…ลูกร้องไห้โยเย แต่ไม่มีน้ำตา แถมมีอาการปวดท้อง และท้องร่วงรุนแรง กินอะไรก็อาเจียนออกมาหมด แล้วก็มีไข้ขึ้น …ได้เห็นเช่นนี้ หัวใจของคนเป็นพ่อ-แม่คงแทบแหลกสลายเพราะสงสารและวิตกเป็นห่วงลูกน้อย...
เหตุใดจึงเกิดอาการเช่นนี้กับลูก แล้วจะทำอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับ “โรต้าไวรัส” ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กมีอาการท้องร่วงและอาเจียนอย่างรุนแรง เพื่อหาวิธีรับมือกันดีกว่า
Dr Paul E Kilgore นักวิจัยศูนย์วัคซีนนานาชาติ ประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ อธิบายถึงโรคท้องร่วงที่เกิดจากโรต้าไวรัส (ROTAVIRUS) ว่า โรต้าไวรัสเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะมีลักษณะเหมือนวงล้อ ค้นพบโดยกุมารแพทย์หญิง Ruth Bisip ชาวออสเตรเลีย เมื่อประมาณ 30 ปี ที่แล้ว โดยเชื้อโรคดังกล่าวทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้และมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในเด็ก ซึ่งอาจทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
การติดเชื้อโรต้าไวรัสพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการศึกษาของ Parashar และคณะพบว่า เด็กเกือบทุกคนเคยมีอาการท้องร่วงซึ่งมีสาเหตุจากโรต้าไวรัสอย่างน้อย 1 ครั้ง เด็ก 1 ใน 5 คน จะต้องเข้ารับการรักษาในคลินิกเด็ก 1 ใน 65 คน จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เด็ก 1 ใน 300 คน จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากโรต้าไวรัส
ทั้งนี้ โรต้าไวรัสยังเป็นสาเหตุของท้องร่วงและอาเจียนรุนแรงในเด็กทารกอายุระหว่าง 3–24 เดือนทั่วโลก พบว่าเด็กวัย 6 เดือนจะมีความเสี่ยงสูงที่สุดในการที่จะติดเชื้อโรต้าไวรัสนี้ โดยเฉพาะเด็กๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเด็กในประเทศที่กำลังพัฒนาเสียชีวิต ซึ่งในแต่ละปีโรต้าไวรัสทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบสูงถึง 111 ล้านครั้งและมีผู้ที่เสียชีวิตสูงถึง 440,000-600,000 ราย เฉลี่ยแล้วจะมีเด็กเสียชีวิต 1 คนทุกๆ 1 นาที ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบประเทศอินเดีย ประเทศในแถบซับซาฮาร่าในแอฟริกา และประเทศในแถบอเมริกาใต้ โดยสถิติของผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่คลินิกสูงถึง 25 ล้านคน และกว่า 2 ล้านคน ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับประเทศไทย มีการประมาณว่าเด็กที่ป่วยจากโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อโรต้าไวรัส มีจำนวนสูงถึง 44% ของจำนวนเด็กที่รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลในแต่ละปี
ส่วนอาการของโรคนั้น น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทย์สภา และประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า เด็กจะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง การเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ 10–20 ครั้งต่อวัน มีไข้ ปวดท้อง โดยจะมีอาการป่วยเป็นไข้ติดต่อกันตั้งแต่ 3-9 วัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียน้ำและต้องรับเข้ารักษาโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับอาการท้องร่วงจากสาเหตุอื่น และอาจทำให้เด็กที่ติดเชื้อเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วด้วยอาการขาดน้ำเนื่องจากท้องร่วงอย่างรุนแรง
”สมัยก่อนเด็กเป็นโรคท้องร่องแล้วเสียชีวิตเยอะ แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงเพราะการแพทย์อนามัยที่เข้าถึงมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวน้อยมาก อย่างไรก็ดีในชีวิตของคนคนหนึ่งในวัยเด็กจะต้องมีอาการท้องเสียขึ้นอยู่กับว่ารุนแรงหรือไม่ เกิดจากสาเหตุอะไร และจะป้องกันรักษาอย่างไร”
Dr Paul E Kilgore กล่าวต่ออีกว่า เชื้อโรต้าไวรัสสามารถติดต่อได้ง่าย เพียงแค่การสัมผัสสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ตามโต๊ะ เก้าอี้ พื้น หรือของเล่นต่างๆ เมื่อเด็กสัมผัสและเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากโรต้าไวรัสมีความอดมน เป็นเชื้อที่แข็งแรง ตายยากมีชีวิตได้นานหลายชั่วโมงบนมือมนุษย์ หลายๆ วันในพื้นผิวที่เป็นของแข็ง และอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ในอุจจาระมนุษย์ การติดต่อจึงเกิดได้ทั้งจากบุคคลสู่บุคคล การบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนด้วย
อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการติดเชื้อโรต้าไวรัสโดยตรง ดังนั้นการรักษาจึงเป็นในลักษณะการเยียวยา รักษาตามอาการของโรค แต่เราก็สามารถป้องกันการติดเชื้อโรต้าไวรัส โดยการยกระดับมาตรฐานของความสะอาดและสุขาภิบาลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการให้วัคซีน ถือเป็นวิธีการป้องกันที่ดีสำหรับเด็กในชุมชนต่อการติดเชื้อโรต้าไวรัส โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัสเป็นลำดับความสำคัญต้นๆ สำหรับสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยถึงแม้จะไม่มีอัตราเด็กป่วยเป็นโรคท้องร่วงรุนแรงถึงเสียชีวิต แต่การที่เด็กต้องป่วยเป็นโรคนี้จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมีอยู่ประมาณ 1% ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากถึง 2,500-10,000 บาท ในแต่ละคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงพยาบาล หากเอกชนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งพ่อแม่ยังต้องละทิ้งหน้าที่การงานเพื่อมาดูแลลูก มีแต่ความวิตกกังวล ดังนั้นการรับวัคซีนโรต้าไวรัสทุกๆ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็กให้มีเพิ่มขึ้น
น.พ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า วัคซีนในการรักษาโรคท้องร่วงสาเหตุจากเชื้อโรต้าไวรัส มีการทดลองผลสำเร็จแล้วและนำไปใช้ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยวัคซีนดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนกับ อย. ซึ่งในช่วงแรกอาจมีราคาสูง แต่หากมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากราคาก็น่าจะลดลง ซึ่งคงจะต้องดูความคุ้มทุน ดังนั้นพ่อแม่ที่ไม่ต้องการเป็นกังวลเรื่องอาการท้องเสียด้วยโรต้าไวรัสอย่างรุนแรง ก็จะเป็นทางเลือกในโรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไป