xs
xsm
sm
md
lg

รวมภาพ...ปลาไทยใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online










WWF รายงานสถานภาพปลาไทย ล่าสุด พบ 269 ชนิดกำลังเผชิญกับภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  พร้อมเผยภาพปลาเสี่ยงสูญพันธุ์ในไทยจำนวน 9 ภาพ

ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องปลาแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไทเปของไต้หวัน ระหว่างวันที่ 16-20 พ.ค.ที่ผ่านมา ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทางทะเลและน้ำจืดของ WWF ประเทศไทย ได้รายงานสถานภาพของปลาไทยว่า มี 269 ชนิดเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์

สำหรับประเด็นเรื่องสถานภาพของปลาไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น เป็นการนำเสนอภาพรวมความหลากชนิดของปลากว่า 2,700 ชนิดที่อยู่ในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นปลาทะเล 2,000 ชนิดและปลาน้ำจืดอีก 720 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่ประเมินว่ากำลังตกอยู่ในสถานภาพที่ถูกคุกคาม มีทั้งหมด 269 ชนิด โดยแบ่งเป็นระดับที่สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ได้แก่ ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) ระดับต่อมาคือ สูญพันธุ์แล้วจากประเทศไทย ได้แก่ ปลาหางไหม้ (Balantiochilos melanopterus) และปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) มี 12 ชนิดที่อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤติ เช่น ปลาฉนาก (Pristis spp.) ปลาบึก (Pangasianodon gigas) และ 46 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ อีก 155 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ส่วน 21 ชนิดกำลังใกล้ถูกคุกคาม และ 32 ชนิดมีข้อมูลไม่เพียงพอ

ปลาไทยที่ถูกคุกคามในระดับโลก มี 119 ชนิด และอีก 150 ชนิดถูกคุกคามในระดับประเทศ โดยเป็นปลาน้ำจืด 136 ชนิด และปลาทะเล 133 ชนิด ปลาฉลามและกระเบนเป็นกลุ่มหลักที่ถูกคุกคาม มีทั้งหมด 68 ชนิด และปลากลุ่มตะเพียน ปลาค้อ และปลาหมูอีก 58 ชนิด ในส่วนของปลาน้ำจืด มีอย่างน้อย 70 ชนิดที่พบเฉพาะถิ่นในประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ มี 26 ชนิดที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่

ในส่วนปลาทะเลที่จำเป็นต้องหามาตรการจัดการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การอนุรักษ์ปลาฉนาก (Pristis spp.) ปลาฉลามต่างๆ ฉลามวาฬ ปลาหมอทะเล ปลานกขุนทองหัวโหนก และปลากะรังขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดการประมงอวนลาก ประมงปลาในแนวปะกะรัง การจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนใน และทะเลสาบสงขลา

ส่วนประเด็นของปลาน้ำจืดที่กำลังถูกคุกคาม ได้แก่ ปลาบึก ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus) ปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimanki) ปลาในป่าพรุ ปลาถ้ำ ปลากะโห้ (Catlocarpio siamensis) ปลาต้นน้ำลำธาร ปลากัดป่าเฉพาะถิ่น รวมถึงการจัดการที่ราบลุ่มน้ำหลาก และหนองบึงธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น