“หนุมาน ชาญสมร” ทหารคู่ใจพระรามในรามเกียรติ์ กลายร่างเป็น “หนุแมน” ฮีโร่ไทยพันธุ์ใหม่...ในการ์ตูนบู๊ ระห่ำ
แล้วอะไรจะเกิดขึ้น???
เมื่อภารกิจหน้าที่ของ “หนุมาน” เปลี๊ยนไป๋ การต่อสู้มิใช่เพื่ออารักขาพระราม-พระลักษณ์เท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องโลกจากเหล่าร้ายต่างดาวด้วย และความชุลมุนยุ่งๆ ในโลกการ์ตูนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการก็อุบัติขึ้น...
หลายคนที่ได้สัมผัสการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ ลูกผสมไทย-ญี่ปุ่น อิงวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นหนุแมน ไกรทอง อภัยมณีซาก้า คงมีหลากหลายความคิด บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ แตกต่างกันไป
-1-
วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอผลวิจัยเรื่อง “การสื่อความหมายในการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากเด็กนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังสือ รวมทั้งครู-อาจารย์วิชาภาษาไทย ผู้สอนวิชาวรรณคดีไทย เพื่อเป็นการแสวงหาเส้นทางการปรับตัวของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ในบริบทสังคมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกหนังสือการ์ตูน 2 เล่ม คือหนุแมนและไกรทองของสำนักพิมพ์บุรพัฒน์ คอมมิกส์ เป็นกรณีตัวอย่างในการวิจัย
วรัชญ์อธิบายความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ว่า การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่เป็นผลผลิตจากการผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม เป็นส่วนผสมระหว่างเนื้อหาแบบไทยๆ ลายเส้นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมการ์ตูนของไทยคงมีเพียง 2 รูปแบบ คือ ภาพล้อหรือการ์ตูนตลกขบขัน เช่น ขายหัวเราะ เบบี้ หนูจ๋า และการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งมีลายเส้นเหมือนจริง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ชู้สาว ซึ่งเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่า จนมาถึงปัจจุบันรูปแบบ แนวลักษณะหนังสือการ์ตูนค่อยๆ เปลี่ยนไป ถึงแม้ของเดิมยังอยู่แต่การ์ตูนแนวใหม่ก็เกิดขึ้นจากนักเขียนการ์ตูนยุคที่เติบโตมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้ลายเส้นและเนื้อหาของเรื่องถูกครอบงำโดยอิทธิพลต่างประเทศค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อได้วิเคราะห์โครงเรื่อง แก่นของเรื่องหรือแนวคิดสำคัญ พระเอก ตัวประกอบ ผู้ร้าย เวลา สถานที่ เครื่องแต่งกาย วิธีการเดินทาง และอาวุธที่ตัวละครใช้ของหนังสือการ์ตูนทั้ง 2 เรื่อง สรุปได้ว่าการที่มีหลายสิ่งหลายอย่างในการ์ตูนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องหนุแมนที่มีการรักษารูปแบบของวรรณคดีเพียงบางส่วน เช่น ตัวละคร และเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง ส่วนเนื้อหาความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากโครงเรื่องที่เปลี่ยนแปลงจากโรแมนติก แฟนตาซี ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ มาเป็น แอกชันคอมเมดี้ แฟนตาซี
ส่วนเรื่องไกรทอง มีการเปลี่ยนจากอิโรติกแฟนตาซี เป็นแอกชันแฟนตาซี แต่ยังคงเนื้อหาได้ครบถ้วน ถึงแม้ว่าแก่นของเรื่องไกรทองถูกลดทอนความสำคัญเรื่องความรักใคร่ เจ้าชู้ มีเมียหลายคน กลายเป็นรักเดียวใจเดียวและต่อสู้เพื่อความรักแทน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือลายเส้นสตอรี่บอร์ดให้เข้ากับรสนิยมของผู้อ่าน
นอกจากนี้รูปแบบของตัวพระเอกในเรื่องทั้งพระลักษณ์ พระราม ก็ถูกแบบฉบับความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กลายเป็นฮีโร่ อีกทั้งหนุมานก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อพระราม-พระลักษณ์ แต่เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม ต่อสู้กับเหล่าร้ายเพื่อปกป้องโลก
สำหรับบทบาทของตัวละครไม่ว่าจะเป็นนางเอก ตัวประกอบ ผู้ร้าย ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เกือบหมด อาทิ นางเอกของเรื่องหนุแมน กลายเป็น “สุวรรณมัจฉา” ครึ่งคนครึ่งปลา ภรรยาของหนุมาน หรือในเรื่องไกรทอง ที่นางเอกกลายเป็นนางวิมาลาซึ่งเป็นจระเข้ แทนที่จะเป็นตะเภาแก้ว-ตะเภาทองในนิทานพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีการสร้างตัวละครใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเพื่อเพิ่มสีสันและสนุกสนานเพิ่มขึ้น
อีกทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ อาวุธ เครื่องแต่งกายถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเนื้อหา ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง อาวุธของหนุแมนมีฤทธิ์ปล่อยแสงเลเซอร์ได้ ราชรถม้าศักดิ์สิทธิ์ของพระอินทร์กลายเป็นราชรถเทียมม้ากับสัตว์อสูรตามแบบฉบับของการ์ตูนแฟนตาซี แม้แต่เครื่องแต่งกายก็เน้นสีสันความแปลกตา เป็นต้น และแม้ว่าจะมีหลายอย่างที่ผิดเพี้ยนไป แต่ส่วนหนึ่งที่ยังคงเดิมคือแก่นของเรื่องโดยหนุแมนยังสะท้อนให้เห็นถึง แนวคิด “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์”
-2-
วรัชญ์บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยคงไว้เฉพาะตัวเอกหรือเหตุการณ์สำคัญบางตอนในเรื่องหนุแมนนั้น เนื่องจากผู้เขียนต้องการที่จะให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงและง่ายต่อการเปิดรับ เนื่องจากเป็นตัวละครเดิมที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การนำวรรณคดีมาสร้างใหม่เป็นการ์ตูนนั้นสามารถดึงดูดเด็กเยาวชนให้สนใจหยิบจับหนังสือมาอ่านมากขึ้น มากกว่าหนังสือวรรณคดีที่เป็นร้อยแก้วอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นจะสนใจว่านักเขียนไทยเขียนเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก ปรากฏว่ามีเด็กและครูที่ชอบและไม่ชอบการ์ตูนพันธุ์ใหม่ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน
ที่เห็นด้วยและพอใจเมื่อได้อ่านหนังสือการ์ตูนแล้ว คือข้อคิดคติสอนใจที่ได้จากเรื่อง และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนจากความเชื่อในเรื่องโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเหนือธรรมชาติมาสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีความขัดแย้งกับความรู้สึกของกลุ่มผู้อ่านที่มีพื้นความรู้เรื่องวรรณคดีอย่างมาก นอกจากนี้ยังคัดค้านโครงเรื่องแบบต่อสู้อุตลุด และการมีเวลาที่เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันและการเน้นย้ำความเป็นฮีโร่ที่มีมากเกินไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้อ่านที่มีความรู้ด้านวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านอยู่ก่อนแล้วจะไม่เห็นด้วย มีการตั้งคำถามและข้อโต้แย้งต่างๆ มากมาย บางคนถึงกับกล่าวว่าการ์ตูนมั่วมากไป อาจส่งผลเสียต่อวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านของไทย ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนความรู้เลยจะชอบ และสนุกกับการอ่านการ์ตูนมากกว่าโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก
ดังนั้น วรัชญ์จึงเสนอแนะให้การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ที่อิงวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านควรมีแก่นเรื่องที่คงความหมายเดิมที่สำคัญเอาไว้ โดยเปลี่ยนเพียงเปลือกนอกเท่านั้น และควรมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรม วรรณคดีนั้นๆ โดยศึกษาและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะนำมาผลิตในรูปแบบการ์ตูน โดยให้เกิดความลงตัวและเป็นที่พึงพอใจทุกฝ่าย
ปัจจุบันการ์ตูนที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็น รามเกียรติ์ ฉบับรามาวตาร ของสำนักพิมพ์บันลือสาส์น หรือรามเกียรติ์ ฉบับการ์ตูนของสำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กและเยาวชน เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจรักการอ่าน พร้อมแสวงหาความรู้จากในหนังสือมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วรัชญ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การเลือกเสพสื่อเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเด็กจะเลือกอ่านอะไร ผู้ใหญ่ก็ควรเข้าไปกำกับดูแล เนื่องจากเด็กอาจยังไม่มีความสามารถในการเลือกอ่านหนังสือที่ดีมีประโยชน์ได้เอง อย่าลืมว่า การ์ตูน นิทาน ก็มีส่วนในการช่วยพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากเด็กจะซึมซับสิ่งที่เรียนรู้ผ่านการ์ตูนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว




แล้วอะไรจะเกิดขึ้น???
