xs
xsm
sm
md
lg

บูธศาลาไทยในงานเอ็กซ์โปไอจิส่อแววไม่โปร่งใสตั้งแต่ประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉบูธศาลาไทย ในงานเอ็กซ์โปไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ส่อไม่โปร่งใสตั้งแต่ขั้นตอนการประมุล เจเอสแอลยื่นประมูลสูงกว่าวงเงินแต่กลับได้รับเลือก สุดท้ายปรับเหลือ 200 ล้านตามวงเงินที่กำหนด โดยเจเอสแอลขอสปอนเซอร์สนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้หลายสิบล้าน ส่วนกรมส่งเสริมการส่งออกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบ ว่าจ้างสร้างศาลาไทยพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร แต่ถึงเวลาส่งมอบสร้างแค่ 900 ตารางเมตรเท่านั้น


สืบเนื่องจากกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บูธศาลาไทยในงานเอ็กซ์โปไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ไม่สวยงามและไม่ดึงดูดเท่ากับของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการภายในก็ทำอย่างไม่มีคุณภาพ กระทั่งนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะมีคำสั่งเด็ดขาดว่าจะยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับ บริษัท เจเอสแอล ในฐานะผู้รับงานประมูลก่อสร้างบูธศาลาไทยด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท แต่ผลงานคุณภาพต่ำ ซึ่งทางบริษัท เจเอสแอลได้ออกมาชี้แจงว่า งบประมาณและระยะเวลามีจำกัด จึงพยายามเร่งรัดงานออกมาให้ทันวันแสดง ภายหลังต่อมาทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ผ่อนผันให้บริษัทเจเอสแอลดำเนินการใหม่ โดยให้ส่งแบบใหม่ในวันที่ 28 เม.ย.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในว่า การสร้างบูธศาลาไทยในงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2005 ไอจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.-25 ก.ย. 48 โดยมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานนั้น ซึ่งทางกรมส่งเสริมฯ ได้จัดให้มีการประมูลงานสร้างบูธของประเทศไทยขึ้น โดยรับหน้าที่หลักในการหาจุดเด่นของประเทศไทยในด้านต่างๆเพื่อนำไปแสดง

“การเปิดประมูลมีวงเงิน 150 ล้านบาท ซึ่ง 2 บริษัทยื่นประมูล และบริษัท เจเอสแอล จำกัด ก็ยื่นประมูลในวงเงิน 250 ล้านบาท แม้ว่าจะเกินวงเงินที่ตั้งไว้ แต่ทางคณะกรรมการพิจารณาผลฯ กลับเลือกบริษัท เจเอสแอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยอ้างเหตุผลว่า ตัวงานน่าสนใจ ซึ่งภายหลังก็ปรับมาเป็น 200 ล้านบาทในที่สุด แต่มีเงื่อนไขว่าทางเจเอสแอลสามารถหาสปอนเซอร์สนับสนุนได้ ซึ่งก็ทราบมาว่าได้จากหลายบริษัทใหญ่ เช่น จาการบินไทย เป็นวงเงินหลายสิบล้าน โดยที่กรมส่งเสริมฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบการใช้เงินตรงนี้

แหล่งข่าวคนเดิม เปิดเผยต่อว่า แต่เนื่องจากทางเจเอสแอลไม่ถนัดในงานก่อสร้างจึงได้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งผลงานที่ออกมามาตรฐานต่ำ แต่ทางเจเอสแอลก็อ้างว่าไม่มีเวลามากพอ ที่สำคัญในสัญญาว่าจ้างระบุว่า เจเอสแอลต้องสร้างศาลาไทยในพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร แต่เมื่อส่งมอบงานจริงกลับมีพื้นที่เพียง 900 ตารางเมตรเท่านั้น และเมื่อดูจาการใช้งบประมาณ เมื่อเทียบกับบูธของประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้รับพื้นที่จัดสรร 1,500 ตารางเมตรเท่ากัน แต่ใช้งบประมาณ 140 ล้านบาท เท่านั้น

มีความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง และขั้นตอนการอนุมัติจัดทำก็ไม่ดูรายละเอียดให้ดี แต่กลับเซ็นสัญญา และเมื่อมีการมอบงาน ทางคณะกรรมการตรวจรับของกรมส่งเสริมฯ ก็รับมอบ โดยไม่ตรวจสอบ คุณภาพงานที่ออกมาจึงไม่น่าประทับใจ คือ เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเอื้อผลประโยชน์กันอยู่ ขณะนี้ภายในกำลังมีการดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้อยู่ ทราบมาว่าทางคณะกรรมาธิการวุฒิสภาชุดที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานคณะกรรมาธิการจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาตรวจสอบ”แหล่งข่าวระบุ

สำหรับสาเหตุที่ทางบริษัทเจเอสแอลยังได้รับการต่อสัญญาให้ดำเนินการต่อ ทั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าจะยกเลิกสัญญาในตอนแรกนั้น แหล่งข่าวท่านนี้ ระบุว่า มีการวิ่งเต้นภายใน จนกระทั่งมีมติใหม่ให้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขศาลาทรงไทยในงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2005 ไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนายธาตรี ช่วยประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการ และมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการร่วม

“หากเจเอสแอลถูกยกเลิกสัญญา ความเสียหายจะมีมาก และความไม่โปร่งใสจะโผล่ขึ้นมาทันที เพราะนั่นหมายความว่า เงินที่รับไปต้องมีการคืนเงิน แต่มีการกินตามน้ำอยู่ ดังนั้น จึงต้องดันให้เจเอสแอลดำเนินการต่อให้ได้ หาไม่ความผิดจะโผล่ และจะเสียหายกันไปหมด”

สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการพิจารณาผล และคณะกรรมการตรวจรับงานนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอรายชื่อไปที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถให้รายชื่อได้ โดยอ้างว่า ไม่มีเอกสารอยู่ในมือ

อย่างไรก็ตามผลสรุปที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขบูธศาลาทรงไทยในงานเอ็กซ์โปออกมาในรูปแบบใดนั้น ในวันพรุ่งนี้ทางคณะกรรมการแก้ไขฯ ร่วมกับบริษัทเจเอสแอลจะประชุมร่วมกันอีกครั้ง เวลา 14.00 น. ที่บริษัทเจเอสแอล
กำลังโหลดความคิดเห็น