xs
xsm
sm
md
lg

สรุป "พระมาลาทองคำ" เป็นศิลปะเชียงแสนของไทย ย้ำทวงคืนใช้หลักการทูต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คกก.ตรวจพิสูจน์  "เครื่องประดับพระเศียรทองคำ” ได้ข้อสรุปเป็นของไทย 100% คาดมีอายุกว่า 500 ปี เป็นศิลปะเชียงแสน ไม่ใช่มาจากกรุวัดราชบูรณะแต่ต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมโดยไปดูของจริงที่สหรัฐฯ ขณะที่การเจรจาทวงคืนจะใช้หลักรัฐศาสตร์ เจรจาอย่างนิ่มนวล ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเผย เครื่องประดับพระเศียรทองคำยังไม่มีคุณค่าทางวิชาการ เพราะไม่รู้ที่มาที่ไป ต้องหาต้นตอที่มาให้ชัดเจนก่อน ชี้มรดกชาติต้องทวงคืนอีกหลายรอบหากคนไทยยังไม่สำนึกถึงคุณค่า

วันที่ 8 มี.ค. ที่กรมศิลปากร มีการประชุมคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องประดับพระเศียรทองคำ ซึ่งมีนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานคณะกรรมการ นายอารักษ์ เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปดังนี้คือ ในเรื่องของชื่อเรียกที่ยังคงมีการสับสน รายงานชื่อไม่ตรงกัน คณะกรรมการชุดนี้ได้ข้อสรุปว่าให้ใช้ชื่อ เครื่องประดับพระเศียรทองคำ เป็นอันถูกต้องที่สุด

ส่วนที่มีการถกเถียงกันว่าเป็นของไทยหรือไม่นั้น เบื้องต้นจากการพิจารณาเปรียบเทียบและดูจากรูปภาพ ยืนยันชัดเจนว่าเป็นของไทยอย่างแน่นอน โดยมีลักษณะศิลปะรูปแบบเป็นของไทย เป็นศิลปะเชียงแสน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าศิลปะล้านนา และในการทวงคืนนั้น เมื่อมีความชัดเจนว่าเป็นศิลปะของไทย คณะกรรมการอีกชุดที่เป็นทีมเจรจาจะใช้วิธีการทางการทูต หรือวิธีทางรัฐศาสตร์ในการทวงคืน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนั้นที่มีกระทรวงต่างประเทศเป็นคณะกรรมการหลัก

นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า หลังการประชุมในครั้งนี้เสร็จสิ้น คงจะต้องมีการเตรียมการเพื่อเดินทางไปดูของจริงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเร็วๆนี้ โดยจะมีการประสานงานไปทางประเทศสหรัฐอเมริกา และส่งตัวแทนจากคณะกรรมชุดต่างๆที่กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศได้มีการตั้งขึ้นมาในการณ์นี้ เพื่อไปพิสูจน์ของจริง และตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมในรายละเอียดด้านอื่นๆต่อไป ซึ่งจะสรุปผลการประชุมในครั้งนี้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามสายงานบังคับบัญชาต่อไป เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ด้านการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์วัตถุโบราณหลุดรอดออกไปนอกประเทศอีกนั้น นายอารักษ์กล่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปกป้องศิลปวัฒนธรรมที่ตั้งขึ้นมาพร้อมกันกับคณะกรรมการชุดนี้ที่จะคอยดูแลเรื่องมรดกวัฒนธรรมของชาติ เพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด หากการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ

รศ.เสนอ นิลเดช อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องประดับพระเศียรทองคำ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาดูตามรูปแล้ว เป็นศิลปะของล้านนา ซึ้งเป็นศิลปะของไทยแน่นอน โดยดูจากลวดลายต่างๆบนเครื่องประดับพระเศียรทองคำ เช่น ลายกลีบบัวมีไส้ข้างใน ลายดอกสี่กลีบ ลายไข่มุก ลายไข่ปลา ล้วนเป็นลักษณะลายไทย ซึ่งเป็นลายแบบศิลปะเชียงแสน และสมัยใหม่เรียกกันว่าศิลปะล้านนา ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ 1850-2000 มีอายุ ประมาณ 500 ปีขึ้นไป น่าจะอยู่ในยุคก่อนสมัยพระเจ้าติโลกราช แต่ยังตอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้