เมื่อภารกิจหน้าที่ของ “หนุมาน” เปลี๊ยนไป๋ การต่อสู้มิใช่เพื่ออารักขาพระราม-พระลักษณ์เท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องโลกจากเหล่าร้ายต่างดาวด้วย และความชุลมุนยุ่งๆ ในโลกการ์ตูนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการก็อุบัติขึ้น...
หลายคนที่ได้สัมผัสการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ ลูกผสมไทย-ญี่ปุ่น อิงวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นหนุแมน ไกรทอง อภัยมณีซาก้า คงมีหลากหลายความคิด บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ แตกต่างกันไป
-1-
วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอผลวิจัยเรื่อง “การสื่อความหมายในการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่” โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากเด็กนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังสือ รวมทั้งครู-อาจารย์วิชาภาษาไทย ผู้สอนวิชาวรรณคดีไทย เพื่อเป็นการแสวงหาเส้นทางการปรับตัวของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ในบริบทสังคมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกหนังสือการ์ตูน 2 เล่ม คือหนุแมนและไกรทองของสำนักพิมพ์บุรพัฒน์ คอมมิกส์ เป็นกรณีตัวอย่างในการวิจัย
วรัชญ์อธิบายความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ว่า การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่เป็นผลผลิตจากการผสมข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรม เป็นส่วนผสมระหว่างเนื้อหาแบบไทยๆ ลายเส้นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมการ์ตูนของไทยคงมีเพียง 2 รูปแบบ คือ ภาพล้อหรือการ์ตูนตลกขบขัน เช่น ขายหัวเราะ เบบี้ หนูจ๋า และการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งมีลายเส้นเหมือนจริง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ชู้สาว ซึ่งเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่า จนมาถึงปัจจุบันรูปแบบ แนวลักษณะหนังสือการ์ตูนค่อยๆ เปลี่ยนไป ถึงแม้ของเดิมยังอยู่แต่การ์ตูนแนวใหม่ก็เกิดขึ้นจากนักเขียนการ์ตูนยุคที่เติบโตมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้ลายเส้นและเนื้อหาของเรื่องถูกครอบงำโดยอิทธิพลต่างประเทศค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อได้วิเคราะห์โครงเรื่อง แก่นของเรื่องหรือแนวคิดสำคัญ พระเอก ตัวประกอบ ผู้ร้าย เวลา สถานที่ เครื่องแต่งกาย วิธีการเดินทาง และอาวุธที่ตัวละครใช้ของหนังสือการ์ตูนทั้ง 2 เรื่อง สรุปได้ว่าการที่มีหลายสิ่งหลายอย่างในการ์ตูนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องหนุแมนที่มีการรักษารูปแบบของวรรณคดีเพียงบางส่วน เช่น ตัวละคร และเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง ส่วนเนื้อหาความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากโครงเรื่องที่เปลี่ยนแปลงจากโรแมนติก แฟนตาซี ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ มาเป็น แอกชันคอมเมดี้ แฟนตาซี
ส่วนเรื่องไกรทอง มีการเปลี่ยนจากอิโรติกแฟนตาซี เป็นแอกชันแฟนตาซี แต่ยังคงเนื้อหาได้ครบถ้วน ถึงแม้ว่าแก่นของเรื่องไกรทองถูกลดทอนความสำคัญเรื่องความรักใคร่ เจ้าชู้ มีเมียหลายคน กลายเป็นรักเดียวใจเดียวและต่อสู้เพื่อความรักแทน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือลายเส้นสตอรี่บอร์ดให้เข้ากับรสนิยมของผู้อ่าน
นอกจากนี้รูปแบบของตัวพระเอกในเรื่องทั้งพระลักษณ์ พระราม ก็ถูกแบบฉบับความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กลายเป็นฮีโร่ อีกทั้งหนุมานก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อพระราม-พระลักษณ์ แต่เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม ต่อสู้กับเหล่าร้ายเพื่อปกป้องโลก
สำหรับบทบาทของตัวละครไม่ว่าจะเป็นนางเอก ตัวประกอบ ผู้ร้าย ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เกือบหมด อาทิ นางเอกของเรื่องหนุแมน กลายเป็น “สุวรรณมัจฉา” ครึ่งคนครึ่งปลา ภรรยาของหนุมาน หรือในเรื่องไกรทอง ที่นางเอกกลายเป็นนางวิมาลาซึ่งเป็นจระเข้ แทนที่จะเป็นตะเภาแก้ว-ตะเภาทองในนิทานพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีการสร้างตัวละครใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเพื่อเพิ่มสีสันและสนุกสนานเพิ่มขึ้น
อีกทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ อาวุธ เครื่องแต่งกายถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเนื้อหา ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง อาวุธของหนุแมนมีฤทธิ์ปล่อยแสงเลเซอร์ได้ ราชรถม้าศักดิ์สิทธิ์ของพระอินทร์กลายเป็นราชรถเทียมม้ากับสัตว์อสูรตามแบบฉบับของการ์ตูนแฟนตาซี แม้แต่เครื่องแต่งกายก็เน้นสีสันความแปลกตา เป็นต้น และแม้ว่าจะมีหลายอย่างที่ผิดเพี้ยนไป แต่ส่วนหนึ่งที่ยังคงเดิมคือแก่นของเรื่องโดยหนุแมนยังสะท้อนให้เห็นถึง แนวคิด “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์”
-2-
วรัชญ์บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อความหมายของการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยคงไว้เฉพาะตัวเอกหรือเหตุการณ์สำคัญบางตอนในเรื่องหนุแมนนั้น เนื่องจากผู้เขียนต้องการที่จะให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงและง่ายต่อการเปิดรับ เนื่องจากเป็นตัวละครเดิมที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การนำวรรณคดีมาสร้างใหม่เป็นการ์ตูนนั้นสามารถดึงดูดเด็กเยาวชนให้สนใจหยิบจับหนังสือมาอ่านมากขึ้น มากกว่าหนังสือวรรณคดีที่เป็นร้อยแก้วอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นจะสนใจว่านักเขียนไทยเขียนเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก ปรากฏว่ามีเด็กและครูที่ชอบและไม่ชอบการ์ตูนพันธุ์ใหม่ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน
ที่เห็นด้วยและพอใจเมื่อได้อ่านหนังสือการ์ตูนแล้ว คือข้อคิดคติสอนใจที่ได้จากเรื่อง และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนจากความเชื่อในเรื่องโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเหนือธรรมชาติมาสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีความขัดแย้งกับความรู้สึกของกลุ่มผู้อ่านที่มีพื้นความรู้เรื่องวรรณคดีอย่างมาก นอกจากนี้ยังคัดค้านโครงเรื่องแบบต่อสู้อุตลุด และการมีเวลาที่เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันและการเน้นย้ำความเป็นฮีโร่ที่มีมากเกินไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้อ่านที่มีความรู้ด้านวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านอยู่ก่อนแล้วจะไม่เห็นด้วย มีการตั้งคำถามและข้อโต้แย้งต่างๆ มากมาย บางคนถึงกับกล่าวว่าการ์ตูนมั่วมากไป อาจส่งผลเสียต่อวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านของไทย ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนความรู้เลยจะชอบ และสนุกกับการอ่านการ์ตูนมากกว่าโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก
ดังนั้น วรัชญ์จึงเสนอแนะให้การ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ที่อิงวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านควรมีแก่นเรื่องที่คงความหมายเดิมที่สำคัญเอาไว้ โดยเปลี่ยนเพียงเปลือกนอกเท่านั้น และควรมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรม วรรณคดีนั้นๆ โดยศึกษาและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะนำมาผลิตในรูปแบบการ์ตูน โดยให้เกิดความลงตัวและเป็นที่พึงพอใจทุกฝ่าย
ปัจจุบันการ์ตูนที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็น รามเกียรติ์ ฉบับรามาวตาร ของสำนักพิมพ์บันลือสาส์น หรือรามเกียรติ์ ฉบับการ์ตูนของสำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กและเยาวชน เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจรักการอ่าน พร้อมแสวงหาความรู้จากในหนังสือมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วรัชญ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การเลือกเสพสื่อเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเด็กจะเลือกอ่านอะไร ผู้ใหญ่ก็ควรเข้าไปกำกับดูแล เนื่องจากเด็กอาจยังไม่มีความสามารถในการเลือกอ่านหนังสือที่ดีมีประโยชน์ได้เอง อย่าลืมว่า การ์ตูน นิทาน ก็มีส่วนในการช่วยพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากเด็กจะซึมซับสิ่งที่เรียนรู้ผ่านการ์ตูนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว