สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน : ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
หากย้อนกลับไปในอดีต ไม่ต้องไกลมากเพียงแค่สิบถึงยี่สิบปี ทุกคนคงเคยได้ยินการเปรียบเปรยว่าหมอเหมือนกับพ่อพระมาโปรด หมอเหมือนเทวดา และหมอเหมือนกับอะไรอีกหลาย ๆอย่างที่คนคนหนึ่งจะนึกออกถึงสิ่งที่ดี สรรหามาบรรยาย
ทำไมคนในสมัยก่อนจึงมีความคิดเช่นนั้น?
เค้ารู้สึกว่าหมอมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความเอื้ออาทรต่อคนไข้ หมอต้องเสียสละในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น หมอต้องอยู่เวร ต้องอดนอน โดนตามเมื่อไหร่ก็ต้องลุกขึ้นมาดูแลรักษาคนเจ็บป่วย ยิ่งหมอที่อยู่ในชนบท ห่างไกลจากสังคมเมืองด้วยแล้ว ความรู้สึกเทิดทูนของบุคคลที่ถูกเรียกว่าหมอ จะสูงกว่าในเมืองใหญ่ ๆ มากมายนัก
หากย้อนกลับมาดูว่า “หมอ” มีความรู้สึกอย่างไรกับคนไข้ คนไข้เป็นคนเจ็บป่วยที่น่าสงสาร เค้ามาหาเราเค้ามีความทุกข์ เราต้องพยายามช่วยเหลือ ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะรักษาอย่างเท่าเทียมกัน จะเหนื่อยอย่างไรต้องอดทน
ตอนเช้าจะต้องดูคนไข้ที่นอนป่วยในโรงพยาบาล ตอนสายต้องออกตรวจผู้ป่วยนอกตอนบ่ายต้องตรวจผู้ป่วยเฉพาะทาง ตอนเย็นต้องดูผู้ป่วยอีกหนึ่งรอบ ตอนค่ำต้องอยู่เวร บางวันอาจต้องออกหน่วยเคลื่อนที่ ต้องให้ความรู้ทางสุขศึกษาแก่ชุมชน
ดูเหมือนว่าในยี่สิบสี่ชั่วโมงจะถูกถมทับด้วยงานเต็มไปหมด
เมื่อประเทศพัฒนาทางวัตถุมากขึ้น เรามีถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เรามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันด้านการสาธารณสุข เราก็มีโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เรามีการผลิตแพทย์ได้มากขึ้น เรามีแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เรามีแพทย์เรียนจบจากต่างประเทศมากขึ้น แต่อะไรเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับหมอ และหมอกับคนไข้
หมอกับคนไข้ :หมอ เรียกคนไข้ว่า “ลูกค้า” หรือ “ผู้รับบริการ”
เราจะให้บริการทองแก่คุณหากคุณมีสตางค์ หรือคุณมียศถาบรรดาศักดิ์ หากคุณเป็นชาวบ้านธรรมดาคุณก็จะต้องเข้าคิวยาว รอนาน หากคุณป่วยหนักต้องเข้านอนในโรงพยาบาล โอกาสจะได้เตียงในโรงพยาบาลรัฐบาลก็จะน้อย หากคุณไม่มีเส้นมีสายหรือบารมีเพียงพอ หากคุณจ่ายค่าบริการมาก คุณก็จะได้ยินเสียงจ๊ะ จ๋า จากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและแพทย์ หากคุณจ่ายค่าบริการน้อย คุณจะได้รับบริการด้วยใบหน้าเปื้อนมูล
หากคุณคาดหวังมากจากการที่จ่ายมาก และไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น หมอก็ต้องระวังตัวมากขึ้น การหาสาเหตุของโรคจะกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากความผิดพลาด แม้ว่าโอกาสที่จะเป็นโรคนั้นที่ตรวจหา น้อยเพียงใดก็ตาม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการสูงขึ้น โรงพยาบาลและหมอก็ต้องทำประกันกับบริษัทประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งภาระต่าง ๆ เหล่านี้ในที่สุดแล้วก็ถูกผลักมาสู่คนไข้
คนไข้กับหมอ : คนไข้เรียกหมอว่า ผู้ให้บริการ
เสร็จแล้วก็รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อบริการ จ่ายสตางค์แล้วต้องการสิ่งที่ดีตอบแทน ยิ่งจ่ายสตางค์มากยิ่งรู้สึกว่าต้องได้รับการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น ต้องได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ต้องห้ามเกิดข้อผิดพลาดไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ความเคารพ เชื่อถือ ศรัทธา และความไว้วางใจต่อหมอลดลง หากหมอรักษาโรคให้หายหรือดีขึ้นได้ ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งว่าหมอได้ช่วยชีวิตเอาไว้
