xs
xsm
sm
md
lg

“ลำไย” ผลไม้สิริมงคล...สวยใส-ไกลโรค-เซ็กซ์ปึ๋งปั๋ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำไย ผลไม้พื้นบ้านแถบภาคเหนือถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ประกอบกับกระทรวงเกษตรประกาศมาตรการไม่แทรกแซงราคาเป็นปีแรก ยิ่งทำให้เกษตรกรหวาดวิตกว่าผลผลิตที่ออกมาจะไม่มีคนรับซื้อ อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลวิ่งรอกระหว่างจีนและไทยเหมือนไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แทบไม่เว้นแต่ละวันเพื่อเพิ่มยอดสั่งซื้อจากแดนมังกร เกษตรกรที่นั่งเฝ้าต้นลำไยก็เริ่มจะมีความมั่นใจขึ้นมาได้บ้าง

แต่ปัญหาของเกษตรกรที่ยังแก้ไม่ตกคือ การเน้นปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงขนาดของผลลำไยว่าจะเล็กลงจนไม่ได้ราคา เมื่อผนวกกับสีผิวกระดำกระด่างยิ่งทำให้กระทรวงเกษตรยิ่งต้องเร่งแก้ปัญหา แต่อย่างน้อยที่สุดลำไยไทยก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีรสชาติดีที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศในแต่ละปีไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศจีนที่อากาศเปลี่ยนบ่อย บางครั้งหนาวจัดและบางครั้งก็ร้อนจัดเสียจนควบคุมผลผลิตไม่ได้ เมืองไทยจึงยังมีจุดแข็งที่สามารถปรับปรุงได้หากร่วมมือร่วมใจกัน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรี่ยวแรงสำคัญที่พยายามผลักดันให้ลำไยไทยเป็นสินค้าส่งออกสู่แดนมังกรตลาดใหญ่ที่สุดของไทยขณะนี้ ล่าสุดได้งัดกลยุทธ์มากมายเพื่อเปิดตลาด ทั้งการเพิ่มมูลค่าในการผลิตในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่วิ่งหาบริษัทเอกชนให้ผลิตน้ำลำไยเพื่อช่วยเกษตรกร หรือแม้แต่ขอความร่วมมือคนในชาติให้หันมาบริโภคลำไยเพราะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย

...คุณหญิงสุดารัตน์ได้เล่าย้อนความถึงที่มาของลำไย ซึ่งกลายเป็นผลไม้แห่งมิตรภาพไทย-จีนให้ฟังว่า เมื่อ 150 ปีก่อนได้มีชาวไทยเชื้อสายจีนผู้หนึ่งนำผลลำไยขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้นำมาปลูกที่ล้านนา จึงนับได้ว่าลำไยเป็นผลไม้แห่งมิตรภาพไทย-จีนที่ยั่งยืน จนเป็นที่มาของประโยคคุ้นหูซึ่งคุณหญิงเป็นผู้ประพันธ์เองว่า ปลูกด้วยความรักและความผูกพัน สาเหตุที่ทำให้ลำไยหวานซึ้งใจไม่เคยเปลี่ยน

“ดังนั้นพี่น้องชาวเหนือจึงตั้งใจปลูกลำไยด้วยความรัก ทะนุถนอม ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ดีและพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ของภาคเหนือ จึงทำให้ลำไยแห่งมิตรภาพเป็นลำไยที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก”

คุณหญิงสุดารัตน์ให้ความหมายที่ยิ่งใหญ่ของคำว่าลำไยในภาษาจีนว่าคือ ดวงตามังกร และมังกรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งฮ่องเต้ ซึ่งแสดงถึงอำนาจ และความเป็นผู้นำ ลำไยจึงเป็นผลไม้แห่งพลังอำนาจ ดังนั้นลำไยคือผลไม้มงคลที่ควรค่าแก่การมอบแก่กันในวาระสำคัญ

และนอกจากจะเป็นผลไม้มงคลตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ลำไยยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ น้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส วิตามินบี วิตามินซี โปรตีน เกลือแร่ รวมทั้งกรดอินทรีย์อีก 9 ชนิด

ลำไยจึงเป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง ทางการแพทย์จีนใช้เพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงไต บำรุงประสาท แก้อาการหลงลืม ช่วยให้หลับสบาย เจริญอาหาร และที่สำคัญช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศไม่ให้เสื่อมไปก่อนวัยอันควรด้วย

นอกจากนี้ ลำไยให้พลังงานและช่วยให้ความอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหนาว ลำไยมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ใช่แต่จะมีการมองในมุมดีของลำไยเท่านั้น จุดอับของลำไยก็มีคือสารตกค้างที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมามักมีข่าวคราวเสมอว่าเกษตรกรสวนลำไยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเกินกว่ามาตรฐานเพื่อช่วยเร่งผลผลิต โดยการใส่ลงทางดินและพืชดูดซับไปใช้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีรายงานการวิจัยที่สามารถยืนยันความปลอดภัยของคุณภาพเนื้อผลลำไย ในแง่ความปลอดภัยของผู้บริโภคจากพิษของสารตกค้างของโพแทสเซียมคลอเรตและอนุพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้...สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้ให้ทุนสนับสนุน ดร.สุกัญญา วงศ์พรชัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำการศึกษาถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อดูความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยได้เลือกพันธุ์ดอในพื้นที่ 3 จังหวัดซึ่งปลูกลำไยมากที่สุด คือ ลำพูน เชียงใหม่ และพิษณุโลก ผลวิจัยพบว่าไม่มีสารตกค้างของสารโพแทสเซียม ดังนั้นผู้บริโภคจึงมั่นใจว่าบริโภคลำไยใส่สารแล้วมีความปลอดภัย

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว ผู้ที่นิยมและชื่นชอบลำไย หรือคนที่กำลังคิดอยากกินจะได้สบายใจ และหันมาบริโภคลำไยกันมากขึ้น นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น