xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : หญิงวัยเจริญพันธุ์...ระวังโรคเอสแอลอี !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงรายงานพิเศษ

โรคเอสแอลอี (SLE) ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนครั้งล่าสุด เมื่อ น.ส.ศิริรัตน์ จั่นเพชร 1 ในผู้ป่วยโรคนี้ลุกขึ้นมาฟ้องโรงพยาบาลศิริราช ฐานผ่าตัดไขสันหลังให้เธอหลังจากที่เธอปวดหลัง-ชัก และหมดสติ เมื่อฟื้นขึ้นมากลายเป็นว่าเธออัมพาตไปครึ่งตัว เดินไม่ได้มา 5 ปีแล้ว ตามข่าวบอกว่าเธอเป็นโรคภูมิแพ้ SLE ซึ่งจริงๆ แล้ว โรค SLE ไม่ใช่โรคภูมิแพ้ แต่เป็น 1 ในโรคข้อ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวอาจเป็นเพราะชื่อไทยของโรค SLE ก็คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง “ผู้จัดการออนไลน์” ขอถือโอกาสนี้ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค SLE ที่ครั้งหนึ่งอดีตราชินีเพลงลูกทุ่งไทย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็ป่วยด้วยโรคนี้ กระทั่งมีการเรียกโรค SLE จนติดปากว่า “โรคพุ่มพวง”


โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรคลูปัส ที่คนไทยชอบเรียกกันว่า โรคพุ่มพวง เนื่องจากอดีตราชินีเพลงลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยเป็นโรคนี้และเสียชีวิต แต่ถึงกระนั้นทางสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ก็พยายามตั้งชื่อภาษาไทยให้กับโรคเอสแอลอีเพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “โรคแพ้ภูมิตัวเอง”

น.พ.วิวัฒน์ สุรพรสวัสดิ์ กรรมการกลางสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ขยายความว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี ถ้าแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษจะแปลว่า โรคที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย มีผื่นแดงที่หน้ารอยเหมือนกับโดนสุนัขกัด โรคเอสแอลอีจัดอยู่ในกลุ่มโรคข้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่คาดว่าเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีมากเกินไป และภูมิคุ้มกันนี้ก็ทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง เพราะคิดว่าเป็นเชื้อโรค ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20-40 ปี

“จริงๆ แล้วโรคนี้ก็เหมือนกับโรคในกลุ่มโรคข้อ และรูมาติสซั่มทั่วไป คือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นต้นเหตุ แต่เป็นการผสมผสานตั้งแต่สาเหตุทางพันธุกรรม เนื่องจากพบว่าคนไข้ลูปัสในครอบครัว คนที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคลูปัสจะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าประชากรทั่วๆ ไปที่ไม่มีคนเป็นในครอบครัว บางคนก็เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน การติดเชื้อ การรับแสงอัลตราไวโอเลต และยาบางชนิด คือไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เป็นสาเหตุรวมๆ กันไป …สาเหตุหลักคือ ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตเจน เพราะฉะนั้นในคนไข้ที่เป็นลูปัสจึงพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 9 ต่อ 1 คือภูมิคุ้มกันมันมากเกินไป ภูมิคุ้มกันที่มากเกินก็ไปก่อโรคมาทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง คือจำผิด คิดว่าเนื้อเยื่อตัวเองเป็นเชื้อโรค ก็กลับไปทำลาย ปัญหาคืออันนี้ …เนื่องจากอาการเป็นได้ทุกระบบ ตั้งแต่ปวดหัว ซึม มีอาการทางหัวใจก็ได้ ทางปอดก็ได้ ทางลำไส้ก็ได้ ทางปวดข้อก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ เป็นได้ทุกอย่าง ความที่เป็นได้ทุกอย่างก็ถามว่าเมื่อไหร่เราถึงคิดว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคลูปัส ตรงนี้ลักษณะสำคัญ คือ ถ้าเราพบเป็นผู้หญิงอายุน้อยคือประมาณ 20-40 ปี และมีอาการเป็นโรคหลายๆ ระบบพร้อมๆ กัน เช่น มีปวดข้อด้วย มีผื่นขึ้นที่หน้าด้วย และมีอาการทางไตด้วย คือมีหลายๆ โรคพร้อมๆ กัน หรือเรียงๆ กัน ก็ทำให้คิดถึงว่าน่าจะเป็นโรคลูปัส”

คุณหมอวิวัฒน์ บอกว่า โรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยสมควรในบรรดาผู้ในของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ส่วนผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ก็มาด้วยอาการที่เด่นๆ หลายอาการ เพราะโรคนี้แสดงอาการได้กับทุกระบบของร่างกาย ตั้งแต่อาการทางผิวหนัง, อาการทางข้อ, อาการทางไต และอาการทางระบบโลหิต