รับรู้ได้เพียงแต่ “ฉันจ่ายสตางค์ ซื้อบริการนี้แล้ว ถ้าคุณทำหน้าที่ได้ถูกต้องสมบูรณ์ ฉันรอดชีวิตก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว หมูไปไก่มา เจ๊ากันพอดี ไม่ติดหนี้บุญคุณกัน”
กาลเวลาผ่านไป ประเทศพัฒนาในด้านวัตถุมากขึ้น ทั้งคนไข้และหมอมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น จิตสำนึกและมโนธรรมที่ควรมีต่อกันเช่นในอดีตหายไป ความเอื้ออารี เห็นอกเห็นใจผู้ป่วยลดน้อยลง ความเห็นแก่วัตถุเงินทอง ความสะดวกสบายคืบคลานแทนที่ ความเคารพนับถือไว้เนื้อเชื่อใจลดลง ความรู้สึกของความเป็นผู้ซื้อบริการมากขึ้น ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปเพราะเหตุใด อาจเป็นเพราะทุกชีวิตมีความบีบคั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมือง ทุกคนพยายามหาวัตถุเพื่อมาประดับบารมีของตนเอง ทำให้เวลาในการที่จะเสียสละเพื่อคนอื่นลดลง ความรู้สึกที่ต้องแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ความรู้สึกที่ดีที่ควรมีต่อกันลดน้อยลง กลายเป็นว่าเงินตราต่างหากเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมของคน
ควรแล้วหรือที่เราควรจะมีความรู้สึกต่อกันเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?
ผมอยากยกตัวอย่างเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เมื่อคนไข้คนหนึ่งมาพบหมอ เค้าเป็นโรคที่รุนแรงและต้องได้รับการรักษาที่มีหลายแนวทาง แต่ละแนวทางล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงทั้งสิ้น โดยแต่ละแนวมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน ข้อมูลในการรักษาปัจจุบันก็พอมี แต่คนไข้แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดของโรคไม่เหมือนกันแม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน
คนไข้คนหนึ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปตามสถิติทางการแพทย์ที่มีอยู่ก็ได้ หากเป็นคนไข้ในอดีต เค้าจะหาหมอที่คิดว่าไว้ใจได้ ฝากชีวิตไว้ได้ แล้วถามหารายละเอียดและทางเลือกจากหมอเพื่อเตรียมตัวและตั้งตัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แล้วก็จะให้ความเชื่อใจหมอ ให้หมอได้ทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับคนไข้บนประสบการณ์และความรู้ความสามารถของหมอ
แต่หากเป็นคนไข้ในยุคปัจจุบัน คนไข้จะพยายามหาข้อมูลรายละเอียดเช่นเดียวกัน แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน คนไข้อยากจะเป็นคนตัดสินใจด้วยตนเอง
จริง ๆ แล้วบางอย่างคนไข้ต้องตัดสินใจเอง และบางอย่างที่ต้องใช้ประสบการณ์ทางการแพทย์ อาจจะต้องไว้ใจหมอให้เป็นผู้ตัดสินใจแทน โรคบางโรคหมอเองก็ยังไม่แน่ใจเลยว่ารักษาแล้วจะรอดหรือไม่รอด ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ นอกจากความรู้ทางการแพทย์แล้ว โชคชะตาฟ้าลิขิตอาจต้องเป็นส่วนประกอบ คนไข้โรคเดียวกัน รักษาเหมือนกัน บางคนรอด แต่บางคนโชคร้ายไม่รอดก็มี แพทย์ใช้เวลาในการสั่งสมความรู้และประสบการณ์นับเป็นสิบ ๆปี แล้วคนไข้หรือญาติเองเพิ่งจะมาศึกษาหาข้อมูลช่วงที่ป่วยเท่านั้น หากจะเป็นผู้ตัดสินเองอาจจะมีโอกาสที่ผิดพลาดได้มากกว่า
ผมไม่แน่ใจว่าอดีตหรือปัจจุบันเป็นสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังเกิดขึ้น และนับวันก็จะก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น ทุกอย่างเกือบเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยกันมองไปข้างหน้า และมองย้อนกลับไปข้างหลัง พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้อีกครั้ง และช่วยกันคิดว่าสังคมเราควรจะเป็นอย่างไร จึงจะทำให้ทุกคนมีความสุข