xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ชี้ใช้ "กาว" ฆ่าตัวตายสุดทรมาน มั่นใจไม่มีใครเลียนแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้ผู้ฆ่าตัวตายวิธีพิสดารส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยทางจิต เผยไม่ห่วงการเลียนแบบวิธีฆ่าตัวตายด้วยการใช้ "กาว" ตาม เพราะเป็นวิธีทรมาน เชื่อไม่เป็นที่นิยม แนะสื่อไม่ควรเสนอขั้นตอนฆ่าตัวตายละเอียดและลงภาพชัดเจน ต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิตและครอบครัวด้วย ชี้การฟันธงสรุปสาเหตุฆ่าตัวตายไม่ควรทำเพราะคนจะฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุ เหตุการณ์ครั้งหลังเป็นแค่ฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้น


นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีหนุ่มประกันฆ่าตัวตายด้วยวิธีใช้กาวอุดปาก-จมูกจนขาดอากาศ ว่าภาพรวมของวิธีการฆ่าตัวตายในประเทศยังเป็นวิธีการเดิมๆ โดยการผูกคอตายยังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพียงแต่ไม่มีการนำเสนอเป็นข่าวเท่านั้น เพราะสื่อเห็นว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป ซึ่งตามสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 5,000 รายต่อปี เฉลี่ยวันละ 12-13 ราย โดยในจำนวนนี้อาจผู้ที่ฆ่าตัวตายวิธีการแปลกๆ แต่มีจำนวนน้อยมาก

อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูล จึงแสดงความเห็นได้ไม่มากนัก ผู้ที่เลือกวิธีการฆ่าตัวตายแบบแปลกๆ และค่อนข้างทรมานนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ป่วยทางจิต มีความไม่สบายทางจิตอยู่ก่อนแล้ว อย่างผู้ที่ตกอยู่ในโรคซึมเศร้า ซึ่งในรายนี้ยังต้องดูข้อมูลก่อน แต่ก่อนหน้านี้เคยพบว่ามีผู้ป่วยทางจิตบางรายเลือกที่จะฆ่าตัวตายด้วยวิธีทรมาน อย่างการนำใบหน้าจุ่มลงในอ่างน้ำเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ฆ่าตัวตายปกติไม่ทำกัน

“ไม่ห่วงปัญหาการเลียนแบบการฆ่าตัวตายลักษณะนี้ เพราะโดยปกติแล้วผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตาย จะเลือกวิธีที่สะดวกและทรมานน้อยที่สุด และวิธีการใช้กาวอุดปาก-จมูกเป็นวิธีที่ทรมาน จึงไม่น่ามีผู้ที่จะเลียนแบบตาม แม้ว่าจะมีการนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม ส่วนผู้เสียชีวิตรายนี้จะเลียนแบบการฆ่าตัวตายมาจากต่างประเทศหรือไม่นั้นในเรื่องนี้ไม่แน่ใจเนื่องจากไม่มีข้อมูล” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นพ.อภิชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชนไม่ให้มีการเสนอข่าววิธีการฆ่าตัวตายที่ไม่ทรมาน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการชี้นำและมีแนวโน้มที่จะมีผู้ทำตามมากกว่า แต่ในส่วนที่มีการเสนอภาพอย่างชัดเจนนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าการนำเสนอข่าวบ้างครั้งจำเป็นต้องให้เกียรติกับผู้เสียชีวิตด้วย รวมทั้งต้องไม่สร้างความอับอายให้เกิดกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรระมัดระวัง

นอกจากนี้ ในการนำเสนอข่าวไม่อยากให้รีบสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายว่ามาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งหลังสุดอาจเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้มีการตัดสินใจ โดยที่ก่อนหน้านี้มีความคิดอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งการฆ่าตัวตายจะต้องมาจากหลายปัจจัยประกอบกันจนก่อให้เกิดความทุกข์ ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ได้แก่ 1.ความเจ็บป่วยทางกาย 2.ปัญหาทางด้านจิตใจ 3. ปัญหาครอบครัว 4.ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น