นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาย้ำเข็มขัดบริหารร่างกายไม่ช่วยกระชับหุ่นหรือลดน้ำหนักได้ และหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายได้ ขณะเดียวกันมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ อย.ต้องเร่งเข้าควบคุมดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยด่วนทั้งทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต เพราะมีเนื้อหาหลอกลวงผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น
วารสารฉลาดซื้อ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฉบับล่าสุด ได้นำเสนอข้อมูลของเข็มขัดกระชับหุ่น ที่กำลังมีการโฆษณาขายทั้งทางโทรทัศน์และทางอินเทอร์เน็ตกันอย่างคึกคักในเวลานี้ โดยนายมงคล ใจดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ตามหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬานั้นยังไม่มีเครื่องมือกายภาพบำบัดใดที่จะช่วยลดน้ำหนักคนเราได้ เครื่องมือบางอย่างอย่างมีการโฆษณาเกินจริง อย่างนำมาคาดเฉยๆ ก็ผอมเลยอย่างนั้นมันไม่มี นอกจากจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นทำให้เราต้องออกกำลังกายแต่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในทางอ้อม
“ไม่ใช่ว่าพอไปคาดแล้วส่วนนั้นมันจะลดลง นั่นไม่ใช่เลย” ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬากล่าว
ผศ.ดร.เฉลิม ชัยวัชราภรณ์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การขับไขมันออกจากร่างกาย(ที่ได้ผล)นั้นก็คือการเผาผลาญไขมันด้วยการออกกำลังกายด้วยความเหนื่อยที่ถูกต้อง อีกอย่างคือการเฉือนไขมันออกจากร่างกายหรือดูดไขมันออก ซึ่งนอกเหนือจากวิธีการเหล่านี้ไม่มีวิธีการอื่น
การใช้เข็มขัด (ที่อ้างว่า) ลดความอ้วนนั้น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาได้ให้ข้อมูลว่า อาจจะมีความร้อนเข้าไปช่วย หรือเกิดการสั่นทำให้ไขมันกระจาย แต่ไขมันไม่ได้ถูกขับออกจากร่างกาย ความร้อนอาจจะช่วยให้ไขมันส่วนนั้นกระจายและไปอยู่ที่ส่วนอื่นของร่างกาย แต่ไม่นานก็จะกลับมาเหมือนเดิม
ส่วนข้ออ้างที่ว่าเข็มขัดบริหารร่างกายที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคนเรากระชับขึ้น ผศ.ดร.เฉลิมกล่าวว่า กล้ามเนื้อของคนเรานั้น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะมีประจุไฟฟ้าบวก และกล้ามเนื้อคลายตัวจะเป็นลบ ร่างกายของคนเราจะมีประจุไฟฟ้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันแต่ไม่หวังผลเพราะไม่ได้ขับไขมันออกจากร่างกาย ถ้าหากทำอย่างถูกวิธีก็จะช่วยกระชับกล้ามเนื้อได้ในบางส่วน แต่ถ้าทำไม่ถูกวิธีจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด นั่นคือทำให้บริเวณส่วนนั้นถูกกระตุ้นมากเกินไปทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้
“การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในลักษณะนี้ทางการแพทย์ (กายภาพบำบัด)ยังไม่รับรองว่าได้ผลกับคนพิการที่จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ เพราะการรักษาที่ถูกวิธีคือให้ผู้ป่วยเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อเป็นการสร้างใยกล้ามเนื้อ และยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าการกระตุ้นโดยไม่มีการสั่งการที่ประสาท (อย่างการให้เข็มขัดเป็นตัวกระตุ้นแทน) จะช่วยเสริมสร้างใยกล้ามเนื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้การที่กล้ามเนื้อไม่ได้ถูกกระตุ้นจากระบบประสาทของร่างกาย ก็จะส่งผลให้มีการกระตุ้นกล้ามเนื้อเพียงบางมัดบางส่วนเท่านั้น อาจทำให้กล้ามเนื้อพัฒนาผิดส่วนได้” ผศ.ดร.เฉลิมกล่าว
จากการสำรวจของวารสารฉลาดซื้อพบว่ามีการโฆษณาขายเข็มขัดกระชับบริหารร่างกายกันทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และทางอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว จากคำโฆษณาจะเห็นได้ว่าผู้เสนอขายผลิตภัณฑ์พยายามที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ามันช่วยลดน้ำหนัก หรือรักษาทรวดทรงให้สวยงามได้จริง ทั้งด้วยการโฆษณาสรรพคุณหรือการตั้งเป็นชื่อสินค้าที่ให้ความหมายในทำนองใช้แล้วจะผู้หญิงหุ่นดี หรือเป็นเข็มขัดที่ทำให้น้ำหนักหายไปได้ คำโฆษณาตรงๆ อย่างการกำจัดไขมัน การตีไขมัน หรือลดน้ำหนักโดยไม่ต้องไปออกกำลังกาย จะพบได้มากและบ่อยในเว็บไซต์และจากการสอบถามพนักงานขาย
เมื่อตรวจสอบถึงระบบการทำงานของเข็มขัดบริหารร่างกาย พบว่าเป็นเครื่องมือที่ประยุกต์เอาคุณสมบัติการทำงานของเครื่องนวด เครื่องกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และเครื่องให้รังสีอินฟราเรด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าเข้ามารวมไว้ด้วยกัน อุปกรณ์เหล่านี้ที่ผ่านมาเคยมีการโฆษณาขายอย่างครึกโครมมาแล้ว มีผู้คนหลงเชื่อพากันซื้อหากันมากพอสมควร แต่พอใช้แล้วไม่ได้ผลก็เสื่อมความนิยมลงไป เหตุผลสำคัญที่เครื่องมือเหล่านี้ไม่มีคุณค่าพอที่จะเลือกซื้อหามาใช้ เนื่องจากจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ ยืนยันได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะมีคุณสมบัติช่วยกำจัดไขมันหรือลดน้ำหนัก หรือทำให้ผิวพรรณกระชับ เต่งตึงได้โดยไม่ต้องออกกำลังกาย ซ้ำหากใช้โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจก่อเกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ควรดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่โฆษณาสินค้าหลอกลวงเหล่านี้ที่มีทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือทางอินเทอร์เน็ต และให้มีการสั่งเก็บสินค้าออกจากท้องตลาดโดยด่วนหากยังไม่มีผลวิชาการที่น่าเชื่อถือรับรองในประสิทธิภาพการทำงานของเข็มขัดบริหารร่างกายว่าใช้ได้ผลจริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายหรือถูกหลอกลวงจากการซื้อใช้เข็มขัดบริหารร่างกายเหล่านี้