“คนไข้เนื่องจากมีอาการได้ทุกระบบของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ที่มาหาแพทย์จะมาด้วยอาการทางผิวหนัง อาการทางข้อ อาการทางไต และอาการทางระบบโลหิต 4 กลุ่มนี้เป็นตัวหลักเลยที่มาหาหมอ อาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย คือ มีผื่นแดงที่โหนกแก้ม หรือไปโดนแดดมาก็มีผื่นแดงรุนแรงกว่าคนธรรมดา มีผมร่วง มีแผลในปาก กลุ่มที่ 2 ปวดข้อ เกิดข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น มีปวดหลายๆ ข้อ ทั้งซ้ายและขวา ปวดทั้งข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อโคนนิ้ว และมักจะเป็น 2 ข้าง คล้ายรูมาตอยด์เลย กลุ่มที่ 3 มาอาการทางไต กลุ่มนี้ก็จะมาด้วยอาการบวม กดหน้าแข้งดูจะบวม คือ จู่ๆ คนไข้ก็บวม อาจจะบวม 2-3 วัน หรือเป็นเดือนก็ตาม อาการบวมตัวนี้เกิดจากไตซึ่งทำงานผิดปกติ มีการอักเสบของไต และมีการรั่วของไข่ขาวลงมาในปัสสาวะ เมื่อรั่วมาในปัสสาวะเยอะ ไข่ขาวในระบบเลือดของเราก็ต่ำลงจึงไม่สามารถควบคุมให้น้ำมันอยู่ในเลือดได้ตามปกติ รั่วออกไปตามเนื้อเยื่อทั่วๆ ไป ก็เกิดอาการบวมเกิดขึ้น กลุ่มที่ 4 มาด้วยอาการทางระบบโลหิต ได้แก่ โรคซีดลง เกิดจากเม็ดเลือดแดงมันแตก เกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากเกล็ดเลือดถูกทำลายด้วยภูมิคุ้มกัน เม็ดเลือดขาวต่ำ อันนี้เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อย นอกจากนี้ก็จะมีอาการอื่นๆ ที่พบได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีน้ำในปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการทางสมอง อาการทางระบบลำไส้อักเสบ อันนั้นก็อาจจะพบน้อย สิ่งที่สำคัญ คือ 1.ถ้าเราพบเด็กผู้หญิงหรือผู้หญิงก็ตาม มีอาการผิดปกติโดยเฉพาะหลังจากการตั้งครรภ์ อาจจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่ง 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือช่วงที่ 3 คือ 24 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว ก็น่าสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับโรคนี้ หรือท้องแล้วหรือหลังคลอดแล้วมีการกำเริบ ก็น่าจะคิดถึงโรคกลุ่มลูปัส อาจจะถามว่า อาการอะไรที่บ่งว่าเป็นลูปัส ตอบไม่ได้เลย อาจจะว่าถ้าเจอผู้หญิงมีอาการผิดปกติหลายๆ ระบบ คิดถึงโรคนี้เสมอ”

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง มีความยาก-ง่ายแค่ไหน คุณหมอวิวัฒน์ บอกว่า แล้วแต่ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าไม่รุนแรงมาก รักษาไม่กี่ปี โรคก็สงบได้ และโรคมักสงบลง เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยทอง

“กลุ่มที่มีความรุนแรงต่ำ เช่น ลูปัสที่มีอาการทางผิวหนัง เป็นอาการเด่นที่มาพบแพทย์หรืออาการทางข้อ เราถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคต่ำ กลุ่มที่ 2 คือ มีความรุนแรงโรคปานกลาง ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการทางผิวหนังรุนแรงกว่ากลุ่มแรก มีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีน้ำในช่องหัวใจ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีน้ำในช่องปอด พวกนี้อยู่ในกลุ่มปานกลาง กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีความรุนแรงมาก เช่น มีอาการทางสมอง อาการทางระบบประสาท อาจจะชัก ซึม หรือมีจิตประสาทเพี้ยนไป อาการทางระบบโลหิตถือว่าเป็นกลุ่มที่รุนแรง อาการทางไต หรืออาการที่เกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ พวกนี้ก็ถือว่ารุนแรง ..ถ้าเขาอยู่ในกลุ่มที่ความรุนแรงต่ำ บางคนกินยาไประยะแรกๆ ไม่กี่ปีก็ค่อนข้างจะสงบได้ แต่บางคนที่ความรุนแรงสูง อาจจะต้องควบคุมโรคนาน และใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปแล้ว ถ้าช่วงเป็น 5-10 ปีแรก ถ้าผ่าน 10 ปีแรกไปแล้ว ส่วนใหญ่โรคมักจะสงบลง เพราะมันจะเข้าสู่อีกวัยหนึ่งของผู้หญิง คือวัยทอง โรคมักจะสงบลง”

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคเอสแอลอีมีโอกาสจะเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหนนั้น คุณหมอวิวัฒน์ บอกว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน โอกาสเสียชีวิตจะสูงถึงร้อยละ 20 แต่ปัจจุบันลดลงมากแล้ว

