xs
xsm
sm
md
lg

รังนกแท้-รังนกปลอม ความเหมือนในความต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยามคนรักชิดใกล้ ญาติสนิทมิตรสหายเจ็บป่วย รังนกมักเป็นหนึ่งในของฝากที่เรามักจะติดไม้ติดมือไปฝาก เพื่อหวังจะฟื้นฟูสุขภาพร่างกายพวกเขาคืนกลับมาเร็วที่สุด กระนั้นบ่อยครั้งของฝากราคาสูงที่ตั้งใจซื้อกลับกลายเป็นรังนกปลอมที่ทำจาก ‘ยางคารายา’ ที่คล้ายคลึงกับรังนกแท้มากจนผู้บริโภคทั่วไปไม่อาจแยกได้ว่าอันไหนยางคารายา อันไหนรังนกแท้ ยิ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ทันสมัย สวยงามของรังนกสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อก็ทำให้รังนกแท้-ปลอมยากต่อการสังเกตมากขึ้นอีก

ความรู้สึกดีๆ ที่ตั้งใจจะหยิบยื่นให้กับคนใกล้ชิด หรือตัวเองบ่อยครั้งจึงกลายเป็นความเจ็บใจที่โดนหลอก มิหนำซ้ำสุขภาพของคนรักใกล้ชิดที่ปรารถนาจะให้ฟื้นคืนในเร็ววันยังต้องล่าช้าออกไปจากการกินรังนกปลอมที่แม้ไม่อันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใด ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงออกมาให้ความรู้ในการเลือกซื้อรังนกแก่ผู้บริโภค ในงาน ‘รังนกแท้-รังนกปลอม วศ.มีคำตอบ’

ชัยวุฒิ เลาวเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) อธิบายว่ารังนกเป็นผลผลิตจากนกอีแอ่น (นกนางแอ่น นกแอ่นกินรัง) โดยนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มรังนก ปัจจุบันรังนกและผลิตภัณฑ์รังนกมีจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ทั้งรังนกแห้ง รังนกกึ่งสำเร็จรูป รังนกสดพร้อมปรุง เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป เครื่องดื่มรังนกผสมโสม เครื่องดื่มรังนกสูตรไม่มีน้ำตาล เครื่องดื่มรังนกผสมคอลลาเจน

ปัจจุบันตลาดทั้งในและนอกประเทศมีความต้องการบริโภครังนกสูงมาก จนรังนกแท้ตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงมีผู้ฉวยโอกาสผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้จนเกิดคดีความอยู่เนืองๆ เนื่องจากรังนกแห้งจะมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อกิโลกรัม ขณะที่รังนกปลอมที่ทำจากยางคารายาจะกิโลกรัมละ 3,000 -4,000 บาทเท่านั้น จนมีผู้หลงเชื่อซื้อรังนกปลอมสูญเงินนับแสนบาท

“จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ โดยใช้วิธีการทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปคโทรสโคปิ สามารถบอกได้ว่ารังนกแท้ที่ทำมาจากรังนกอีแอ่นจะมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีนสูงกว่า 50% และมีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 22% ขณะที่รังนกปลอมจะมีโปรตีนเพียง 2% แต่จะมีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่า 70% นอกจากนั้นรังนกทุกชนิดจะมีรูปแบบของลายพิมพ์อินฟราเรดสเปคตรัมและส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากวัตถุชนิดอื่นชัดเจน โดยเฉพาะรังนกปลอมที่ทำจากยางคารายา”

ชัยวุฒิ เผยว่า จากการสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มรังนกที่ร้านขายบางแห่งในกรุงเทพฯ ตามริมบาทวิถีและร้านค้ามาทดลอง พบว่าเป็นของปลอมที่ทำมาจากยางคารายา แป้งข้าวเจ้าและน้ำมันปาล์ม โดยทำรูปร่างให้ดูคล้ายรังนกซึ่งมีขนอ่อนของนกปะปนอยู่ด้วย ทั้งนี้ยางคารายาที่นำมาผลิตเป็นรังนกปลอมจะมาจากต้นสุพรรณิกา (Sterculia urens) มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย โดยยางคารายามีสีขาว สีเหลืองอมชมพูจนถึงสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู รูปร่างไม่แน่นอน ไม่ละลายน้ำ แต่ดูดซับน้ำและพองตัวคล้ายรังนก โดยยางชนิดนี้ใช้ในอาหารได้ปลอดภัยและยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การทำฟัน ยา อาหาร สิ่งทอ กระดาษ

“ด้วยลักษณะของรังนกแท้และรังนกปลอมที่คล้ายคลึงกันมาก ผู้บริโภคทั่วไปจึงไม่สามารถสังเกตแยกแยะได้ว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม ในการเลือกซื้อจึงควรพิจารณาเรื่องของราคาที่เหมาะสม มีฉลากระบุผู้ผลิตจำหน่ายและมีเครื่องหมายอย.หรือหากสงสัยว่าเป็นรังนกแท้หรือไม่ ให้ส่งตัวอย่างมาที่วศ.เพื่อตรวจพิสูจน์ได้ โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละ 1,500 บาท ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่ซื้อรังนกจำนวนมากๆ ไม่ให้ถูกหลอกจากผู้ฉวยโอกาสขายรังนกที่ทำจากยางคารายา”

...สำหรับผู้บริโภครายย่อยควรเลือกซื้อรังนกจากร้านค้าที่ขายรังนกเป็นอาชีพ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง เพราะถ้าราคาถูกมากก็สันนิษฐานได้เลยว่าน่าจะเป็นรังนกปลอมที่ทำจากยางคารายา ที่แม้จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพกาย แต่สุขภาพใจที่ต้องเสียความรู้สึกจากการถูกหลอกให้บริโภคสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ในราคาแพงๆ แล้วก็อาจพานให้ร่างกายที่จะกลับมากระปรี้กระเปร่าในเร็ววันทรุดลงอีกก็เป็นได้ ยังมิพักจะต้องเสียความน่าเชื่อถือในตลาดต่างประเทศเมื่อไทยส่งออกรังนกสูงสุดอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น