“สุขภาพ” และ “การรักษา” ดูจะเป็นคำที่มาคู่กัน เพราะเมื่อสุขภาพเราป่วยเมื่อใด เราก็มักจะวิ่งไปหาหมอเมื่อนั้น
และเมื่อหมอตรวจอาการและวินิจฉัยโรคแล้ว ก็สั่งยากลับมาให้รับประทานที่บ้าน หากอาการรุนแรงหรือได้รับอุบัติเหตุ เพื่อตรวจเช็คให้แน่ใจก็ต้องมีการเอกซเรย์ค้นหาสิ่งผิดปกติ แต่ถ้าเป็นหนักก็ต้องลงมีดผ่าตัดและใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่นานสองนาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในระบบสุขภาพที่พบเห็นเสมอๆ ก็คือ เมื่อแต่ละคนหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็มักจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมโดยลืมนึกไปว่า “สุขภาพที่ดี” นั้นหาใช่มาจากการรักษา แต่มาจากการดูแลรักษาสุขภาพให้สมดุลและกลับคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม
และนั่นคือปรัชญาแห่งการรักษาที่เรียกว่า “การแพทย์แบบองค์รวม”
กาย จิต สภาพแวดล้อม : หัวใจของ Holistic Medicine
กองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้คำนิยาม การแพทย์แบบองค์รวม หรือ Holistic Medicine ไว้ว่า คือ การใช้การแพทย์หลากหลายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสหลัก แผนไทย และทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยทั้งตัว ไม่ใช่รักษาเฉพาะโรคหรืออวัยวะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลหมดทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
อาจารย์ไกรวุฒิ มักพิมล ผู้เชี่ยวชาญแพทย์ทางเลือกด้านโภชนาศาสตร์และกลิ่นบำบัด อธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาแบบองค์รวมคือ การกลับไปสู่สมดุล หรือสูงสุดคืนสู่สามัญ กลับไปสู่สิ่งที่ง่ายที่สุด โดยต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ โภชนาการ การปรับปรุงโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ และเรื่องจิตใจคือการฝึกสมาธิ
นอกจากนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การรับประทานอาหารที่คนไทยทุกวันนี้ยังขาดความรู้อยู่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการให้คำจำกัดความคำว่า “สุขภาพ” ของกระทรวงสาธารณสุขคลาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน
“จริงๆ แล้วมนุษย์อย่างเรานั้น เป็นสัตว์กินพืช หากอายุมากกว่า 25 ปีควรทานคาร์โบไฮเดรต 60% และทานผักเยอะๆ ก็เพียงพอแล้วสำหรับร่างกาย เพราะเราต้องการโปรตีนเพียงนิดเดียวเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและโปรตีนในผักก็เพียงพอสำหรับร่างกายมนุษย์ อย่างเนื้อและไขมันนั้นจัดเป็นสารอาหารที่เลี้ยงมะเร็ง ที่เราเป็นมะเร็งส่วนหนึ่งเพราะการกินอาหาร ถ้าเราหยุด 2 อย่างนี้ได้ มะเร็งจะค่อยๆ ฝ่อลง”
“ที่น่าห่วงก็คือนิสัยการทานอาหารของคนไทย เพราะคนปัจจุบันกินอาหารตามแฟชั่นและอาหารเหล่านั้นนอกจากแพงแล้วยังมักไม่มีประโยชน์ คนเดี๋ยวนี้กินเพื่อความเท่ อย่างกินกาแฟต้องถ้วยเป็นร้อยๆ คุณกินกาแฟ 5 บาทได้ไหม? ได้ คุณดื่มน้ำต้มที่มาจากก๊อกได้ไหม? ได้ ทำไมต้องกินน้ำขวดละ 7 บาทด้วยละ คือ เราหาเงิน เสร็จแล้วก็หาสิ่งที่เป็นพิษมากิน”อาจารย์ไกรวุฒิอธิบาย
จิตใจ : วิถีพุทธช่วยได้
จากเรื่องอาหารก็มาถึงจิตใจ เพราะจิตใจกับร่างกายนั้นเกี่ยวพันกันจนยากจะปฏิเสธ เมื่อจิตป่วยร่างกายก็ป่วย เมื่อร่างกายป่วยจิตใจก็ห่อเหี่ยวเป็นธรรมดา ซึ่งศาสนาเป็นอีกสิ่งยึดเหนี่ยวช่วยให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นได้
นอกจากนี้ การกลับเข้าสู่วิถีแห่งศาสนา ยังทำให้เรากลับไปสู่ความเรียบง่าย กลับสู่ความจริง กลับสู่ความมีสติ และปัญญาอีกด้วย
อาจารย์ศุภชัย จารุสมบูรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิการแพทย์ทางเลือกแห่งประเทศไทย ให้ภาพถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพและศาสนาไว้ว่า สมัยก่อนเวลาคนไม่สบายจะไปวัด เพราะศาสนาเกิดมาจากพื้นฐานที่มนุษย์เรากลัวโรคภัย กลัวภัยธรรมชาติ การกำหนดให้เราทำอย่างนู้น อย่าทำอย่างนี้ ก็เพื่อให้สุขภาพเราแข็งแรง เราจะมีสติ มีสมาธิ รู้ภัยธรรมชาติ สัมพันธ์กับโลกได้
“สำหรับผม ธรรมะไม่ใช่แค่เรื่องของกฎเกณฑ์ ธรรมะ คือ ธรรมชาติ สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ก็คือกฎของธรรมชาติ”
