด

ถึงแม้ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการดูแลป้องกันขั้นสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจเต็มที่ ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เฝ้าระวังบุคคลร่วมบ้านของผู้ป่วยต่อไปอีก 21 วัน

นพ.ธวัช กล่าวต่อไปว่าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกขณะนี้ แพร่เข้าสู่ทวีปยุโรป ในส่วนของไทยขณะนี้ได้ใช้มาตรการสูงสุด 100% และนายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจน เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการทั้งเฝ้าระวัง การรักษา การควบคุมป้องกันโรคของไทยอยู่ในระดับมาตรฐานโลก และไทยมีจุดเด่นมีเครือข่ายถึงในระดับหมู่บ้านทุกแห่ง โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือแนะนำให้ความรู้ อสม. และประชาชน ปฏิบัติตัวป้องกันไม่ให้ติดโรคไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายอีก 100,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงที่พบไก่หรือสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) กรมควบคุมโรคจะจัดเสวนาสื่อมวลชน เรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ที่ห้องประชุมกรมควบคุมโรค เวลา 09.30 –12.00 น. เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคดังกล่าวแก่สื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการนำความรู้ ความเข้าใจไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคต่อไป โดยได้เชิญผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเข้าร่วมอภิปรายด้วย

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า ได้ส่งชุดทดสอบเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเทสคิท ประมาณ 37,000 ชุด ให้ทุกจังหวัด จังหวัดละประมาณ 300 ชุด ซึ่งจะจัดสรรให้โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย และให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสทามิฟลูทันที

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ทางแพทย์ได้ห่อหุ้มศพอย่างรัดกุม กำชับห้ามแกะ และแนะนำให้ประกอบพิธีกรรมโดยเร็ว โดยลูกชายคนโตของผู้เสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้นพ.ธวัช ยังกล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ สธ. รวบรวมยาและวัคซีนรักษาไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกให้มากที่สุดนั้น ปีนี้ สธ.ได้วางแผนเตรียมยาทามิฟลูไว้ 1 ล้านแคปซูล เพื่อใช้กับผู้ป่วย 100,000 คน โดยยาทามิฟลู รับประทานเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดเอช 5 เอ็น 1 เพิ่มจำนวนในร่างกาย โดยผู้ป่วย 1 คน ต้องรับประทานยาวันละ 2 แคปซูล ในตอนเช้าและเย็น ติดต่อกัน 5 วัน จึงจะครบโด๊ส

ขณะนี้ในประเทศไทยสตอกยาทามิฟลูได้แล้ว 660,000 แคปซูล ส่วนที่เหลือบริษัทผู้ผลิตจะส่งมอบให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตซึ่งมีเพียง 1 ราย ไม่สามารถผลิตยาได้ทันความต้องการ เพราะมีคำสั่งซื้อจากทั่วโลก ส่วนปี 2549-2550 วางแผนสตอกยาทามิฟลูไว้ปีละ 1 ล้านแคปซูล เช่นกัน

สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ปี 2548 ได้เตรียมไว้แล้ว 200,000 โด๊ส ฉีดโด๊สละ 1 คน ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 200,000 คน มีภูมิต้านทานโรค 1 ปี ได้กระจายวัคซีนให้จังหวัดต่าง ๆ แล้วเป้าหมายในปี 2549 จะสำรองไว้ 300,000 โด๊ส ได้เสนอแผนผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้ว กรมควบคุมโรคได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อจำนวน 150,000 โด๊ส อีก 150,000 โด๊ส ทางรัฐบาลจะจัดสรรงบกลางให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคนจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ พยาบาล ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ทำงานในฟาร์มสัมผัสสัตว์ปีก วัคซีนนี้ไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน

ส่วนปี 2550 กำหนดสตอกวัคซีนไว้ 300,000 โด๊ส เช่นกัน ขณะที่วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกในคนยังอยู่ระหว่างประสานงานกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเข้าวัคซีนต้นแบบดังกล่าวจากไทยไปศึกษาในห้องทดลอง และนำมาทดสอบระยะ 2 และ 3 ในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

“สิ่งที่เราพบในปัจจุบันคือ ขาดแคลนยาทามิฟลู แม้จะมีเงินก็ซื้อไม่ได้ ต้องสั่งจอง เป้าหมายของประเทศไทยคือ ผลิตยาทามิฟลูใช้เอง มีแผนให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ผลิต คาดว่าจะผลิตจนขึ้นทะเบียนได้ในเดือนตุลาคม 2549 เราจะมียาทามิฟลูที่ผลิตได้เองใช้ในประเทศ ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้เตรียมห้องปฏิบัติการเพื่อผลิตยาทามิฟลู เป็นผงและแคปซูล ส่วนการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคน วันพรุ่งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม จะหารือกับตัวแทนบริษัทซาโนฟี แอเวนทีส ประเทศฝรั่งเศส กับทางการจีน ที่องค์การเภสัชกรรม เพื่อสรุปหาถึงแนวโน้มในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนร่วมกัน โดยไทยจะให้องค์การเภสัชกรรมเป็นคู่ทำสัญญาร่วมทุนซึ่งต้องเลือก 1 ราย”นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเพศชายอายุ 48 ปี ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ผลการตรวจเบื้องต้นไม่พบเชื้อเอช 5 เอ็น 1 ส่วนจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ชนิดใด ต้องรอผลการตรวจละเอียดอีกครั้ง

ปัจจุบันถือว่ายาทามิฟลู เป็นยารักษาไข้หวัดนกที่ดีที่สุด และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเกิดการดื้อยา สามารถใช้ยานี้หยุดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1ให้มีจำนวนเท่าเดิมที่ร่างกายมีอยู่ก่อนได้รับยา ซึ่งหากเชื้อไวรัสในร่างกายเพิ่มขึ้น จะทำอันตรายต่อปอด ซึ่งโรคนี้อัตราการเสียชีวิตสูงมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น