“ในอดีตเป็นโรคที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงมากถ้าเป็นโรคนี้ ถ้าเราติดตามไป 5 ปี คนไข้เสียชีวิตอาจจะถึง 20% แต่ปัจจุบันน้อยลงไปเยอะเลย ความรู้ความเข้าใจในด้านโรคนี้ ดีขึ้น หมอวินิจฉัยได้เร็วขึ้น การให้ยา เปลี่ยนกระบวนการให้ยา ควบคุมภูมิต้านทานได้เร็วขึ้น ปรากฏว่า ขณะนี้เราอยู่ที่ 20 ปี ไม่ใช่พูดถึง 5 ปี 20 ปี จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะประมาณ 5-10% เท่านั้นเอง ซึ่งดีกว่าในอดีตอย่างมากมายเลย พบว่าต้นเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของคนไทยโรคลูปัสก็คือ การติดเชื้อ เนื่องจากยาที่รักษาทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง และโรคแทรกซ้อน คือโรคติดเชื้อจะเป็นปัญหาหลักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ..เพราะโรคเขาภูมิคุ้มกันเยอะ เราก็ต้องใช้ยาไปกด พอยาไปกดมากเกินไป เชื้อโรคภายนอกก็จะเข้ามาแทรก ถ้าเราควบคุมโรคติดเชื้อไม่ได้ ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ ถ้าไปตามธรรมชาติของโรคเอง ปัญหาหลักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก็คือ ไตวาย”

คุณหมอวิวัฒน์ บอกด้วยว่า การรักษาผู้ป่วยโรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน เพราะการนอนอยู่โรงพยาบาลนานๆ อาจติดเชื้อจากโรงพยาบาลได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จึงจะให้นอนโรงพยาบาล คุณหมอวิวัฒน์ ยังแนะข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ด้วยค่ะ

“สิ่งสำคัญคือ ต้องเลี่ยงการไปโดนแสงแดดในช่วงเวลาที่แดดจัดๆ เช่น หลัง 10 โมงเช้า ถึงก่อน 4 โมงเย็น แสงแดดจะรุนแรง อัลตราไวโอเลตจะทำให้โรคกำเริบ ต้องหลีกเลี่ยง 2.ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อย่ามีความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ 3.ระมัดระวังการใช้ยา เนื่องจากว่าโรคนี้เราก็ต้องให้ยาตามความรุนแรงของโรค บางช่วงรุนแรงมากก็ใช้ยาสูง บางช่วงลดลงก็ลดยา เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยอย่าปรับเปลี่ยนยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ อย่าใช้ยาผิดจังหวะ เหมือนกับโรคอาการน้อย เราไปใช้ยากดภูมิต้านทานมากเกินไป ทีนี้โรคติดเชื้อก็จะตามมา หรือโรคเป็นมาก เราไปลดยาเอง คราวนี้โรคก็ยิ่งกำเริบมาก ห้ามปรับเปลี่ยนยา ข้อสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรรู้คือ คนที่เป็น มักเป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์และมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ และการคุมกำเนิด เพราะฉะนั้นจึงอยากจะแนะนำว่า พยายามหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ถ้าเป็นชนิดฉีดจะมีปัญหาน้อยกว่า เพราะเป็นฮอร์โมนคนละตัวกัน ไม่แนะนำให้ใส่ห่วง เพระการใส่ห่วงเข้าไปยังมดลูกก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าธรรมดา ถ้าหากว่ามีลูกอ่อนแล้ว ก็ทำหมันได้เลย ระหว่างที่ควบคุมโรคได้สงบดีแล้ว ก็สามารถจะตั้งครรภ์ได้ มีลูกได้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องทำแท้งระหว่างที่เราเป็นโรค ยกเว้นว่าโรคกำเริบมาก เพราะฉะนั้นสามารถทำงานได้ มีชีวิตครอบครัวชีวิตสมรมเหมือนกับปกติทั่วๆ ไป ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”

คุณหมอวิวัฒน์ สุรพรสวัสดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า โรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเองไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงหรือสิ้นหวัง เพราะปัจจุบันการรักษาทำได้ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตการงานและชีวิตครอบครัวได้เหมือนคนปกติ ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องไม่รู้สึกท้อแท้ ต้องมีกำลังใจในการรักษา ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถประคองชีวิตให้ผ่านช่วงวิกฤต 5 ปีแรกของการป่วยไปได้ หลังจากนั้นอาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเป็นไปได้ ผู้หญิงไม่ควรรับประทานวิตามินต่างๆ อย่างพร่ำเพรื่อเกินไป โดยเฉพาะวิตามินที่ไม่มีหลักฐานการแพทย์ยืนยัน เพราะอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคเอสแอลอีหรือทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้!!

กำลังโหลดความคิดเห็น