xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จับมือจุฬาฯ พัฒนาระบบยา ระบุยาแพงไม่ได้ดีเสมอไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคมจุฬาฯ ร่วมกับ สปสช.พัฒนาระบบยาในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยา ชี้โครงการ 30 บาทใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยประหยัดยาในระบบได้ปีละหลายพันล้านบาท ระบุการใช้ยานำเข้าบางรายการสร้างภาระหนักทางด้านค่าใช้จ่ายให้ระบบยาในประเทศ

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงกรณีมีข่าวเรื่อง “บริษัทยาต่างชาติระบุโครงการ 30 บาทถ่วงตลาดยาไทย” ว่า ยาที่ใช้ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมาร่วมกันคัดเลือกยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นกลุ่มยาที่ถือว่ามีความจำเป็นในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ครอบคลุมทุกโรค โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะประชุมพิจารณาทบทวนบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นบัญชียาที่ทันสมัย

“ต้องยอมรับว่ายาไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จะมีมูลค่าการบริโภคมหาศาล เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภคอื่น ๆ ได้ ไม่ควรมีการตั้งอัตราเติบโตแบบก้าวหน้า แต่ต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีหลักในการใช้ยาที่เหมาะสม และมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเติบโตด้านยา แต่ระบบหลักประกันสุขภาพ จะเป็นระบบที่สร้างให้ระบบยามีประสิทธิภาพมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพิษวิทยา กล่าวว่า ประชาชนมีความเข้าใจว่ายาใหม่ที่มีราคาแพง และยาจากต่างประเทศนั้น เป็นยาที่ดีกว่า ซึ่งไม่จริงเสมอไป ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การคิดค้นตัวยาใหม่ ๆ ก็ถือว่าจำเป็น แต่ยาทุกตัวจะต้องผ่านการใช้และติดตามผลการรักษาเป็นเวลายาวนานพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัย

ซึ่ง รพ. ที่อยู่ในโครงการ 30 บาท จะใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งได้รับการรับรองด้านมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงรับรองได้ว่ายาที่อยู่ในบัญชียาหลักต้องได้มาตรฐานที่ดีในการผลิตยา ทั้งนี้ การใช้ยาทุกตัวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางสาธารณสุข

“ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น จะเน้นการสร้างสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาล เมื่อยามต้องซ่อมสุขภาพ จึงขอให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตัวเอง” นพ.สุรจิต กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบรูณ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยการใช้ยาของประชาชนในประเทศไทย พบว่า ยาบางรายการไม่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะยานำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งบางตัวมีผลต่อร่างกาย อีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองและใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ระบบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวม ทั้งค่ายาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงขึ้น ถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท

หากคนไทยยังมีการใช้ยาเกินความจำเป็นเช่นนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเป็นภาระของประเทศได้ ขณะเดียวกัน ยังได้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ในระดับที่สูงมากถึงร้อยละ 35 ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงร้อยละ 5-15 เท่านั้น หากยังเป็นไปในสัดส่วนเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบการพัฒนายา และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพอย่างมหันต์

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาวิจัยระบบยาของประเทศไทยหลายเรื่องจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พบว่ามีการใช้ยาที่เกินความจำเป็น เช่น ตัวอย่างกรณีของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ได้ศึกษายาต้านการอักเสบที่ใช้ในรักษาโรคข้ออักเสบจากข้อเสื่อม ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ มีชื่อว่า COX-2 พบว่ามีการใช้ยาดังกล่าวในปริมาณที่สูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ COX-2 มีการบรรจุอยู่ในบัญชียาของ รพ. และในช่วง 2 ปีที่อยู่ในบัญชีนั้น มีการใช้สูงถึง 3 ล้านบาท/ปี หากมีการใช้อย่างเหมาะสม และตามคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของ รพ.แล้ว จะประหยัดได้ปีละ 1.3 ล้านบาท

ทั้ง ๆ ที่ยาดังกล่าวได้ระบุไว้แล้วว่าเป็นยาเฉพาะที่ใช้กับคนในกลุ่มที่อายุเกิน 60 ปีไปแล้ว จะไม่เป็นอันตราย แต่ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวทำให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น อย่างไรก็ตาม เพื่อประกันว่าผู้ใช้ยาจะไม่มุ่งการให้ใช้ยาอย่างประหยัดอย่างเดียว

ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการเภสัชฯ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมทำการศึกษาวิจัยว่า สถานพยาบาลในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับชนิดของโรค คาดว่าจะนำเสนอผลการวิจัยได้ภายในสิ้นปีนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น