xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ผู้ชาย” ถูกลวนลาม การคุกคามทางเพศที่มาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้หญิงมักตกเป็น “เหยื่อทางเพศ” ของผู้ชายจริงหรือ?

ถึงเวลานี้ ข้อเท็จจริงบ้างอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นเรื่องน่าขนลุกอย่างยิ่ง เพราะมิใช่เพียงเพศหญิงเท่านั้นที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน อย่างถูกลวนลามหรือข่มขืน คนอ่อนแอเด็กชาย-หญิงมากมายถูกคุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิตั้งแต่ยังไร้เดียงสา หรือแม้แต่ผู้ชายจำนวนไม่น้อยก็ถูกคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน


โต ชายหนุ่มวัย 25 ปี เล่าว่า เขาเคยถูกลวนลามขณะขึ้นรถเมล์เพื่อจะไปโรงเรียน ตอนนั้นเขาเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม.ปลายคนหนึ่ง

“เรานุ่งกางเกงนักเรียน มันค่อยๆ ดันขากางเกงขึ้นหลายที เราก็เอากระเป๋าดันกางเกงลงพอหลายๆ ครั้งเข้า ไอ้นี่เกย์แน่ๆ เกย์เฒ่าด้วย จะเตะมันอยู่แล้วพอดีมีที่นั่งว่างเลยลุกย้ายที่ไปนั่ง ใจจริงอยากกระทืบตรงนั้นเลย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดีกับเกย์เท่าไหร่ ผมไม่น่าใช่เสปกแต่ตอนนั้นซวยจริง ๆ” โตเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

โตบอกอีกว่ารู้สึกว่าเขาเป็นพวกชอบฝืนธรรมชาติแต่ก็ไม่ได้รังเกียจอะไร เป็นเพื่อนกันได้ อย่างพวกตุ๊ดเราจะไม่ชอบพฤติกรรมดัดจริต สะดีดสะดิ้งเกินงาม ขอร้องอย่างเดียวอย่ามาทำลับๆ ล่อๆ อย่ามาจีบเรา อย่ามายุ่งกับเราก็พอ

ส่วนผู้หญิงไม่มีหรอกที่จะลวนลามผู้ชาย ถ้ามีก็ยินดี ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้จะถูกมองว่าใจกล้าใจแตก เป็นผู้หญิงไม่ดี ให้ท่า จู่โจมก่อน เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกมองว่าไม่ควรเป็นฝ่ายเสนอก่อน แต่จริงๆ แล้วการแสดงออกเกินควรมันก็ไม่งามทั้งชายและหญิง

ด้าน บอล หนุ่มวัย 22 ปี เล่าประสบการณ์ว่า เคยนั่งรถ 2 แถวไปกับเพื่อนและบังเอิญนั่งติดกับเกย์ สักพักเขาเอาหัวมาพิงทำตาหวานใส่ขนลุกเลย ตอนนั้นชวนเพื่อนลงจากรถทันทีเพราะถ้าอยู่ต่อไปอาจจะทำอะไรรุนแรงหรือโวยวายก็ได้

"ฝันร้ายสุดๆ ในชีวิตเลยนะ ขยะแขยง ชีวิตใครชีวิตมันเถอะ อย่ามายุ่งกับคนปกติเลย” บอลระบายความในใจ

เหล่านี้อาจจะถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยเท่านั้น ขณะที่ โป้ง หนุ่มวัย 30 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ผ่านประสบการณ์ที่ยิ่งกว่านั้น โป้งเล่าว่า ตอนนั้นอายุประมาณ 14-15 ปี มีอาแป๊ะแก่ๆ คนหนึ่งมาตีซี๊คุยด้วย แล้วขอให้เราพาไปวัดเพราะไปไม่ถูก เราก็ยอมพาไป ชายแก่เริ่มลวนลามมาเกาะ มากอด แล้วเอามือเหี่ยวๆ ลวงเข้าไปในกางเกง ทั้งจับ ลูบคลำ และบีบ พร้อมกับเสนอเงินให้กินขนมถ้ายอมมากกว่านั้น

“ผมขัดขืนทั้งเตะทั้งต่อย ใครจะยอม ถึงผมจะเป็นเด็กแต่ก็เริ่มโตแล้วและรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับผม เมื่อผมไม่ยอม ตาแก่ก็ปล่อยและเดินหนีไป สิ่งที่ผมคิดคือผมรู้สึกเหมือนเป็นผู้หญิงที่กำลังจะถูกข่มขืน แต่นี่ผมเป็นเด็กผู้ชายที่มีร่างกายอ่อนแอกว่า ผมไม่คิดว่าแป๊ะจะกลายเป็นเกย์ หรือไบเซ็กซ์ชวล ตอนนั้นเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากสังคมมากนัก”

