xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำรายาอายุวัฒนะ ยาใจยากาย อยู่ได้ถึงร้อยปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเอ่ยคำว่า “ยาอายุวัฒนะ” ขึ้นมา เชื่อได้ว่า หลายคนต้องหู่ผึ่งด้วยความสนใจ ก็ด้วยว่าความปรารถนาสูงสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์บนโลกใบนี้ คือ อยากมีอายุยืนยาว ไม่เจ็บไม่ไข้ และไปไกลถึงขั้นที่ไม่อยากตาย แต่ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ นี่เป็นสัจธรรมพื้นฐานที่ใครๆก็รู้ว่า มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย

แต่คำว่า ยาอายุวัฒนะในที่นี้ มิได้มีความหมายให้มนุษย์ไม่ตาย แต่มีความหมายในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงร่างกายและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ที่สำคัญ ยาอายุวัฒนะ กำลังจะเปิดหน้าใหม่ ของการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม ที่ประชาชนดูแลสุขภาพอย่างพึ่งตนเองได้

อ.วิโรจน์ กันทาสุข โครงการพัฒนาภูมิปัญญาด้านสุขภาพพื้นบ้านล้านนา เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน อธิบายว่า ยาอายุวัฒนะ ในความหมายของผู้รู้ หมอเมืองล้านนา คือยาที่ทำให้อายุยืนยาว เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัย ธาตุสมบูรณ์ เลือดลมดี เดินสะดวก รับประทานอาหารได้ นอนหลับสบาย ทำงานไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

“หมอเมืองมักจะพูดกันว่า อย่านอนหงายรอฟ้าผ่า นั่นหมายความว่า อย่าปล่อยวางเฉยรอรับโรคลูกเดียว จงคิดเสมอว่า กาลเวลา วัย ที่ผ่านไป เครื่องยนต์ของร่างกายทำงานตลอดเวลา ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ต้องเกิดการสึกหรอเสื่อมโทรมลงได้ สมุนไพรยาอายุวัฒนะเสมือนหนึ่งท่านได้ตรวจล้างเครื่องยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในกำหนดเวลาที่สมควร แล้วเครื่องยนต์ของท่านก็จะใช้การต่อไปได้แน่นอน”

เมื่อพูดถึงตำรายาอายุวัฒนะนั้น อ.วิโรจน์บอกว่า ตำรายาอายุวัฒนะเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้มาเป็นเวลานาน มีการสืบทอดให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้กันไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดจากปู่ ย่า ตา ยาย บิดา หรือจากการบวชเรียน จากการศึกษาจากตำรา เช่น สมุดใบลาน ซึ่งส่วนใหญ่ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาล้านนา ดังนั้นผู้ที่จะเป็นหมอเมืองส่วนใหญ่จะเคยบวชเรียนมา และมีการศึกษาภาษาล้านนามาก่อน

“ยาอายุวัฒนะ จึงไม่ใช่ยาที่ทำให้คนไม่ตาย แต่เป็นยาบำรุงกำลัง อยู่ได้เป็นร้อยปี ถ้าปฏิบัติตามหลัก ที่เรากำลังจะบอกว่า ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ ยาอายุวัฒนะเป็นยาป้องกัน และไม่ใช่แค่เรื่องของการป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย อย่างนั้นเรียกว่ายากาย แต่แค่นี้ยังไม่พอ ยังต้องมียาใจด้วย เรื่องแบบนี้เรามักจะละเลยกันไป มุ่งแต่จะฆ่าเชื้อโรคในร่างกาย แต่ไม่ดูที่จิตวิญญาณ”


บุญ อุปนันท์ หรือหมอบุญ ซึ่งเป็นหมอเมือง หรือหมอพื้นบ้าน ให้ความหมายของคำว่ายาใจในแบบฉบับของล้านนาว่า สุขภาพจะดีได้ต้องยาใจก่อนยากาย

“ปกติใจคนเราอยู่ไหนต้องเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจนิ่งและมีความกระตือรือร้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ลองสังเกตใจตัวเองให้ดีจะพบว่า จิตใจมันห่อเหี่ยวไปด้วย ไม่กระตือรือร้น เช่นนี้ร่างกายก็ไม่เข้มแข็งถ้าจิตใจมันห่อเหี่ยว ดังนั้นหมอพื้นบ้าน เขาจะมีการปัดเคราะห์เรียกขวัญ มีคำพูดและท่วงทำนองของเสียงที่ทำให้ผู้ป่วยมีความฮึกเหิม จิตใจดี กำลังใจดี มีการให้พร ซึ่งนี่เป็นยาใจ ที่เป็นยาอายุวัฒนะ”

หมอบุญบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยว่า “บางคนร่างกายเจ็บป่วยนิดเดียวไม่มาก แต่ใจห่อเหี่ยว ใจหนักกว่ากาย เราจึงต้องหาทางเยียวยารักษาใจก่อน จิตใจทุกคนมีหมอรักษาอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ถ้าใจเราเยือกเย็น ใจสงบ ร่างกายจะสงบ แล้วการรักษาก็จะประสบผล”

หมอบุญ ให้คำแนะนำในการใช้ยาอายุวัฒนะว่า จะต้องดูแลรักษาร่างกายให้ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การปฏิบัติตนที่ดี ยาอายุวัฒนะมีหลายสูตร หลายตำรา ส่วนใหญ่ยาอายุวัฒนะจะใช้กับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ เพราะยาอายุวัฒนะเป็นยาที่ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง เสริมสร้างกำลังให้แข็งแรง โดยรูปแบบในการใช้มี 3 แบบ คือ ยาลูกกลอน ยาต้ม และยาดอง

อ.วิโรจน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า วิธีคิดของหมอเมือง คือ การไม่มองข้ามเรื่องของจิตใจ รักษากายควบคู่กับการรักษาใจ มิติของคำว่า “หาย” จากการเจ็บไข้ได้ป่วยของหมอพื้นบ้าน คือ ถ้านอนป่วยมา ก็สามารถเดินออกไปได้ ไม่ได้หมายถึงการฆ่าเชื้อโรคให้หมดสิ้นไปจากร่างกาย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้คนไม่เข้าใจเรื่องการรักษาโรคของหมอพื้นบ้าน และตัดสินว่าเป็นการรักษาแบบเถื่อน และหมอพื้นบ้านที่เป็นที่พึ่งของชาวบ้านก็กลายเป็นหมอเถื่อน

“เรียกได้ว่าเป็นเวลากว่า 100 ปีที่องค์ความรู้การดูแลรักษาสุขภาพพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอดต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆคู่กับชุมชน จนเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาที่แพทย์แผนใหม่จัดการไม่ได้ นั่นคือ การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี แต่นี่กลับเป็นคุณูปการต่อการแพทย์พื้นบ้าน ที่ได้เสนอทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชน ในช่วงที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพ ความรู้ท้องถิ่นก็ได้ถูกนำมาใช้”

ที่สุดแล้ว อ.วิโรจน์บอกว่า ยาอายุวัฒนะ จึงไม่ใช่อะไรอื่นไกล นอกจากเป็นทางเลือกให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้ คือพึ่งพาตัวเองได้ “ที่ผ่านมาบทเรียนของหมอพื้นบ้านล้านนาบนสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็กลายเป็นโอกาสให้องค์ความรู้พื้นบ้านล้านนากลับฟื้นคืนมา ยาอายุวัฒนะแท้จริงแล้วอาจมีแง่คิดบางอย่างที่ฝังอยู่ว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ซึ่งแฝงไว้ด้วยปรัชญาและจริยธรรมขั้นสูง และถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแพทย์ภาคประชาชน ที่ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพ สิ่งสำคัญที่สุดของยาอายุวัฒนะคือ มีคำพูดว่า ยาอายุวัฒนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ จิตใจที่เข้มแข็ง”

ตำรายาอายุวัฒนะ

สูตรที่ 1
ใช้บอระเพ็ดและน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เอาเปลือกที่เป็นเกล็ดของบอระเพ็ดออก ล้างน้ำให้สะอาด ซอยเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำไปผึ่งแดดสักประมาณ 2 แดด ใส่ในภาชนะ เทน้ำผึ้งลงให้ท่วมบอระเพ็ด ปิดให้มิดชิด 15 วันแล้วรับประทานได้ ครั้งละ 2-3 ชิ้น ก่อนอาหาร ทำให้เจริญอาหาร หลับสบาย ไม่ปวดเมื่อยเนื้อตัว จิตใจเยือกเย็น

สูตรที่ 2 เป็นยาบำรุงกำลังประเภทลูกกลอน ส่วนประกอบที่ต้องใช้คือ ต้นเหงือกปลาหมอ ใช้ทั้งราก ลำต้น ใบ ผล ดอก 2 ส่วน พริกไทยดำป่น 1 ส่วน และน้ำผึ้ง ซึ่งต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ใส่จนกว่าจะปั้นเป็นก้อนได้ วิธีการปรุงคือ นำต้นเหงือกปลาหมอมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาตากแดดให้แห้งแล้วนำมาตำให้ละเอียด นำมาผสมกับพริกไทยดำที่ป่นละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งคนให้เข้ากันจนเหนียวแล้วปั้นเป็นก้อนเท่าเม็ดพุทรา นำไปผึ่งไว้ เก็บไว้รับประทานครั้งละ 1 เม็ดทุกเช้าเย็นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ปวดเมื่อยเนื้อตัว กินได้ นอนหลับสบาย
กำลังโหลดความคิดเห็น