นอกจากนี้ อาจารย์ศุภชัย ยังให้คำแนะนำถึงหลักง่ายๆ ของการมีสุขภาพดีว่า “การทำความดี ไม่ทำความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส เพราะสามสิ่งนี้เกี่ยวพันกัน คือ คุณทำดี คุณก็ไม่อยากทำชั่ว จิตใจคุณก็ดี แล้วคุณก็มีสุขภาพที่ดี หรือ คุณไม่ทำชั่ว คุณก็ทำแต่ความดี แล้วจิตใจคุณก็ผ่องใส หรือ หากจิตใจคุณผ่องใส คุณก็จะอยากทำแต่ความดี ไม่อยากทำชั่ว สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเป็นผล และทำให้สุขภาพของคุณดีเยี่ยม ทั้งนี้ หลักของการดูแลตัวเองที่ใครๆก็สามารถทำได้ว่ามีหลักอยู่เพียง 4 อย่างคือ ขับถ่ายให้ตรงเวลา ทานน้ำเยอะๆ ออกกำลังกายให้เหงื่อออก หายใจให้ถูกต้อง”
ด้าน อ.ไกรวุฒิถึงกับกล่าวว่า “การแพทย์ทุกอย่างนั้นขโมยมาจากพระไตรปิฎก” เลยทีเดียว โดย อ.ไกรวุฒิยกตัวอย่างในกระทำของพุทธองค์ที่ตั้งกฎให้พระฉันน้ำมะตูมทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีลดฮอร์โมนเพศ ลดความอยากในกามในเหล่าสงฆ์ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์พิสูจน์พบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
นอกจากนี้ อ.ไกรวุฒิยังกล่าวถึงความน่ามหัศจรรย์ขององค์ความรู้ของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าเป็นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก ไม่นานมานี้ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยอมรับ ว่าหากพระพุทธองค์ยังอยู่จะมอบตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ เพราะเป็นคนๆเดียวที่ตอบได้ว่า มนุษย์เกิดมาจากอะไร พระพุทธเจ้าตอบว่ามาจากรังผึ้ง ซึ่งสัญลักษณ์ 6 เหลี่ยมของรังผึ้งก็คือเซลล์ และมนุษย์ก็เกิดมาจากเซลล์
คนเมืองกับการกลับเข้าสู่วิถีธรรมชาติ
หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่า การใช้ชีวิตที่ห่างไกลธรรมชาติของคนเมืองในปัจจุบัน ที่ทั้งนอนดึก ตื่นสาย การรับประทานอาหารที่มากและรีบเร่งเกินไป การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใกล้ตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์หรือ มือถือ กัดกร่อนสุขภาพของเราทีละน้อยๆ จนสุดท้ายก็สะสม และเป็นโรคร้ายในที่สุด
อ.ศุภชัย ให้ความรู้ว่าทุกวันนี้สาเหตุของการเจ็บป่วยร้อยละ 65 ไม่ได้มาจากเชื้อโรค แต่มาจากวิธีการใช้ชีวิตของเราต่างหาก เพราะร่างกายมันผิดธรรมชาติ กินอยู่หลับนอนผิดธรรมชาติ หายใจก็ไม่เป็นธรรมชาติ
ฉะนั้นการดูแลการใช้ชีวิตให้เข้าใกล้วิถีธรรมชาติ จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาเลย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางฝุ่นควันและสิ่งแวดล้อมแบบคนเมืองที่ต้องผจญมลพิษของเสียต่างๆ ท่ามกลางการทำงานที่ต้องเผชิญความเครียดอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ท่ามกลางมื้ออาหารที่รีบเร่ง ทำให้หลายคนเกิดความคิดว่า การกลับเข้าสู่วิถีธรรมชาติของคนเมืองอาจจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไป
ในเรื่องนี้ อ.ไกรวุฒิสรุปว่า “ทำได้แน่นอน ง่ายมาก อย่างเรื่องทานอาหาร ที่ทำงานให้เวลาคุณ 1 ชั่วโมงในการทาน แต่จริงแล้วจะเห็นว่ากินกันไม่ถึง 10 นาที ทำไมต้องรีบ บางคนติดเป็นนิสัย ผมแนะนำให้ค่อยๆ เคี้ยวข้าวก่อนอย่างละเอียดสัก 3 คำ แล้วค่อยทานตามปกติ ระบบจะดูดซึมได้ดี อย่างอาหารที่เลือกทานก็เลือกที่เบสิกที่สุดเลย เช่น ข้าวราดแกง ก็เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยประโยชน์และอร่อย พยายามเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ก็จะดี”
“หรือแม้แต่โรคมะเร็ง การกลับเข้าสู่วิถีธรรมชาติก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ทำไมเวลาคุณเป็นมะเร็งต้องวิ่งไปทำคีโม ต้องไปผ่าตัด ฉายแสง ทั้งๆที่สิ่งที่คุณต้องหาคือ อาหาร อากาศ น้ำ ที่สะอาด และจิตใจที่ไม่เครียดต่างหาก แต่หลายๆคนไม่ได้ใส่ใจ”
...หลักการดูแลสุขภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถทำได้สักที อาจเป็นเพราะความเคยชินหรือความมักง่าย เพราะผลของการไม่ดูแลสุขภาพนั้นไม่ปรากฏให้เห็นวันนี้พรุ่งนี้ แต่เป็นผลระยะยาวที่อาจสายเกินแก้
และนี่อาจจะเป็นคำถามที่สักวันเราคงต้องกลับมาถามตัวเองว่า “จริงๆแล้วเราทำไม่ได้ หรือ ไม่เลือกจะทำกันแน่?”