xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีแห่งปีพบต้น "แมงลักคา" มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยประสบความสำเร็จวิจัย "แมงลักคา" วัชพืชที่ขึ้นทั่วไป นำมาสกัดสารสำคัญเรียกว่า สมุนไพรไฟโต-1 มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองได้ร้อยละ 93 ทดลองพิษระยะแรกพบปลอดภัยทั้งในสัตว์และในคน เตรียมทดลองในคนจำนวนมาก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ คาด 1-2 ปีนี้จะจำหน่ายได้ในรูปแคปซูล ลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันรักษาไข้หวัดใหญ่ในคน "ทามิฟลู" ได้

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความสำเร็จในการวิจัยสมุนไพรเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ "สมุนไพรไฟโต-1 (Phyto-1)" ซึ่งทำการวิจัยโดยสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นพืชที่พบในประเทศไทยทั่วไป และเป็นสมุนไพรไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่นั้น คาดว่าอาจจะมีการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องใช้ยาต้านไวรัสจากต่างประเทศที่มีราคาแพง
ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ทดลองใช้สมุนไพรในการรักษาไข้หวัดใหญ่ (เอเวียนฟลู) ซึ่งจากการทดลองพบว่าสมุนไพรไฟโต-1 นั้นสามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ในระดับห้องปฎิบัติการ

“การใช้สมุนไพรชนิดนี้จะใช้ในความเข้มข้นของสมุนไพรไฟโต-1 ในขนาด 5 มิลลิกรัมต่อ มิลลิลิตร ซึ่งสามารถลดเชื้อไข้หวัดใหญ่ลงได้ถึงร้อยละ 93 โดยไม่พบความเป็นพิษหรืออันตรายจากการทดลองในสัตว์ทดลอง และผลการทดลองระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทดลองในมนุษย์จำนวน 10 คน ก็พบว่ามีความปลอดภัยและไม่พบผลข้างเคียง ซึ่งจะมีการทดลองในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต่อไป” ศ.นพ.สุชัยกล่าว

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีคลังเก็บเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกจำนวนมาก ซึ่งเชื้อที่เก็บไว้มีการเก็บไว้อย่างดีเพื่อไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกจากห้องทดลอง เมื่อนำมาใช้ในการทดลองสุมนไพรไทยตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขจึงสามารถที่จะนำเชื้อมาทดสอบได้ง่าย

ขณะที่ น.พ.สมชาย แสงกิจพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่าสมุนไพรไฟโต-1 เป็นการสกัดทุกส่วนของต้นแมงลักคา ได้จดสิทธิบัตรวิธีสกัดสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนแล้ว จากการทดลองในระยะที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่ามีความปลอดภัยทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ ไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้วางแผนที่จะวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 2 เพื่อดูประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อในมนุษย์จำนวนมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้อาสาสมัคร 400-500 คน และจากนั้นจะมีการวิจัยในระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะใช้อาสาสมัคร 1,000 คนขึ้นไป และหลังจากที่ทำการทดลองเสร็จแล้วนั้น คาดว่าจะผลิตสมุนไพรไฟโต-1 ออกมาเป็นยาแคปซูล

นางปราณี ชวลิตธำรง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กล่าวว่า ทางสถาบันได้ทดลองใช้สมุนไพรดังกล่าวเพื่อหาสรรพคุณทางยาในการรักษาโรคมาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่เพิ่งทดลองใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานี้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ในช่วง 1-2 ปี จากนี้ไป

“จากการทดลองก็พบว่าสมุนไพรไฟโต-1 ได้ผลดีในการฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนไข้หวัดนกนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการทดลอง ซึ่งจากนี้ไปจะมีการทดลองทางคลินิกในเฟสที่ 2 ซึ่งเป็นการทดลองในมนุษย์ประมาณ 400-500 คน คาดว่า 1-2 ปีจะสามารถสรุปผลได้ แต่หลังจากการทดลองได้ประมาณ 40-50 คนก็น่าจะได้แนวทางว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ภายใน 7-8 เดือน” นางปราณีกล่าว

ทั้งนี้ แมงลักคา หรืออีตู่ป่า มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Hyptis suaveolens Poit. อยู่ในวงศ์ LAMIACEAE มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกถึงไม้พุ่มเตี้ย สูงถึง 2 เมตร ลำต้นอ่อนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีขนปกคลุมทั่วลำต้น โดยเฉพาะที่ยอดอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามก้านใบ ยาว 0.5-5 ซม. ใบรูปไข่หรือรูปรี โคนใบเว้าเข้าเป็นร่องรูปหัว ใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก ผิวใบมีขนสากมือ ใบกว้าง 1-6 ซม. ยาว 1.5 -7.5 ซม. ก้านใบและใบอ่อนมีขนปก คลุม ใบและส่วนต่าง ๆ ของต้นมีกลิ่นฉุน
กำลังโหลดความคิดเห็น