xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยถูกโรคหัวใจและหลอดเลือดคุกคามหนัก เผยตายชั่วโมงละ 5 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยขณะนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดกำลังคุกคามสุขภาพคนไทยอย่างหนัก ล่าสุดพบป่วย 991,413 ราย เสียชีวิต 40,092 ราย เฉลี่ยป่วยนาทีละ 2 คน ตายชั่วโมงละ 5 คน เหตุจากเพลินกินแต่เมินกินผัก เมินออกกำลังกาย ผลสำรวจล่าสุดพบคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไป 2 ใน 3 ไม่ออกกำลังกาย อีกเกือบ 90% กินผักน้อยมาก โดยพัทลุง มหาสารคาม และตรัง ขึ้นชื่อกินผักน้อยสุดในประเทศ


ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 25 กันยายน 2548 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศทั่วโลก รณรงค์ป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 17 ล้านคน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คาดว่าในปีอีก 15 ปีหรือใน พ.ศ. 2563 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 25 ล้านคน โดยอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา 19 ล้านคน หรือ 76% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด องค์การอนามัยโลกได้ชูประเด็นรณรงค์ในปีนี้คือ “หัวใจดี มีหุ่นสวย รวยพลัง” (Healthy weight, Healthy shape) มุ่งเน้นในเรื่องการควบคุมน้ำหนักตัวและรักษารูปร่างให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกาย

ในส่วนของประเทศไทย พบโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุหลักการป่วยและตายของคนไทย ในรอบ 5 ปีมานี้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 3-17 เท่าตัว ล่าสุดในปี 2546 ทั่วประเทศมีผู้ป่วย 991,413 ราย เฉลี่ยนาทีละ 2 คน เสียชีวิต 40,092 ราย หรือชั่วโมงละ 5 คน ทั้งนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2545 กว่า 136,000 ราย

ศ.นพ.สุชัย กล่าวต่อว่า แนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจก่อนหน้านี้มักพบอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้พบในอายุที่น้อยลง หมายถึงป่วยเร็วขึ้น ในปี2546 พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในกลุ่มอายุ 20-34 ปีถึง 3 % โดยต้นเหตุที่เป็นชนวนก่อเกิดของโรคดังกล่าวที่สำคัญที่สุด คือ โรคน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน เพราะการกินกับการใช้พลังงานไม่สมดุลกัน

ส่วนผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2547 ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่า มีผู้ออกกำลังกายเป็นประจำน้อยมากเพียง 29% ที่เหลืออีก 71% ไม่ออกกำลังกาย อาจประมาณว่ามีคนไทยราว 30 ล้านคน กำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น พบว่า คนไทยยุคใหม่ไม่ค่อยกินผัก ผลสำรวจการกินผักในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2547 พบมีผู้กินผักวันละ 400-500 กรัม หรือประมาณ 4-6 ทัพพีซึ่งเป็นมาตรฐาน น้อยมากเพียง 12% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพืชผักนานาชนิดตลอดปี โดยจังหวัดที่บริโภคผักน้อยที่สุดในประเทศ ได้แก่ พัทลุงเพียง 2% รองลงมาคือมหาสารคาม 4% และตรัง 5%

ทั้งนี้ ต่อวันผู้ใหญ่ควรกินผัก(ที่หั่นแล้ว)ให้ได้อย่างน้อยวันละ 4-6 ทัพพี ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ควรกินให้ได้อย่างน้อยวันละ 4 ทัพพี ผลดีของการกินผักจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายและสะดวกขึ้น เนื่องจากมีเส้นใยมาก เส้นใยดังกล่าวจะช่วยลดการสร้างและดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ลักษณะรูปร่างคนอ้วนที่จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก คือ อ้วนที่รอบเอวและอก ที่เรียกว่าหุ่นลูกแอปเปิ้ลหรือคนไทยเรียกว่าหุ่นถังเบียร์ ลักษณะคือป่องที่พุง มักพบในผู้ชาย การอ้วนแบบนี้ทำให้ไขมันไปสะสมรอบ ๆ อวัยวะภายใน และเกาะตามเส้นเลือด ส่วนความอ้วนแบบลูกชมพู่หรือลูกแพร์ ไขมันมักจะสะสมที่ใต้ผิวหนังทำให้สะโพกและต้นขาใหญ่ มักพบในผู้หญิงมากกว่า ฉะนั้นผู้ที่มีไขมันสะสมรอบเอวมากแบบลูกแอปเปิ้ลจะมีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าหุ่นรูปชมพู่ และคนอ้วนจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเร็วขึ้น 4 - 8 ปี หากอ้วนตั้งแต่เด็กก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ก่อนวัยอันควรคือ 65 ปีเร็วขึ้น 3-5 เท่า

วิธีการที่ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยตนเองอย่างง่าย ก็คือ การประเมินค่าดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอ (BMI) โดยคิดจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม แล้วหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง หากได้ค่าเกิน 25 จัดว่าอยู่ในข่ายน้ำหนักเกิน หากเกิน 30 ขึ้นไปแสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วน หรืออาจใช้วิธีการวัดเส้นรอบเอวแทนก็ได้ โดยผู้ชายไม่ควรเกิน 36นิ้ว ส่วนผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว

นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเข้าข่ายอ้วนควรลดน้ำหนักให้ถูกวิธี อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนคนที่น้ำหนักปกติก็ต้องควบคุมดูแลน้ำหนักเพื่อให้ได้ “หัวใจดี มีหุ่นสวย รวยพลัง” วิธีที่ดีที่สุดก็คือควบคุมการกินอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สำหรับอาหารควรใช้เมนูที่เหมาะสม รสชาติกำลังดี ไม่หวานเกินไป ไม่เค็มมากและไม่มันเกินไป หลีกเลี่ยงการทอด หรือผัดที่ใช้น้ำมันมาก ควรใช้วิธีย่าง ปิ้ง อบนึ่ง ตุ๋น เผาแทน และลดอาหารที่มีไขมัน เพิ่มธัญพืช ผัก และถั่วต่างๆ และอาหารพวกเนื้อปลาแทนเนื้อสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น