ช่วงนี้ตามเว็บไซต์ยอดฮิตต่างๆ ได้มีการตั้งกระทู้ถามกันเป็นจำนวนมากว่า “เทวทัตคือใคร ???” มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงมาเป็นชนวนเหตุการฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นจำนวนค่าเสียหายสูงถึง 500 ล้านบาท ทีมข่าวคุณภาพชีวิตจึงได้ไปค้นข้อมูลประวัติความเป็นมาและเรื่องราว “เทวทัต” มาฝากกัน
ตามพุทธประวัติแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่จะต้องเข้าพิธีสยุมพรกับพระนางยโสธราหรือพิมพานั้น เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้พระญาติฝ่ายพระชายาเพิ่มมาด้วย หนึ่งในนั้นคือเจ้าชายเทวทัตแห่งราชสกุลโกลิยวงศ์ ผู้เป็นเชษฐาแห่งพระนางยโสธรา
ครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พบเทวทูตทั้งสี่ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ได้เห็นในสัจธรรมความไม่เที่ยง จึงตัดสินพระทัยปลงพระเกศาถือเพศสมณะ และหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงออกบวชแล้ว เทวทัตเป็นผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงก็บวชตาม แต่คิดทำลายพระพุทธเจ้า เพื่อตนจะได้เป็นใหญ่ในสังฆมณฑลอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งจึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่าพระองค์มีอายุมากแล้วขอให้ตนได้ปกครองสงฆ์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ เทวทัตยิ่งมีเพลิงโทสะแรงมากขึ้นในอก และพยายามหาหนทางวิทีในการกำจัดพระพุทธเจ้าให้พ้นทางแห่งความมักใหญ่ของตนเอง
การประทุษร้ายต่อพระพุทธเจ้าครั้งที่ 1
เทวทัตทูลขอนักแม่นธนูจากพระเจ้าอชาตศัตรูให้ไปลอบยิงพระบรมศาสดาด้วยศรอาบยาพิษและส่งนักแม่นธนูอีกพวกหนึ่งไปฆ่าปิดปากเพชฌฆาต แต่นายทหารเหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์เกิดความเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไปตลอดชีวิต
การประทุษร้ายต่อพระพุทธเจ้าครั้งที่ 2
เมื่อแผนการในครั้งแรกไม่สำเร็จ เทวทัตจึงลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏ ในเวลาเช้า แล้วผลักก้อนหินใส่พระบรมศาสดา ขณะเสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ แต่ด้วยพุทธานุภาพก้อนหินขนาดใหญ่ไม่ถูกพระวรกาย เพียงแต่มีสะเก็ดหินชิ้นหนึ่งกระเด็นมาต้องพระบาทจนเกิดห้อพระโลหิตขึ้นเท่านั้น
การประทุษร้ายต่อพระพุทธเจ้าครั้งที่ 3
เทวทัตไปหาคนเลี้ยงช้างหลวงอ้างว่าเป็นพระญาติของพระเจ้าอชาตศัตรู สั่งให้มอมเหล้า พญาช้างนาฬาคิรี ด้วยน้ำสุราถึง 16 กระออม เพื่อให้พญาช้างที่กำลังตกมันเกิดความคลุ้มคลั่งแล้วปล่อยไปทำร้ายพระพุทธเจ้า (บางตำราบอกว่า พระเทวทัตขอพระราชทานพญาช้างจากพระเจ้าอชาตศัตรู) พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจิต พญาช้างหมอบลงเอางวงจับฝุ่นที่พระบาทพระศาสดาขึ้นโรยใส่กระพอง (ส่วนที่นูนเป็นปุ่มสองข้างศิรษะช้าง) และกลับสู่โรงช้างตามเดิม
เทวทัตทูลขอวัตถุ 5 ประการ
เมื่อกระทำการไม่สำเร็จ เทวทัตได้ชักชวนภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง อันมีพระโกกาลิกะเป็นต้น เข้าไปกราบทูลข้อเสนอ 5 ประการ (วัตถุ 5) ต่อพระบรมศาสดา คือ
1. ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ
2. ให้ภิกษุถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ
3. ให้ภิกษุถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับคฤหบดีจีวร (ผ้าที่เขาถวาย) มีโทษ
4. ให้ภิกษุอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ
5. ให้ภิกษุห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ฉันมีโทษ
พระบรมศาสดาทรงปฏิเสธใน 4 ข้อข้างต้น แต่ภิกษุใดจะปฏิบัติโดยสมัครใจก็ไม่บังคับ และในข้อที่ 4 นั้นทรงอนุญาตให้อยู่โคนไม้ได้ 8 เดือน ช่วงเข้าพรรษาซึ่งตรงกับฤดูฝนให้อยู่ประจำวัด ส่วนข้อที่ 5 นั้นทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อที่บริสุทธิ์โดยเงื่อนไข 3 ประการ คือไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจ ว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน
เทวทัตกระทำสังฆเภท
เทวทัตชักชวนภิกษุบวชใหม่ที่หลงผิดได้จำนวนหนึ่ง พาแยกไปทำอุโบสถ ณ ตำบลยาสีสะ พระบรมศาสดาจึงส่งพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระไปแสดงพระธรรมเทศนาจนพระภิกษุที่หลงผิดได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาบันและกลับมาสู่สำนักพระพุทธองค์อย่างเดิม เทวทัตทราบเรื่องเสียใจถึงกับอาเจียนเป็นโลหิตและอาพาธ เกิดสำนึกในความผิดขอให้พระที่เป็นศิษย์หามมาเฝ้าพระบรมศาสดา แต่ระหว่างทางถูกธรณีสูบและไม่ได้ผุดได้เกิดเพราะก่ออนันตริยกรรม ถือเป็นกรรมหนักหนาสาหัสที่สุด และก่อนที่ร่างจะจมหายไปได้ขอประทานอภัยและถวายลูกคางเป็นพุทธบูชา
1. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
5. สังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน
ผู้ที่ถูกธรณีสูบสมัยพุทธกาล 1. สุปปพุทธศากยราช เหตุเพราะ ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า 2. พระเทวทัต เหตุเพราะทำสังฆเภท , ทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด 3. นางจิญจมาณวิกา เหตุเพราะใส่ความพระพุทธองค์ ในอสัทธรรมอันไม่เป็นจริง 4. นันทมาณพ เหตุเพราะ ประทุษร้าย นางอุบลวรรณาเถรี (ภิกษุณีผู้สำเร็จพระอรหันต์) 5. นันทยักษ์ เหตุเพราะ ประหารพระสารีบุตร |