ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน มีแต่กระดาษสัญญาใบเดียว, ซื้อบ้านแล้วเข้าอยู่ไม่ได้ เพราะบ้านร้าวจนน่ากลัวว่าจะถล่ม รู้ทีหลังว่ามีการทุจริตทำให้โครงสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน, ทำสัญญาซื้อ จ่ายเงินแล้ว แต่เจ้าของโครงการไม่สร้าง เอาเงินคืนไม่ได้, ซื้อบ้านมาล้านแปด แต่ความทุกข์เกิดกับดิฉันเป็นล้านเท่า เพราะซื้อบ้านไม่สมหวัง, ดิฉันซื้อบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งไล่ดิฉันออกจากบ้านตัวเอง, ไฟดับ น้ำท่วม ไม่มีน้ำประปาใช้ ไม่เคยมีใครมาดูแล, ซื้อบ้านหวังให้ครอบครัวมีความสุข ความมั่นคง ทำไมถึงมีแต่ทุกข์ ฯลฯ
เหล่านี้เป็นคำร้องทุกข์ของคนที่ซื้อบ้านแล้วไม่สมหวังดั่งที่ใจหวัง ทั้งที่อยากมีบ้านที่มั่นคงเพื่อความสุขของครอบครัว แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับกลายเป็นความทุกข์ที่สาหัสสากรรจ์กว่าเดิม ถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้ความผิดปรากฏอย่างเด่นชัด แต่กลไกในสังคมไทยไม่สามารถจัดการได้ วันนี้พวกเขารวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านไม่สมหวัง ยืนยันจะสู้ต่อไป เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมไทย
กรณีตัวอย่าง “บ้านไม่สมหวัง”
รัตนา สัจจเทพ “เจ้าหน้าที่ทุจริต โยนความผิดให้ประชาชน”
เมื่อข้างบ้านต่อเติม ดัดแปลงบ้านจากทาวน์เฮาส์เป็นอาคารพาณิชย์ บ้านรัตนาจึงร้าวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อร้องทุกข์ไปยังสำนักงานเขตบึงกุ่มเพื่อให้ข้างบ้านหยุดต่อเติม เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตกลับแจ้งว่าจะดำเนินคดีกับนางรัตนาในข้อหาเป็น “ผู้ถูกหลอกซื้อ” โดยแจ้งว่าบ้านของรัตนาเป็นบ้านที่สร้างอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ไม่มีการระงับการต่อเติมข้างบ้าน มีแต่ปล่อยให้สร้างจนแล้วเสร็จ และนับตั้งแต่นั้นมารัตนาต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวมาโดยตลอด และไม่ว่ารัตนาจะหันหน้าไปพึ่งหน่วยงานใดซึ่งได้เคยร้องเรียนมากว่า 20 หน่วยงาน แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมติให้เยียวยาแก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำยิ่งกลายเป็นว่า เกิดทุกข์กับตนเองและครอบครัวมากขึ้นทุกขณะ
ดร.เดวิด แฟรงค์ เฮนส์และคณะ “ผมถูกนักธุรกิจชาวไทยโกงข้ามชาติ”
ประมาณปี พ.ศ.2538-2540 บริษัทเดอะยอช์ทเฮเว่น จำกัด ได้ทำการโฆษณาต่อประชาชนทั้งในประเทศและออกโรดโชว์ต่างประเทศว่า จะทำการก่อสร้างโครงการเดอะยอช์ทเฮเว่น จังหวัดภูเก็ตประกอบด้วยท่าจอดเรือยอช์ทขนาดจอดได้ 300 ลำ อาคารชุดที่พักอาศัย สวนพักผ่อน สโมสร สปอร์ตคลับที่มีความหรูหราสมบูรณ์แบบ บนที่ดินประมาณ 500 ไร่ ห่างสนามบินเพียง 10 นาที จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในปี 2541 แต่ปรากฎว่าเวลาล่วงเลยจนถึงบัดนี้ พ.ศ.2548 ยังไม่ได้มีการก่อสร้างตามสัญญา คงมีแต่เพียงที่ดินว่างเปล่า แม้ดร.เดวิดกับเพื่อนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม Action Group จะพยายามขอร้องให้คืนเงิน แต่กลับถูกท้าทายว่าทางบริษัทฯไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆในการที่จะต้องคืนเงินให้ลูกค้า และได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายทางกฎหมายยักย้ายที่ดินแปลงที่นำมาโฆษณาขายไปให้ตัวแทนใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์เพื่อหลบเลี่ยงให้พ้นจากการบังคับคดี
