xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.วิชัย ประยูรวิวัฒน์/ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เป็นโรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา สาเหตุการเกิดโรคนั้นมีผู้ศึกษากันอย่างกว้างขวาง ทำให้ทราบสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค เกิดจากความผิดปกติระดับโมเลกุลในเซลล์ทำให้กลายเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้แก่

1.ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น พบว่าคนในครอบครัวเดียวกันจะมีมากกว่าในคนทั่วไป

2.สิ่งแวดล้อม ภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สารเคมี การสัมผัสกับสารพิษ หรือยาบางอย่าง

3.ภาวะติดเชื้อ ที่มีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ไม่สามารถขจัดเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น ได้จึงมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนกลายเป็นมะเร็งได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์จะเกิดมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองได้บ่อยกว่าปกติมาก

- เชื้อไวรัส Epstein-Barr ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้หลายชนิด

- Helicobacter pyroli เป็นเชื้อเบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองที่เป็นที่กระเพาะอาหาร

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยอาจมีไข้เรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจงดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก มีเหงื่อออกกลางคืน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ซึ่งแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้หลายสิบชนิด แต่ละชนิดมีความรุนแรงและรักษาได้ยากง่ายแตกต่างกัน โดยจะมีอาการข้างต้นแตกต่างกัน ในระยะแรกๆ ของการเป็นโรคผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ ได้ คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคมักจะมาพบแพทย์เมื่อโรคเป็นระยะลุกลามไปมากแล้ว

อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต จะคลำได้เป็นก้อนต่อมน้ำเหลืองที่ คอ ใต้คาง ไหปลาร้า ใต้กราม หลังใบหู ท้ายทอย รักแร้ บริเวณข้อศอก ขาหนีบ ข้อพับขา หรือบริเวณผิวหนังทั่ว ๆ ไปเป็นก้อนใต้ผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดมีผิวหนังมีผื่นแดงได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้เกือบทุกอวัยวะมากน้อยแตกต่างกัน เช่น

- ปอด หากมะเร็งลุกลามหรือเป็นที่ปอดผู้ป่วยอาจมีอาการหอบเหนื่อย ไอ เจ็บเวลาหายใจลึก ๆ หรือไออาจไอเป็นเลือดคล้ายวัณโรค หายใจมีเสียง ภาพรังสีทรวงอก มีก้อน มีน้ำในช่องปอด หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดโต

- หัวใจ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจลุกลามมาที่เยื้อหุ้มหัวใจ ทำให้มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจหากมีจำนวนมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของการทำงานของหัวใจล้มเหลวได้ เช่น หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาหอบในตอนกลางคืน ต้องนอนหนุนหมอนสูง มีอาการบวมที่ขาทั้งสองข้างกดบุ๋ม

- สมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองลุกลามไปที่สมองได้ในระยะแพร่กระจาย หรือ เป็นเริ่มที่สมอง ซึ่งอาจเป็นก้อน ผู้ป่วยจะมีอาการขึ้นกับขนาดและตำแหน่งที่เป็น อาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ จากมีความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น การเจาะน้ำไขสันหลังตรวจจะพบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

- ตา อาจมีตาโปน มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หากเป็นที่หนังตาจะทำให้หนังตาเป็นก้อนแข็งคลำได้

- โพรงจมูก ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายไซนัสอักเสบเรื้อรัง รักษาอยู่นานไม่หายอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

- เหงือก จะมีเหงือกบวมโตขึ้น ทำให้ฟันโยกหลุดง่าย

- ต่อมทอนซิล มีต่อมทอนซินโตอักเสบได้ อาจโตมากจนทำให้กลืนอาหารลำบาก

- ลิ้น ลิ้นโตขึ้นมีก้อนในลิ้น

- ตับ ตับโต กดเจ็บ เหลืองจากการทำงานของตับผิดปกติ แน่นท้อง

- ม้าม มีม้ามโต แน่นอึดอัดในท้องในรายที่เป็นที่ม้าม

- กระเพาะอาหาร มีอาการปวดท้อง แสบท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร บางรายเป็นมากอาจทำให้มีกระเพาะอาหารทะลุได้ หรือ อาเจียนเป็นเลือด

- ลำไส้ ผู้ป่วยจะมีก้อนในท้อง คลำได้ก้อนในท้อง บางรายเป็นมากจนมีอาการของลำไส้อุดตัน คือ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง หรือถ่ายเป็นเลือดสด ๆ

- ไขสันหลัง ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่โตจะกดไขสันหลังทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ตามตำแหน่งที่กด เช่น แขนอ่อนแรง ขาชา ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้

- อัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะใหญ่โตขึ้น แข็งขึ้น

- ทวารหนัก มีก้อนที่ทวารหนัก หากอยู่ลึกอาจมีอาการคล้ายลำไส้อุดตัน

- ผิวหนัง มีก้อนตามผิวหนังค่อนข้างแข็ง

นอกจากนี้ ยังแบ่งตามอาการเพิ่มเข้าไปอีกเป็นระยะ A ไม่มีอาการ และ ระยะ B มีอาการ คือ มีไข้ หรือ น้ำหนักลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ใน ระยะเวลา 6 เดือน

