xs
xsm
sm
md
lg

สาวๆ ฉี่บ่อย อั้นไม่อยู่เป็น “OAB” หรือเปล่า ???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุขา” อาจจะเป็นที่ปลดทุกข์ของผู้คนทั่วไป แต่ถ้าต้องเข้าสุขาบ่อยเกินจำเป็นก็อาจสร้างทุกข์ให้เราได้เหมือนกัน แล้วยิ่งเป็นมากขนาดไม่สามารถทำงานได้ เดินทางไปไหนมาไหนลำบาก หรือหลับไม่สนิทเพราะต้องวิ่งเข้าห้องน้ำอยู่ตลอด จนชีวิตไม่เป็นปกติสุข ...นั่นแสดงว่าคุณกำลังประสบปัญหา “ภาวะ OAB” แล้ว

“ภาวะ OAB” ย่อมาจาก “Over Active Bladder” หรือที่เรียกว่าภาวะ “กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน” ซึ่งถือเป็นความผิดปกติอย่างเรื้อรังของการถ่ายปัสสาวะ มักพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป มีการวิจัยพบว่าในเพศหญิงจำนวน 4 คนจะเป็น “ภาวะ OAB” ถึง 1 คน ซึ่งมากกว่าเพศชายที่พบว่าเป็นเพียง 1 ใน 9 คน

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากระบบประสาทที่บริเวณกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่ากำหนด โดยยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ และอีกสาเหตุคือพบร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ หมดประจำเดือน และโรคทางระบบประสาทบางชนิด

นอกจากนี้การตั้งท้อง การคลอดบุตร ก็สามารถทำให้กล้ามเนื้อได้รับความกระทบกระเทือนกล้ามเนื้อยืดตัวหรือลดความแข็งแรงลง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้ โดยลักษณะอาการของ “ภาวะ OAB” จะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน หรืออาจมีการปัสสาวะรีบ ซึ่งจะรู้สึกปวดอย่างรุนแรงและต้องรีบเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วนเพราะทนกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และน้อยครั้งที่จะกลั้นอยู่ และหากเป็นมากอาจมีอาการปัสสาวะราด หรือมีปัสสาวะเล็ดออกมาทางท่อปัสสาวะ โดยมีอาการปวดอย่างรุนแรงนำมาก่อน ไม่สามารถควบคุมไว้ได้และไม่สามารถไปถ่ายปัสสาวะทัน

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้ตกอยู่ใน “ภาวะ OAB” มีอาการเครียด อับอาย ขาดความมั่นใจ และไม่กล้าเข้าสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ “โรคซึมเศร้า” ได้ในที่สุด ดังนั้นหากรู้สึกว่าตนเองมีอาการดังกล่าวควรรีบรักษาแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ความอายเป็นต้นเหตุที่ไม่ยอมไปพบแพทย์ เพราะหากทิ้งไว้เนิ่นนานอาจลุกลามจนรักษาลำบาก โดยสามารถขอคำปรึกษาแพทย์ทั้ง ศัลยแพทย์ และสูตินรีแพทย์

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาด้วยตนเองที่เรียกว่า พฤติกรรมบำบัด อาทิ ควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มให้พอเหมาะไม่มากเกินไป งดเว้นสารที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ ผงชูรส แอลกอฮอล์ กำหนดเวลาปัสสาวะให้ไม่บ่อยหรือนานจนเกินไป พยายามยืดเวลาในการปัสสาวะออกไป ไม่สวมกางเกงในที่คับแน่น และหัดฝึกกล้ามเนื้อตรงกระดูกเชิงกรานโดยการขมิบช่องคลอด หรือบริการกล้ามเนื้อกระบังลมอย่างถูกวิธี

สำหรับผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแวะเที่ยวงาน “ไฟเซอร์ ฟิต ฟัน แฟร์” ในวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2548 ตั้งแต่เวลา 10.00-19.30 น. ณ บริเวณชั้น 4-5 ห้องบางกอกคอนเวนชั้นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว โทร.0-2664-5888
กำลังโหลดความคิดเห็น