โป้งเล่าต่อว่า มันไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ช่วงระยะเวลาที่ทำงานก็ต้องพบเจอกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ลูกค้าบ้างที่มาลวนลามเรา ครั้งหนึ่งถูกลวนลามในรถยนต์ขณะที่ขับรถส่งลูกค้า ผู้ชายคนนี้เข้ามาตีสนิท นัดทานข้าวกัน และรับส่งหลายครั้ง จนกระทั่งเขาจับขาและลูบไล้มาเรื่อยๆ ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกได้แต่บอกว่า “ไม่ชอบ ขอให้หยุด” ตั้งแต่นั้นมาก็บอกหัวหน้า ไม่ไปรับส่งดูแลอีกเลย

“เกลียดพวกนี้มากครับ แต่ด้วยอาชีพการงานทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องพบปะผมก็ทำหน้าที่ตรงนั้นไป แต่จะไม่ติดต่อใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ขอเป็นเพื่อนด้วยเพราะไว้ใจไม่ได้ ยิ่งถ้าเจอมากกว่า 1 คนด้วยแล้วเป็นอันตรายมาก ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ไปในย่านที่มีคนเหล่านี้อยู่

ส่วนผู้หญิงเข้ามาลวนลามนั้นไม่มีเพราะไม่เคยคิดว่าถูกลวนลาม เพียงแต่เขาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เจอบ่อยๆ ในที่เที่ยว ส่วนมากเป็นเด็กใจแตก แล้วก็ไปจบในโรงแรม

ต่างกันกับ เอก ชายหนุ่มวัย 25 ปี บอกว่า เมื่อตอนเขาอายุ 8 ขวบถูกเพื่อนของน้าลวนลามทางเพศ จับอวัยวะเพศ แต่ตอนนั้นเป็นเด็กจึงไม่รู้สึกอะไร และไม่ได้ขัดขืนหรือป้องกันตัว แล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไรเราแค่จับเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ไม่อยากไปไหนด้วยอีกเพราะรู้สึกกลัว

อาจารย์วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฟมินิสต์คนสำคัญของไทย กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะเป็นผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้ชายกับผู้หญิง ยังคงเป็นการสะท้อนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นปัจจัยหลัก สังคมยังมองว่าผู้ชายกระทำกับผู้หญิงเท่านั้น แต่รูปแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำเป็นที่ผู้ชายจะกระทำการละเมิดทางเพศกับผู้หญิงเท่านั้น กรณีชายละเมิดชาย หญิงละเมิดชาย หรือหญิงละเมิดหญิง มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเงียบๆ ในสังคม คนที่เป็นผู้กระทำก็มักเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า อายุมากกว่า แข็งแรงมากกว่า หรือฐานะทางสังคมสามารถให้คุณให้โทษได้ ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม จิตใจของผู้กระทำการล่วงละเมิด ปัจจัยที่เป็นพื้นฐานคือการไม่เท่าเทียมกันเชิงอำนาจ

อาจารย์วิลาสินีกล่าวอีกว่า ชายล่วงละเมิดทางเพศกับชายสะท้อนให้เห็นความเอาเปรียบที่ผู้กระทำคิดว่ามีโอกาสหลุดพ้นเงื้อมมือกฎหมาย ไม่ต้องเป็นจำเลยสังคม จึงเกิดความย่ามใจ ทำมากและบ่อยขึ้น ประกอบกับเรื่องแบบนี้สังคมยังไม่จับตามองเท่ากับกรณีที่ผู้หญิงถูกละเมิด และเป็นปัญหาที่สังคมมองว่าผู้ชายไม่ได้เสียหายอะไรมากนัก บางครั้งก็มองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจด้วยกัน

อาจารย์วิลาสินีแนะนำด้วยว่า ผู้ชายทุกวันนี้ก็มีภัยรอบด้านเช่นกัน จึงควรจะรู้จักป้องกันตัวเอง ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กชายไม่ควรไปไหนกับคนแปลกหน้า หรือแม้แต่คนใกล้ชิด ขณะที่สื่อเริ่มให้ข้อมูลมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นลักษณะของผู้ชายที่ชอบคุกคามทางเพศ และที่สำคัญสังคมควรตระหนักและอย่ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นควรแจ้งความดำเนินคดี สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจนอยู่แล้ว ควรรีบดำเนินการ มิเช่นนั้นก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุนสอน"รักร่วมเพศ"ในโรงเรียนสร้างการยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น