จักรพันธ์ เทิดเหตุผล “โครงสร้างบ้านเหลือ 30 % อยู่อาศัยไม่ได้”
“ปัจจัยหลักของครอบครัวมั่นคง คือ การมีบ้าน แต่การซื้อบ้านกลับทำให้ผมหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหลืออะไรเลย”
จักรพันธ์ซื้อบ้านทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น โครงการหมู่บ้านเมืองทองธานี ด้วยความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่บ้านกลับถูกปลูกสร้างอย่างไร้มาตรฐาน อาคารแตกร้าวอย่างน่ากลัวแม้มองด้วยตาเปล่า เมื่อตรวจสอบกับแบบแปลนยิ่งทำให้ทราบว่า ผู้ประกอบการโกงวัสดุก่อสร้างไปมากกว่าร้อยละ 70 เมื่อร้องเรียนไปหน่วยงานต่างๆกลับพบกับอุปสรรคมากมาย กว่า 5 ปีแล้วที่จักรพันธ์ยังคงต้องต่อสู้ต่อไป ผ่อนดาวน์บ้านต่อไป เพื่อการต่อสู้เรียกร้องตามสิทธิ์ แต่เข้าไปอยู่ไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจว่า บ้านจะไม่ยุบลงมาทับตัวเองและครอบครัวในสักวัน
กัลยกร ตันสิริวงศ์ “ไฟดับ น้ำท่วม พื้นที่สาธารณะไม่มีใครดูแล”
“ถ้าใครอยากมีไฟใช้ก็ต้องเปิดไว้ทั้งวันทั้งคืน จะติดทั้งบ้านแล้วพอตกเย็นก็จะค่อยดับลงทีละดวง ทีละดวง จนเหลือดวงเดียว”
กัลยกรซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านลาดหลุมแก้วเมื่อปี 2547 รออยู่นานเกินสัญญาไปหลายปีกว่าจะได้โอนบ้าน แต่ก่อนโอนพบว่า บ้านมีรอยร้าวหลายจุด และยังไม่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาให้ กัลยกรต่อรองว่าจะไม่รับโอนจนกว่าโครงการจะซ่อมแซมให้เรียบร้อยและให้รับประกันซ่อมแซมบ้านให้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งบริษัทยินยอมแต่ขอผัดผ่อนเรื่องการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาให้ภายใน 6 เดือนหลังการโอน แต่พอเข้าไปอยู่จริงก็เจอปัญหาตลอด ระบบไฟฟ้าให้ใช้พ่วงกับของโครงการ น้ำก็ให้ใช้น้ำบาดาลมากว่า 3 ปี ไม่ใช่ 6 เดือนเช่นที่โครงการสัญญา กว่าจะได้ไฟฟ้าและน้ำประปาที่เหมาะสม ที่สำคัญมาจากการต่อสู้ของผู้บริโภคทั้งนั้นไม่ใช่จากโครงการ ปัจจุบันปัญหาสาธารณูปโภคอื่นยังคงเป็นปัญหาที่ต้องต่อสู้กันต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะอยู่อย่างสุขสบายเสียที
ไพฑูรย์ น้อยวิเศษ และคณะ “ซื้อบ้านไม่ได้แม้แต่เสา”
“ผ่อนดาวน์ไปจนหมด ยังไม่เคยได้เห็นแม้กระทั่งเสาบ้านตัวเอง”
เมื่อมีครอบครัวก็คิดอยากมีบ้านเพื่ออนาคต และเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่เลือกพิจารณาบ้านจากสื่อโฆษณาก่อน แล้วค่อยพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ สุดท้ายเลือก “หมู่บ้านนันทิชา” บนถนนบางกรวย-ไทรน้อย ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่นับพันหลังทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ปี พ.ศ.2537 บริษัทเปิดให้จอง สัญญาระบุ หลังผ่อนดาวน์ 2 ปี บ้านจะสร้างเสร็จพร้อมโอนทันที แต่เมื่อผ่อนดาวน์จนครบพบว่า บางแห่งยังไม่มีการก่อสร้าง บางแห่งมีการก่อสร้างแค่ฐานราก บางแห่งมีการก่อสร้างแต่ไม่เสร็จ และที่เลวร้ายที่สุดคือ บางแห่ง ถูกขายให้กับโครงการอื่นไปแล้ว ทั้งๆที่บริษัทฯต้องส่งมอบบ้านให้ลูกบ้านในปี 2540 ปัจจุบันอนาคตที่หวังฝากไว้กับบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ดูจะมืดมนเหลือเกิน