การรักษา

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งเป็นการรักษาประคับประคอง และการรักษาเฉพาะ

การรักษาประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอย่างใดให้แก้ไขตามนั้น เช่น มีไข้ ติดเชื้อ ควรหาสาเหตุและให้ยาปฏิชีวนะที่ตูกต้องเหมาะสม หากซีด ให้เลือดตามความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ เป็นต้น

การรักษาเฉพาะ มีจุดประสงค์เพื่อให้หาขาดจากโรค เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรคสงบให้นานที่สุด และเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวที่สุดอย่างมีคุณภาพ

ในปัจจุบันผลการรักษาสามารถทำให้ ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระยะสงบและมีชีวิตยืนยาวนานกว่า 2 ปีขึ้นไป มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดที่มีการเจริญเติบโตช้าจะมีชีวิตยืนยาวได้นานหลายปีอาจมากกว่า 10 ปีโดยที่อยู่กับโรคได้โดยไม่รบกวนผู้ป่วยมากนัก ในปัจจุบันมีการพัฒนายาที่ใช้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมียาที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการข้างเคียงของยา เช่น คลื่นไส้อาเจียน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทนต่อการให้ยาได้ดี นอกจากนี้ยังมียากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวที่มีประสิทธิภาพดี ช่วยลดภาวะการติดเชื้อได้และทำให้การให้ยาเคมีบำบัดได้เต็มที่ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดหายขาดได้

การักษามะเร็งของต่อมน้ำเหลืองจะได้ผลดีนั้นนั้นขึ้นกับ

1.กลุ่มผู้รักษาพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ

แพทย์มีการวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมถูกต้องซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ การพยากรณ์ของโรค เศรษฐฐานะของผู้ป่วยเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด แพทย์จะต้องตรวจค้นให้ได้ชนิดและระยะของโรคได้อย่างถูกต้อง พยาบาลให้การพยาบาล ให้ยาเคมีบำบัดได้อย่างดีถูกต้อง เป็นการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

2.กลุ่มผู้ป่วย การพยากรณ์ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นกับ

- อายุ หากอายุมากกว่า 60 ปีไม่ดี
- ระยะของโรค ระยะที่ III และ IV ไม่ดี
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- สภาวะของผู้ป่วยหากช่วยตัวเองไม่ค่อนได้ไม่ดี เป็นต้น
- ขนาดของก้อนใหญ่มากกว่า 10 เซ็นติเมตรและเป็นนอกต่อมน้ำเหลืองมากกว่าสองแห่ง

ผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการรักษาดีจะมีการพยากรณ์ดีกว่า เช่นปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งคัด มาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาอย่างถูกต้องตามสั่ง มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นรีบแก้ไขมาพบแพทย์ เข้าใจการดำเนินของโรค ศึกษาโรคที่ตนเองเป็นอยู่ตามสมควรด้วยวิธีการที่ถูกต้องมีเหตูมีผล ไม่เข้าใจสิ่งใดควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ มอบความไว้วางใจให้ หากไม่ไว้วางใจจะต้องเปลี่ยนแพทย์ที่ดูแลเป็นแพทย์ที่ไว้วางใจได้ การรักษาจึงจะได้ผลที่ดีที่สุด

กลุ่มญาติ ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีญาติส่วนหนึ่งที่โดยทั่วไปจะมีความหวังดีอย่างมากต่อผู้ป่วย จึงจะมาช่วยกันรักษาบอกถึงยาดีต่าง ๆ มากมายหรือบอกวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ตนเองเชื่อว่าจะได้ผลดีต่อผู้ป่วยอย่างจริงใจ ซึ่งบางส่วนอาจเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นและไม่ต่อเนื่องเป็นผลเสียต่อคนไข้ คนกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ที่ผู้ป่วยเคารพนับถือหากผู้ป่วยไม่เชื่อก็จะไม่สบายใจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยทั้งการปฏิบัติตามและไม่ปฏิบัติตาม

การผ่าตัด มักจะใช้ในการวินิจฉัยมากกว่าการรักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ระยะต้น ๆ จะไม่มีต่อมน้ำเหลืองโตภายนอกให้เห็น และผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการมีก้อนทำให้เกิดลำไส้อุดตันหรือไม่ก็มีเลือดออกในกระเพาะอาหารจำเป็นต้องผ่าตัด เป็นต้น

การฉายแสง ในปัจจุบันนำมาใช้ในการรักษาร่วมในกรณีที่เป็นที่ตำแหน่งที่ยาเคมีบำบัดเข้าไม่ถึงหรือน้อย เช่น สมอง โพรงจมูก ลูกตา หรือมีก้อนใหญ่โตมากให้ยาเคมีบำบัดแล้วก้อนไม่ยุบลง ก้อนไปกดหลอดเลือดดำใหญ่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ superior vena cava การใช้รังสีรักษาอย่างเดียวในรายที่เป็นระยะ I จริง ๆ ซึ่งพบน้อยมากในคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น