xs
xsm
sm
md
lg

แก้นิสัยดูดนิ้ว กัดเล็บแต่เด็ก ทางออกปัญหาทันตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันตแพทย์ศิริราชแนะผู้ปกครองนำบุตรหลานพบทันตแพทย์เป็นประจำ หากพบฟันผิดรูปทั้ง ฟันล้ม เอียงหรือฟันน้ำนมถูกถอนก่อนกำหนดบางซี่ต้องรับบริการทันตกรรม แก้นิสัยลิ้นดันฟัน ดูดนิ้วมือ กัดเล็บ กัดริมฝีปาก เพราะมีผลต่อการเรียงตัวของฟัน

ทพญ.วรรณดี พลานุ ภาพ งานทันตกรรม คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า เด็ก ๆ ที่มีฟันขาวสวยงาม นอกจากจะแสดงถึงความเอาใจใส่ของพ่อแม่แล้ว ยังหมายถึงสุขภาพในช่องปากที่ดีของเด็กในอนาคตด้วย การที่เด็กมีฟันล้ม เอียง หรือผิดรูปทรง ควรได้รับการบำบัดทางทันตกรรมเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การจัดฟันในช่วงที่เด็กยังมีฟันน้ำนมบางซี่ที่ถูกถอนออกไปก่อนกำหนด จำเป็นต้องใส่เครื่องมือจัดฟันเพื่อรักษาช่องว่างให้ฟันแท้ขึ้นได้ในเวลาต่อมา หรือ ในกรณีที่ช่องว่างดังกล่าวถูกฟันข้างเคียงเลื่อนเข้ามา ก็ต้องอาศัยเครื่องมือจัดฟันใส่ ไว้เพื่อเปิดช่องว่างดังกล่าวให้กว้างขึ้น

ทพญ.วรรณดี กล่าวว่า เด็กบางคนมีนิสัยบางอย่างที่ก่ออันตรายต่อ ฟัน เช่น มักใช้ลิ้นดันฟัน ดูดนิ้วมือ กัดเล็บ กัดริมฝีปากเหล่านี้ก็ต้องได้รับการแก้ไขเพราะมีผลต่อการเรียงตัวของฟัน โดยใส่เครื่องมือจัดฟันช่วยแก้นิสัยให้แก่เด็กในระยะนี้ ส่วนการจัดฟันในช่วงที่เด็ก มีฟันแท้ขึ้นบางซี่ การแก้ไขในระยะนี้จะช่วยทำให้การจัดฟันง่ายขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างรุนแรง และสุดท้ายคือการจัดฟัน เริ่มเมื่ออายุ 11-13 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่ให้ผลดีที่สุดในการรักษา เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และไม่มีฟันน้ำนมเหลืออยู่ในปากอีก




แก้นิสัยเจ้าตัวน้อย

เด็กย่อมเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ ลูกสุดที่รักสามารถทำให้คุณขำ ทำให้คุณหลง ทำให้คุณทึ่ง และบางครั้งทำให้คุณโมโหกับพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ถูกใจคุณ

เชื่อว่าไม่มีอะไรจะทำให้คุณประสาทเสียได้เท่ากับพฤติกรรมประหลาดของลูก เช่น ดูดนิ้ว กัดเล็บ ดึงผม แคะจมูก เอาหัวโขก และ นิสัยชอบกัด สิ่งเหล่านี้เป็นนิสัยที่แก้ไขลำบาก แต่ก็แก้ไขได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องให้เวลา ทำความเข้าใจ อดทน (อย่างมาก) ในที่สุดนิสัยเหล่านั้น ของลูกจะค่อยหายไป

ทำไมเด็กจึงมีนิสัยเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ทราบว่า พฤติกรรมการเรียนรู้ ในทางที่ถูกต้อง จะช่วยแก้ไขนิสัยเหล่านี้ได้ นิสัยคือแบบแผนของพฤติกรรมที่มีการทำซ้ำๆ และเจ้าตัวมักไม่รู้สึกตัว สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในเด็กระหว่างอายุ 2 ขวบครึ่ง - 5 ขวบครึ่ง ตามทฤษฎีพัฒนาการเด็ก กล่าวว่าเมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้น เด็กร้อยละ 90 ก็จะเลิกนิสัยเหล่านั้นได้เอง

การดูดนิ้ว

เด็กกว่าร้อยละ 60 รู้จักการดูดนิ้วก่อนอายุถึง 1 ขวบ ก่อนจะสามารถออกเสียง หรือแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง เมื่ออายุเลย 1 ขวบแล้ว การดูดนิ้วจะเป็นการทดแทนความต้องการของจิตใจเด็ก หรือเป็นนิสัยที่เกิดจากพฤติกรรมการเรียนรู้ และทำซ้ำจนเกิดความเคยชิน

