อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงรายงานพิเศษ
ในโอกาส “วันบริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)” จะเวียนมาอีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ผู้จัดการออนไลน์ ขอร่วมจุดประกายให้ทุกคนสนใจบริจาคเลือดกันมากขึ้น เพราะผลที่ได้ไม่เพียงช่วยต่อชีวิตผู้อื่น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้บริจาคมากมาย ถ้าใคร..ในชีวิตยังไม่เคยบริจาคเลือด ลองใคร่ครวญดูสักครั้ง...ยังไม่สาย
ปกติคนเราจะมีเลือดอยู่ในร่างกายประมาณ 70-80 มิลลิลิตรต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หากเราเสียเลือดไม่เกิน 15% เช่น บริจาคเลือด ซึ่งใช้แค่ 10% ก็จะไม่เกิดอันตรายใดใดต่อร่างกาย แต่ถ้าเมื่อใดเราเสียเลือดเกิน 50% แล้วไม่ได้น้ำเกลือ ไม่ได้พลาสมาหรือน้ำเหลือง และไม่ได้เลือด ก็จะต้องเสียชีวิต!
พญ.รัชนี โอเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย บอกว่า ภาวะการขาดแคลนเลือดที่ได้รับบริจาคจะเกิดขึ้นเสมอๆ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว กรุ๊ปเลือดที่มักขาดแคลน ก็คือ กรุ๊ป A กับ AB ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่กว่า 30% มีเลือดกรุ๊ป B และ O รองลงมา คือ กรุ๊ป A มี 13% ส่วนกรุ๊ป AB มีประมาณ 7%
ใครบ้างที่สามารถบริจาคเลือดได้? คุณหมอรัชนีบอกว่า นอกจากต้องดูช่วงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาคแล้ว ผู้บริจาคต้องไม่มีโรคประจำตัวหรือติดเชื้อร้ายแรง ที่อาจเกิดโทษแก่ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคด้วย
“1.ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในอายุที่เรากำหนด เช่น 17 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี แต่มิได้หมายความว่าบริจาคเริ่มต้นครั้งแรก 60 60 นี่หมายความว่าอาจจะบริจาคต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึง 60 น้ำหนักจะต้องไม่ต่ำกว่า 45 กก.และสุขภาพทั่วไปต้องเป็นคนที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่เป็นโรคปอด นอกจากนั้นที่สำคัญคือไม่ติดโรค ไม่มีโรคอะไรที่แฝงอยู่ในตัวที่อาจจะถ่ายทอดไปยังผู้รับได้ คือจะต้องไม่เป็นโรคที่ตัวเองบริจาคแล้ว ตัวเองมีปัญหา เช่น มีเลือดน้อย บริจาคแล้วเป็นลม หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความดันโลหิตสูง บริจาคแล้วอาจจะเกิดปัญหา และเลือดนั้นจะต้องไม่เกิดโทษกับผู้รับ คือไม่ทำให้ผู้รับได้รับเชื้อต่างๆ ที่อาจติดต่อได้ทางการให้เลือด เพราะฉะนั้นพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้ผู้บริจาคนั้นมีเชื้ออยู่ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี หรือตับอักเสบบี เช่น เรามีพฤติกรรมในแง่ที่ว่าเราอาจจะติดยาเสพติด หรือเราเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือเพิ่งไปสักมา พฤติกรรมเหล่านี้เราถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการที่จะติดโรคจากเข็มฉีดยาหรือเข็มต่างๆ ที่ใช้ร่วมกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เราจะขอห้ามหรือขอร้องว่าไม่ให้บริจาค”
ส่วนเลือดที่ได้รับบริจาคมาแล้วไม่ใช่ว่าจะนำไปให้ผู้ป่วยได้ทันที เพราะต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเลือดที่ดีพอและปลอดภัยแก่ผู้รับ
“เราต้องตรวจก่อน นอกจากว่าเราจะให้การประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าก่อนว่าคุณจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรแล้ว ตอนที่เข้ามาหลังจากที่คัดกรองตัวเองแล้วว่าคิดว่าตัวเองน่าจะปลอดภัย น่าจะมีเลือดดีพอที่จะบริจาคให้ผู้อื่นได้ เราก็จะมีแบบฟอร์มให้กรอกอีก จะมีแบบฟอร์มคำถามต่างๆ ที่จะถามเพื่อความแน่ใจว่าผู้บริจาคนั้นเป็นผู้บริจาคที่ดีจริง หลังจากนั้นก็มีการตรวจร่างกายโดยแพทย์และพยาบาลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว รวมทั้งอาจจะมีการซักถามเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่าที่ให้คำตอบมานั้นถูกต้องหรือเปล่า หรือผู้บริจาคเองอาจจะมีคำถามว่า ไม่แน่ใจว่าข้อนี้จะตอบอย่างไร ก็สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเราได้ เราก็ตรวจความดันโลหิต ตรวจปอด ตรวจหัวใจ และตรวจด้วยว่ามีความเข้มข้นของเลือดเพียงพอหรือเปล่า ถ้าผ่านการตรวจเหล่านี้หมดทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะมีการบริจาคเลือด และตัวอย่างของเลือดที่บริจาคไว้ก็จะมีการตรวจในห้องปฏิบัติการอีก ก็จะตรวจหมู่เลือด ตรวจว่ามีเชื้อต่างๆ เหล่านี้หรือเปล่า ตรวจเชื้อซิฟิลิส ตับอักเสบบี ตับอักเสบซี และเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อเอดส์ ถ้าทุกอย่างผ่านหมด คือไม่มีเชื้อ เราถึงจะนำโลหิตที่ผ่านการตรวจกรองเหล่านี้ให้กับผู้ป่วย ในแบบฟอร์มที่เราให้กรอกนั้นจะมีคำถามอยู่ด้วยว่าเมื่อมีการตรวจสอบเชื้อเหล่านี้แล้ว ถ้าเผอิญเป็นผลบวก ผู้บริจาคต้องการให้เราแจ้งผลเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าต้องการให้แจ้งให้แจ้งที่ใด อาจจะไปแจ้งที่ทำงานหรือที่บ้านก็แล้วแต่ ก็จะมีการแจ้งหรือไม่แจ้งตามความประสงค์ของผู้บริจาค”
และหากเผอิญพบว่าเลือดของผู้บริจาครายใดเป็นเลือดบวก หรือติดเชื้อเอชไอวีเชื้อเอดส์ ก็จะมีการเชิญมาตรวจสอบซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
“เวลาจริงๆ ในการทดสอบคือประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่เราคงจะต้องมีเวลาตรวจสอบซ้ำ สมมุติว่าผลเป็นบวก เราจะมีกระบวนการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งอาจเป็นวันรุ่งขึ้นที่เราจะตรวจสอบซ้ำ และถ้าผลยังเป็นบวกอีก จริงๆ เริ่มต้นเราจะมีจดหมายไปก่อน ขอให้กลับมาตรวจเลือดใหม่ ยังไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร เพราะการตรวจเลือดใหม่อาจจะมีตั้งแต่หมู่เลือด ABO ไม่ชัดเจน อาจจะเป็นซิฟิลิส อาจจะเป็นตับอักเสบบี ตับอักเสบซี หรือเอชไอวี อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้การแจ้งผลนั้นเป็นการผิดตัว เราจะมีจดหมายแจ้งไป แล้วให้ผู้บริจาครายนั้นกลับมาเจาะเลือดโดยตรงจากเขาเลย แล้วก็ตรวจสอบซ้ำ ในระหว่างตรวจสอบซ้ำครั้งนี้เอง เราจะมีการสัมภาษณ์เพื่อจะดูด้วยว่าผู้บริจาคนั้นพอจะรู้ตัวอยู่หรือเปล่าว่าเขาอาจจะมีความเสี่ยงในการติดโรคบางอย่างมา ถ้าสมมุติเป็นเชื้อเอชไอวี ดูด้วยว่าเขามีการยอมรับตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อผลการตรวจสอบซ้ำนั้นเป็นเชื้อเอชไอวีและเป็นบวกจริง”
ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งควรทิ้งช่วง 3 เดือน ซึ่งเลือดที่บริจาคไปไม่เพียงแต่ทำให้ได้เลือดไปช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสามารถแยกเป็นพลาสมาหรือน้ำเหลืองไปช่วยผู้ป่วยได้อีกทาง
“เลือดที่บริจาคมาจะมีทั้งเม็ดเลือดแดง และน้ำเหลือง แต่ปกติเราก็จะนำเลือดของผู้บริจาคมาปั่นแยกเป็นเม็ดเลือดแดง และน้ำเหลือง ถ้ามีอุบัติเหตุเข้ามา แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะต้องให้น้ำเกลือไว้ก่อน หรือให้น้ำเหลืองไว้ก่อน จนกว่าจะทราบว่าผู้ป่วยหมู่เลือดอะไร เลือดยูนิตไหนของผู้บริจาคที่เข้ากันได้ อันนั้นต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเข้ามาปุ๊บ เราจะเห็นเลยว่ากระบวนการของแพทย์คือต้องให้น้ำเกลือไว้ก่อน”
แม้เลือดที่ได้จากการบริจาคจะเป็นที่ต้องการและมักขาดแคลนในบางช่วง แต่ในแง่ของผู้บริจาคเอง ก็มีทั้งคนที่บริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ และคนที่ยังไม่เคยบริจาคเลยสักครั้ง ขณะที่บางคนอยากจะบริจาคก็จริง แต่ก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ
