สถานการณ์อาหารปี 48 ยังน่าห่วง เชียงใหม่วิกฤติหนัก พบสารพิษตกค้างในเลือดจากการกินถึง 90 % สธ. ระบุ คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงสูงสุด ด้าน สสส. ทุ่ม 300 ล้าน แก้วิกฤติอาหารขาด-เกิน-ปนเปื้อน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว “รวมพลังไทย เดินหน้าอาหารปลอดภัยเพื่อเมืองไทยแข็งแรง” เนื่องในวันอาหารโลก 16 ตุลาคม 2548 นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า เนื่องในวันอาหารโลก 16 ตุลาคม สสส.ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนสถานการณ์อาหารปลอดภัยในประเทศตลอดปี 2548 โดยพบปัญหาที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง โดยเฉพาะ ภาวะการปนเปื้อนสารพิษในอาหาร
จากการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในเลือดในกลุ่มผู้ซื้อ-ผู้ขาย ตามโครงการอาหารปลอดภัย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547- กรกฎาคม 2548 จำนวน 1,682 คน พบว่า เลือดมีสารพิษอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยถึง 94.83% ระดับปกติ 5.17% ถือว่าเป็นภาวะที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ร่วมกันแก้ไข รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคพืช ผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษ แต่ขณะนี้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักปลอดสารพิษกำลังประสบปัญหาขาดตลาดรองรับดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสนับสนุน อย่างไรก็ตามการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ไม่ได้จะทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกแต่ทำให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ
นอกจากนี้ ภาวะอาหารเป็นพิษหรือท้องร่วงในเด็กเล็กยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน จากรายงานการเฝ้าระวังอาหารเป็นพิษของกรมควบคุมโรคในกลุ่มผู้บริโภคทุกช่วงอายุทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจำนวน 102,370 ราย โดยพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 53,182 รายหรือร้อยละ 51.95 ภาคเหนือ 25,414 รายหรือร้อยละ24.82 ภาคกลาง 19,658 รายหรือร้อยละ19.23 ภาคใต้ 4,089 รายหรือร้อยละ3.99 แต่ที่น่าหนักใจคือ ผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษพบมากในกลุ่มเด็กวัยเรียน(5-24ปี) และวัยทำงาน(25-64ปี) โดยกลุ่มเด็กเล็กอายุระหว่าง 5-9 ปี มีจำนวนถึง 10,029 คน กลุ่มอายุ 2-4 ปี มีจำนวน 8,166 คน กลุ่มอายุ 10-24 ปี จำนวน 18,882 คน และกลุ่มอายุ 25-64 ปี จำนวน 48,581 คน นอกจากนี้จากการเฝ้าระวังอาหารในโรงเรียนยังตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในตัวอย่างอาหาร ผู้สัมผัสอาหารและภาชนะในโรงเรียน 101 แห่ง เกินมาตรฐานร้อยละ 46.5 อีกด้วย
“สถานการณ์นี้สะท้อนถึง ความไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะของอาหาร จึงต้องสนับสนุนให้กลุ่มเด็กวัยเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะสุขอนามัยใน โรงเรียนซึ่งในปีที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายครั้งเกี่ยวกับ เด็กนักเรียนป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษทั้งชั้นเรียน สสส.และกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งเดินหน้าขยายโครงการอย.น้อยที่ให้นักเรียนทำหน้าที่เป็นสารวัตรตรวจสอบอาหารและครัวโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1 ล้านคนทั่วประเทศจาก 10,256 โรงเรียน”
นพ.สุภกร กล่าวว่า สำหรับแผนงานอาหารของสสส.กำหนดงบประมาณระยะ 3 -5 ปี จำนวน 300 ล้านบาท มุ่งแก้วิกฤติอาหารขาด-เกิน-ปนเปื้อน โดยสนับสนุนให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข องค์กร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเดินหน้าอย่างครบวงจร โดยอาศัยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ อาหารปลอดภัย อาหารเพื่อโภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะ อาหารปลอดภัยนั้นขณะนี้เกิดรูปแบบที่ดีอาหารปลอดภัยครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การกระจาย การตลาด การบริโภค ใน 3 จังหวัดนำร่อง คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสมุทรสงคราม ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นทั่วประเทศได้
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลกำหนดนโยบายด้านอาหารปลอดภัยเพื่อให้ “อาหารที่ผลิต และบริโภคภายในประเทศมีความปลอดภัยได้มาตรฐานทัดเทียมกับสากล นำไปสู่การเป็นครัวอาหารของโลก” กระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยสถานการณ์ด้านอาหารปลอดภัยปี 2548 พบว่า อาหารในท้องตลาดและสถานประกอบการต่างๆ มีความปลอดภัย และสะอาดได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสด ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งแหล่งต่างๆ มีการปนเปื้อนจากสารเคมีน้อยลงเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู ก่อนปี 2546 พบสูงถึงร้อยละ 96 บอแรกซ์ พบร้อยละ 42 สารฟอกขาว และฟอร์มาลิน พบร้อยละ 10 สารกันรา พบร้อยละ 17 และสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่ยอมให้ตกค้างได้ ร้อยละ 20.6 หลังจากที่ได้มีการรณรงค์ร่วมกันอย่างจริงจังปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก เฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 ยกเว้นสารเร่งเนื้อแดงและยาฆ่าแมลง ยังลดลงไม่มากนักเพราะเกษตรกรยังคงมีการใช้กันอยู่ พบอยู่ระหว่างร้อยละ 4-7
ในช่วงปลายปี 2547 ถึงกลางปี 2548 ในบางพื้นที่ มีผู้ประกอบการหวนกลับมาใช้สารเคมีอันตรายในอาหารเพิ่มขึ้นอีก จากรายงานการตรวจผัก และผลไม้ดอง ในตลาดกลางค้าส่ง ตลาดสด ตลาดนัด และรถเร่ บางแห่งในเขตกทม. และปริมณฑล ในช่วงเดือนตุลาคม 2547 – พฤษภาคม 2548 พบว่ามีการใช้บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว และสีสังเคราะห์สูงมาก ตั้งแต่ร้อยละ 55 ถึงร้อยละ 87 และจากการวิเคราะห์ตัวอย่างผัก ทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีผักอยู่ 3 ชนิดที่ตรวจพบสารฆ่าแมลงเกินค่ามาตรฐานสากล ได้แก่ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว โดยเฉพาะผักคะน้ามีความเสี่ยงสูงมาก พบเกินค่ามาตรฐานสากล ถึงร้อยละ 45
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในส่วนอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย.ไดัจัดส่งรถตรวจสอบเคลื่อนที่(mobile unit)ได้เก็บตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารประเภทแป้งและเนื้อสัตว์ในตลาดสด และร้านอาหาร Fast Food จำนวน 529 ตัวอย่าง พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน 21 ตัวอย่าง (ร้อยละ 3.97) ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้น้ำมัน พบว่า ในตลาดนัด มีการใช้น้ำมันซ้ำ (เทเติมลงผสมของเก่า) ร้อยละ 20 ร้านอาหาร Fast Food ขนาดใหญ่ (เช่น Mc Donald, KFC, Chester’s Grill) ไม่พบการใช้น้ำมันทอดซ้ำ