การดูดนิ้วช่วยสร้างความอุ่นใจแก่เด็กเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งรอบตัว หรือโลกภายนอก ความคิดถึงสายสัมพันธ์ที่เด็กมีต่อแม่เป็นสาเหตุให้เด็กดูดนิ้ว บางครั้งเพื่อทำให้เด็กรู้สึกมั่นคง อุ่นใจ รู้สึกเหมือนแม่อยู่ใกล้ๆ

หากลูกยังดูดนิ้วจนอายุถึง 3-5 ขวบ โปรดอย่าตกใจ หรือหมดหวังว่าลูกจะหาย เพราะมีการสำรวจพบว่า เด็กก่อนวัยเรียนร้อยละ 30 - 50 ยังดูดนิ้วอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเลิกไปเมื่ออายุ 5 ขวบ แต่ต้องดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด ถ้าเด็กดูดนิ้วอย่างมาก หรือตลอดเวลา และอายุมากกว่า 5 ขวบแล้วยังดูด หรือเมื่อเริ่มมีฟันแท้ขึ้นแล้ว บางคนมีความเห็นว่าให้ลูกดูดจุกหลอก ตั้งแต่เล็กๆ จะได้ไม่ดูดนิ้ว แต่ต้องคิดด้วยว่าลูกอาจติดจุกหลอกแทน เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี

การช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้ว อาจจะคุยกับลูก แต่ไม่ใช่การขู่หรือดุด้วยเสียงดัง คุณควรชี้ให้ลูกเห็นผลเสียของการดูดนิ้วที่เข้าใจได้ง่าย เช่นทำให้นิ้วเหี่ยว เป็นแผล เลือดออก ฟันยื่น และแสดงความรัก ความห่วงใยให้ลูกรู้ แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ รอบข้างของลูกก็ไม่มีใครดูดนิ้ว เป็นต้น

การจะให้ลูกเลิกดูดนิ้วนั้นจะสำเร็จได้ง่ายถ้าลูกมีความตั้งใจร่วมด้วย เพราะถ้าฝืนใจลูกอาจทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น คุณจึงควรใช้ความนุ่มนวล และพยายามเข้าใจลูก ชมเชยเมื่อทำได้ดีเมื่อลูกไม่ดูดนิ้ว ต้องไม่ตำหนิ หรือพูดจาให้ลูกเกิดความรู้สึกน้อยใจ หรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง การให้รางวัลมักจะใช้ได้ผล เช่น การให้ดาวในสมุดบันทึก รางวัลพิเศษ อย่างการเล่านิทานก่อนนอนเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้วได้ ควรช่วยลูกให้เลิกดูดนิ้วในตอนกลางวันก่อน จากนั้นค่อยๆ ช่วยให้เลิกเวลานั่งเพลิน หรือดูทีวี และสุดท้ายคือ ก่อนนอน ในกรณีที่ลูกดูดนิ้วน้อยลง แต่ยังไม่สามารถเลิกได้ และฟันแท้ขึ้นแล้ว ควรปรึกษาทันตแพทย์ร่วมด้วยเพื่อการดูดแลฟันระหว่างที่คุณและลูกค่อยๆ พัฒนาต่อไป

กัดเล็บ

พบบ่อยช่วงอายุ 3-6 ขวบ บางคนอาจเริ่มด้วยการแคะเล็บก่อนจะเริ่มกัดแทะ ส่วนใหญ่ที่พบเป็นการกัดเล็บที่นิ้วมือ ส่วนน้อยที่จะกัดเล็บเท้า เมื่อเด็กอายุน้อยๆ สามารถกัดเล็บได้ทั้งนั้น แต่เมื่อโตขึ้นมักจะเลิกไปเอง พบว่าเด็กที่ยังไม่เลิกกัดเล็บเมื่อโตขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

หลักการเดียวกันคือ ไม่ว่าคุณจะหงุดหงิดมากแค่ไหน อย่าดุลูก สิ่งแรกที่ควรทำคือดูว่ามีอะไรกวนใจหรือทำให้ลูกกังวลหรือเปล่า ถ้ามีแก้ไขหรือช่วยบรรเทาให้เบาบางลงก่อน การเอายาขมป้ายนิ้วไม่ช่วยให้ลูกเลิก ลูกจะยิ่งเอาชนะ เปลี่ยนไปดูดนิ้วอื่น การป้ายยาขมอาจช่วยเตือนเมื่อเด็กเผลอตัวเอานิ้วมาใส่ปาก วิธีนี้จึงอาจมีประโยชน์กับเด็กที่คิดอยากเลิกอยุ่แล้ว ส่วนเด็กผู้หญิงการทาเล็บสีสวยๆ ถ้าเด็กชอบอาจช่วยได้ บอกเด็กว่าถ้ากัดเล็บจะไม่สวย ลองใช้วิธีเหล่านี้ ร่วมกับชมเชยลูกเสมอๆ

ที่มา : http://www.healthtoday.net

กำลังโหลดความคิดเห็น