“(เคน) เคยบริจาคครั้งเดียวเอง แล้วก็ไม่กล้าแล้ว กลัวด้วย กลัวเข็มด้วย ตั้งใจว่าจะไปแต่ว่าหลังจากที่เรารู้ว่า อย่างครั้งแรกไปเขาจะบอกมาเลยว่า ถ้าคุณจะบริจาค คุณต้องทำอย่างนี้ๆ ช่วงที่เรารู้สึกว่าจะไปได้ บางทีเราก็กินยาปฏิชีวนะอะไรเข้าไป มันคล้ายๆ กับว่าเราอยากจะทำในวันที่เรารู้สึกอยากจะทำ แต่บางทีเรานอนน้อย มันก็ทำไม่ได้ (โก้) ก็ไม่กลัวเท่าไหร่ มันไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่ ตอนแรกบริจาคเพราะอยากบริจาค การบริจาคโลหิตก็ไม่ใช่น่ากลัวอย่างที่คิด คนๆ หนึ่งที่จะช่วยชีวิตอีกหลายคนได้อีกหลายคน อย่างนี้ก็สมควรทำ (นิ้ง) ไม่น่ากลัว ก็ดี นอกจากได้บุญด้วย ก็ยังเป็นผลดีกับร่างกายด้วย เพราะเหมือนกับเป็นการถ่ายเลือดเสียออกไปบ้าง (เจี๊ยบ) ก็คิดอยากไปบริจาคเหมือนกัน ไม่กลัว แต่เราไม่เคยไปตรวจเช็กสุขภาพ ก็เลยไม่ได้โอกาสที่จะไปบริจาคเลือด คิดว่าถ้าได้บริจาคคือเราได้ถ่ายเลือดของเรา และสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมา (ตั๋ม) บริจาคหลายครั้งแล้ว จนได้เหรียญแล้ว สุขภาพดี จิตใจดี สบายดี สุขภาพแข็งแรงดี”
แม้บางคนจะยังกลัวการบริจาคเลือด แต่หลายคนก็เชื่อว่า การบริจาคเลือดนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังส่งผลดีกับร่างกายด้วย ลองไปฟังคำยืนยันชัดๆ อีกครั้งถึงข้อดีของการบริจาคเลือดจากคุณหมอรัชนี
“ในแง่ผลดีต่อร่างกายของผู้บริจาค 1.จะทราบเลยว่าตัวเองนั้นเลือดเข้มข้นเหมือนปกติหรือเปล่า เพราะเราต้องตรวจก่อนว่ามีเลือดมากเพียงพอ เข้มข้นเพียงพอ 2.จะทราบร่างกายทั่วๆ ไป เช่น ความดันเป็นอย่างไร ปอด หัวใจเต้นปกติหรือเปล่า นอกจากนั้นการเสียเลือดก็จะไปกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดออกมาใหม่ จะคล้ายๆ กับการที่เราออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะทราบ ถ้าเราไม่เคยออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อจะเมื่อยล้ามาก แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายประจำ กล้ามเนื้อจะแข็งแรง การบริจาคเลือดก็เหมือนกัน การที่เรากระตุ้นให้ไขกระดูกทำงาน และสร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา จะทำให้ไขกระดูกรู้หน้าที่ เวลาที่เรามีการเสียเลือดขึ้นมา ไขกระดูกก็จะรีบทำงานสร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ สร้างเม็ดเลือดออกมาอยู่ในกระแสเลือด อันนี้ก็เป็นสิ่งดีสำหรับผู้บริจาค ที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงตลอดเวลา และมีเม็ดเลือดใหม่ๆ ออกมาช่วยในการหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ตลอดเวลา”
คุณหมอรัชนียังรับรองด้วยว่า การบริจาคเลือดจะไม่ทำให้ผู้บริจาคติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์อย่างแน่นอน เพราะเข็มที่ใช้เจาะเลือดไม่มีการใช้ซ้ำ จะใช้ครั้งเดียวทิ้ง
หากท่านใดสนใจบริจาคเลือด แล้วไม่สะดวกที่จะไปบริจาคที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก็สามารถบริจาคเลือดได้ที่เหล่ากาชาดจังหวัด สาขาบริการโลหิต และโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคเลือดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4300 อย่าลืมว่าหากทุกคนช่วยกันบริจาคเลือด เลือดที่ได้ไม่เพียงแต่ช่วยเพื่อนร่วมชาติได้อีกหลายชีวิตเท่านั้น แต่วันหนึ่งเลือดเหล่านั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับตัวเราหรือญาติพี่น้องของเราก็เป็นได้!!
* หมายเหตุ * ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะจัดงาน “วันผู้บริจาคโลหิตโลก” (ก่อนถึงวันจริง) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00น. เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา และเพื่อแสดงความขอบคุณผู้บริจาคโลหิตโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ใครสนใจแวะไปได้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับของที่ระลึก “เสื้อวันผู้บริจาคโลหิตโลก” นอกจากนี้หากมีบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต จะได้รับสิทธิพิเศษ “บัตรเดียว เที่ยวฟรี กินฟรี ตลอดงาน” พร้อมรับบริการตรวจสุขภาพต่างๆ