เนื่องในโอกาส “วันวิสาขบูชา” อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของเรา กำลังจะเวียนมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม ศกนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่าวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลที่สรุปเอาไว้ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สามารถแบ่งความน่าสนใจออกได้เป็น 10 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. “วันวิสาขบูชา” มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ หรือเดือน 6 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหนก็จะเลื่อนไปเป็นขึ้น 15 ค่ำเดือน 7)
การบูชาในวันนี้ก็เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันนี้
2.แม้ว่าเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์จะเกิดขึ้นต่างคราวกัน แต่ก็เวียนมาบรรจบครบรอบในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะของแต่ละเหตุการณ์ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกและมหัศจรรย์ยิ่ง เป็นสิ่งที่มิใช่เกิดขึ้นได้โดยง่าย นั่นคือ ครั้งแรก เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติในเช้าวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวหะ ปัจจุบันอยู่ในเมืองลุมมินเด ประเทศเนปาล (ปีพุทธศักราช นับหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว)
ครั้งที่สอง เป็นวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อวันพุธขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แค้วนมคธ ปัจจุบันคือเมืองพุทธคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย
ครั้งที่สาม คือวันปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเขตกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย รวมสิริพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก่อนพุทธศักราช 1 ปี
3.เจ้าชายสิทธัตถะที่ได้บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรารู้จัก มิใช่พระพุทธเจ้าองค์แรก แต่ในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และโปรดสัตว์ถึง 5 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป และพระสมณโคดม (คือเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่ของกัปนี้ ส่วนองค์ต่อไปที่จะตรัสรู้และมาโปรดสัตว์ ซึ่งเราได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูคือ พระศรีอารยเมตไตรย (พระ-สี-อา-ระ-ยะ-เมด-ไตร) หรือเรียกสั้นๆว่า “พระศรีอาริย์” (พระ-สี-อาน)
4.การที่จะมีพระพุทธเจ้าถือกำเนิดขึ้นมาในโลก มิใช่เป็นเรื่องเกิดขึ้นง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลานานมากนับเป็นกัป โดยโบราณถือว่า เมื่อโลกประลัยครั้งหนึ่งเป็นสิ้นกัปหนึ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อสิ้นแต่ละกัปแล้วจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เพราะบางกัปก็ไม่มีพระพุทธองค์เกิดขึ้นเลย และบางกัป แม้จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ก็เป็น ปัจเจกพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้ออกไปเทศนาสั่งสอนผู้อื่น
พระสมณโคดมเองก่อนจะตรัสรู้มาเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังต้องทรงบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีมาแล้วถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนกัป (คือนานมากจนนับไม่ถ้วน) ต้องรักษาความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจาและใจมาหลายภพหลายชาติจนชาติสุดท้าย คือ พระเวสสันดร ดังที่เราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว
ส่วนพระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยได้อธิษฐานและบำเพ็ญความดีสั่งสมไว้เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น
5.การประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในบ้านเราเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา ซึ่งไทยเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางด้านพุทธศาสนา แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีหลักฐานปรากฏ จนสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีหลักฐานปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ทรงให้มีการฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนได้ประกอบการบุญการกุศล เพื่อเป็นหนทางเจริญอายุ อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยและอุปัทวันตรายต่างๆ ดังนั้น การประกอบพิธีวิสาขบูชาจึงได้มีการถือปฎิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
6. “พุทธะ” หรือ “พระพุทธเจ้า” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันมีความหมายว่า ผู้รู้ คือ รู้ความจริง 4 ประการหรืออริยสัจ 4 ได้แก่ รู้ทุกข์ รู้แหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติในการดับทุกข์ ผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลส ไม่ตกในอำนาจหรือไม่ถูกกิเลสครอบงำอีกต่อไป
ผู้เบิกบานคือ เบิกบานด้วยพระคุณ 3 ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ อันทำให้ทรงทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มที่ด้วยการอุทิศพระองค์จาริกประกาศพระธรรมไปตามแว่นแคว้นต่างๆ ท่ามกลางลัทธิทั้งหลาย จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระโลกนาถ” คือ พระผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลกและเพราะเหตุที่พระองค์ทรงรู้ ทรงตื่น และทรงเบิกบานด้วยพระองค์เอง จึงทรงกล้าประกาศว่าพระองค์เป็น “พระสัมมาสัมพุทธะ” อันหมายถึง ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
7.หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ที่เกี่ยวเนื่องกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานได้แก่ เรื่องความกตัญญู อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท ซึ่งล้วนเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า หากเราน้อมนำไปปฏิบัติก็ช่วยพัฒนาตัวเราและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดี
8.ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อน คู่กับความกตเวที คือการตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้แก่เรา ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนี้ เป็นคุณธรรมที่ช่วยค้ำจุนโลก ทำให้โลกและสังคมร่มเย็นเป็นสุข
ส่วนอริยสัจ 4 อันเป็นความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และนำออกสั่งสอนชาวโลก ก็เป็นหลักธรรมที่ทำให้เราได้รู้จักชีวิต รู้จักโลกตามความเป็นจริง และเรียนรู้วิธีแก้ไข และหลักธรรมในเรื่องความไม่ประมาทอันเป็นเรื่องสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวไว้ เป็นการเตือนสติให้เรารู้ตัวตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ เพื่อให้เราดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
9.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ “วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากล” ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวันดังกล่าวอันเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศาสดาของพุทธศาสนาอันเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางจิตวิญญาณต่อมวลมนุษยชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา และสืบต่อไปในอนาคต อีกทั้งคำสั่งสอนที่ให้มวลมนุษยชาติมีเมตตาธรรม และขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม ก็สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ
10.กิจกรรมหรือแนวทางที่พึงปฏิบัติในวันนี้อาจทำได้หลายประการ เช่น ในส่วนบุคคลและครอบครัว ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา การไปเวียนเทียนที่วัด การประดับธงชาติ ธงธรรมจักรตามบ้านเรือน อาคารสถานที่ การจัดแต่งที่บูชาพระประจำบ้าน การพาครอบครัวไปร่วมปฏิบัติธรรม บำเพ็ญกุศลต่างๆ
ส่วนสถาบันการศึกษา อาจจะมีการจัดนิทรรศการ การเสวนา การประกวดเรียงความ ประกาศเกียรติคุณนักเรียน นักศึกษาที่มีความประพฤติดีเพื่อเป็นแบบอย่าง การพานักเรียนไปร่วมงานกับชุมชนที่วัด หรือทำสาธารณประโยชน์ด้วยการร่วมปลูกต้นไม้ เพราะในวันวิสาขบูชา นี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” ด้วย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532
อนึ่ง หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๘ วัน บรรดากษัตริย์มัลละแห่งกุสินารา รวมถึงพุทธศาสนิกชน และพุทธสาวกอันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน ก็ได้พร้อมใจกันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มงกุฏพันธนเจดีย์ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกวันนี้ว่า “วันอัฐมีบูชา” หรือการบูชาในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งวันดังกล่าว นอกจากจะมีการถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน และเป็นมูลเหตุให้เกิดปฐมสังคายนาต่อมาด้วย เนื่องจากสุภัททะ ซึ่งบวชอายุมากแล้ว พูดจาดูหมิ่นพระธรรมวินัย พระมหากัสสปะจึงเกรงว่า พระธรรมวินัยจะสูญสิ้นไปในอนาคต จึงได้ประชุมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปร่วมกันทำปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหาทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จเสร็จสิ้น สำหรับวันอัฐมีบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๔๘