xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็นเพลงชาติไทยในปัจจุบัน…

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน...”


ทันทีที่ได้ยินเพลงดังกล่าว เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงต้องลุกขึ้นยืนตรงโดยอัตโนมัติ และก็เชื่ออีกเช่นกันว่า หลายๆ คนคงจะเคยขนลุกชันเมื่อได้ฟังเพลงชาติไทยที่ถูกบรรเลงในการแข่งขันกีฬานานาชาติ เมื่อนักกีฬาของไทยคว้าเหรียญทองมาครอง
ความรู้สึกที่ว่าคงไม่เกิดขึ้นกับคนชาติอื่นๆ เมื่อได้ยินเพลงชาติไทย ...ความฮึกเหิม ซาบซึ้งและความภาคภูมิใจในเอกราช มีไว้สำหรับคนไทยที่เกิดและเติบโตมาพร้อมๆ กับเพลงชาติไทย ที่จะได้ยินสม่ำเสมอเวลา 08.00 น.และ 18.00 น. นับแต่จำความได้

เหตุเพราะ “เพลงชาติไทย” เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติและเป็นเพลงของคนไทยทุกคน ดังนั้นเมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าค่ายยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจวงการเพลงอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นำเอาเพลงชาติไปเรียบเรียงดนตรีและเสียงร้องขึ้นใหม่ แม้ว่าจะคงเนื้อและทำนองเดิมไว้ นั่นก็มากพอที่จะกระทบต่อความรู้สึกของคนในชาติ และตามมาด้วยกระแสต่อต้านอย่างมากมาย

แนวคิดเรื่องการแต่งเพลงประจำชาตินั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2414 หรือเมื่อ 134 ปีล่วงมาแล้ว โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก ซึ่งประเทศในแถบนั้นต่างมีเพลงประจำชาติมาก่อน

สำหรับประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษโดยตรง เนื่องจากในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ.2395 ได้มีนายทหารอังกฤษ 2 คน เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ในวังหลวงและวังหน้า ชื่อ ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas G. Knox) นายทหารอังกฤษทั้ง 2 นายนี้ ได้ใช้ เพลงก็อด เซฟ เดอะ ควีน (God Save the Queen) เป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร ซึ่งขณะนั้นประเทศอังกฤษใช้เพลงดังกล่าวเป็นเพลงประจำชาติ

การฝึกทหารของไทยในสมัยนั้นได้ถอดแบบของประเทศอังกฤษทั้งหมด รวมถึงการใช้เพลงก็อด เซฟ เดอะ ควีน เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์สำหรับกองทหารไทยด้วย ซึ่งเพลงดังกล่าวถูกนำมาใช้อยู่ในช่วงปี พ.ศ.2395-2414 โดยเรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ"

ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ โดยใช้เนื้อเพลงก็อดเซฟเดอะควีนเดิม และตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า "จอมราชจงเจริญ" ซึ่งเพลง “จอมราชจงเจริญ” นับว่าเป็นเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม มีเนื้อเพลงว่า “ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชน...มาน นับรอบร้อย แฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร”

ในปี พ.ศ.2414 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นสิงคโปร์ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษอยู่ กองทหารดุริยางค์สิงคโปร์ได้บรรเลงเพลงก็อด เซฟ เดอะควีน เพื่อถวายความเคารพ

ครั้นเมื่อทรงเสด็จกลับถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษาหาเพลงชาติที่มีความเป็นไทยมาใช้แทนเพลงก็อด เซฟ เดอะควีน เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเอง เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติ
คณะครูดนตรีไทยได้เลือก เพลงทรงพระสุบัน หรือเพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความเป็นสากลขึ้น โดย เฮวุดเซน (Heutsen) นับเป็น เพลงชาติไทยฉบับที่ 2 ใช้บรรเลงอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2414-2431

สำหรับเพลงชาติไทยฉบับที่ 3 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติ ในระหว่างปี พ.ศ.2431-2475

เพลงชาติไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาอีก เป็น ฉบับที่ 4 ซึ่งนำ “เพลงชาติมหาชัย” มาใช้เป็นเพลงชาติ ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยอาศัยทำนองเพลงมหาชัย ส่วนคำร้องนั้น ประพันธ์โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้ขับร้องและบรรเลงปลุกเร้าใจประชาชน ก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื้อเพลง ดังนี้

“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”


เพลงชาติไทยฉบับที่ 5 คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้องประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ.2475-2477 ซึ่งมีอยู่ 2 บทด้วยกัน คือ

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย”


ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเพลงชาติเป็นฉบับที่ 6 คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล เข้าต่อจากคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ.2477-2482 เป็นเพลงชาติที่เป็นฉบับของทาง "ราชการ" ฉบับแรก เนื้อเพลง ดังนี้

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี ไทยพลีชีวิตร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยโบราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ไทย ไทยด้อยจนย่อยยับ ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา นั้นมิใช่ว่า จะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย”


แต่เนื่องจากเนื้อเพลงชาติฉบับดังกล่าวยาวเกินไป ใช้เวลาบรรเลงถึง 3 นาที 52 วินาที จึงมีการประกวดเพลงชาติขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ (ฉบับที่ 5) เปลี่ยนคำร้องใหม่ ประพันธ์โดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งชนะการประกวด โดยส่งในนามของกองทัพบก รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้เพลงชาติไทยฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อร้อง ดังนี้

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย”


นอกจากนี้ ได้กำหนดให้การบรรเลงเพลงชาติ ใช้สำหรับธงประจำกองทหาร ธงประจำกองยุวชนทหาร ธงชาติประจำสำนักงานของรัฐบาลในขณะขึ้นลง และธงราชนาวีประจำเรือ ขณะทำพิธีขึ้นลง ธงชาติในพิธีการที่ชักขึ้นเพื่อเป็นเกียรติภูมิของชาติ ซึ่งเพลงชาติที่เปิดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นการบรรเลงและขับร้องโดยวงดุริยางค์สี่เหล่าทัพและกรมศิลปากร
กว่าจะมาเป็นเพลงชาติถึงทุกวันนี้...ใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ใครที่คิดจะเอาไปทำใหม่ลองฟังกระแสเสียงของคนในชาติดูปะไร ว่าใครเขาเห็นด้วยบ้าง

หมายเหตุ :เรียบเรียงจากข้อมูล ห้องสมุดทางทหาร กองทัพบกไทย และบทความของ ดร.สุกรี เจริญสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น