“เทียบดูได้จากรูปภาพซึ่งเป็นเทวรูปผู้ชายศิลปะสมัยเชียงแสนมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 และสวมเครื่องประดับศิราภรณ์ซึ่งมีลักษณะละม้ายเครื่องประดับพระเศียรทองคำที่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นเครื่องประดับพระเศียรลำลอง ป้องกันไม่ให้ผมปลิว ดังนั้นขอยืนยันว่าเครื่องประดับพระเศียรทองคำชิ้นนี้เป็นของไทยแน่นอน 100 %”

ต่อประเด็นที่ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นของเลียนแบบ รศ.เสนอ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่มีใครเห็นของจริง ซึ่งความเห็นส่วนตัวนั้น หากเป็นของเลียนแบบจริง ก็ต้องนับถือในฝีมือของผู้เลียนแบบที่ทำได้เก่งมาก

ด้านนางสมรักษ์ เจริญพจน์ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรรมการและเลขาคณะกรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องประดับพระเศียรทองคำ กล่าวว่า เมื่อผลการประชุมของคณะกรรมการสรุปออกมาชัดเจนว่าเครื่องประดับพระเศียรทองคำชิ้นนี้เป็นของไทย การดำเนินการต่อไปจะเดินทางไปดูของจริงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหาหลักฐานประกอบให้ชัดเจน เช่น เทคนิค วิธีการ รายละเอียดเพิ่มเติมของฝีมือ เพื่อให้สามารถระบุยุคสมัยของเครื่องประดับชิ้นนี้ได้

ศ.ดร.ประสิทธ์ เอกบุตร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ในขั้นตอนของการเจรจาต้องเข้าใจในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ว่าไทยและสหรัฐอเมริกายังต้องมีความร่วมมือต่อไปในด้านอื่นๆต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการคุ้มครองมรดกทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือ คณะกรรมการเจรจาทวงคืนที่กระทรวงต่างประเทศดูแล ต้องใช้หลักการเจรจาอย่างนุ่มนวล โดยการสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญร่วมกัน เชื่อว่า เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าของแหล่งกำเนิด สหรัฐอเมริกาจะให้ความร่วมมือ

ส่วนนายพิเศษ เจียจันทรพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรรมการตรวจพิสูจน์เครื่องประดับพระเศียรทองคำ เปิดเผยว่า ขณะนี้เรายังไม่รู้ที่มาที่ไปของเครื่องประดับพระเศียรทองคำชิ้นนี้ ยังไม่มีใครเห็นของจริง และไม่แน่ใจว่าอยู่ในยุคไหน และมาจากกรุวัดราชบูรณะหรือไม่ ประเมินได้ว่ายังไม่มีคุณค่าในเชิงวิชาการ เพราะเราไม่รู้ความหมาย จะมีคุณค่ามีความหมายก็ต่อเมื่อทราบได้ว่ามาจากยุคสมัยไหน เป็นของกษัตริย์องค์ใด ซึ่งจะต้องไปดูกันให้ชัดเจน

“สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมประเทศไทยถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 4-5 ครั้ง ตั้งแต่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ต้องมาทวงคืนกันตลอด คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะกลับมามองที่ตัวเราเอง ทำตัวเราให้ดี ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำนึกของคน เราฮือฮา เราทวงคืน ไม่นานก็เงียบใหม่ แล้วก็โผล่มาอีก ไม่รู้ว่าต่างชาติเขามองเราเป็นตัวตลกเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า”

นายพิเศษ กล่าวต่อว่า ดังนั้นประเทศไทยควรจะใช้เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียนให้เห็นถึงคุณค่าของวัตถุโบราณทั้งหลาย และตระหนักถึงความยากลำบากในการทวงคืนกว่าจะได้มา เช่นกรณีของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กว่าจะได้มาใช้เวลากว่า 10 ปี ประชาชนร่วมเหลือ ผลักดัน มีการแต่งเพลงทวงคืน แต่เมื่อได้มาและนำไปประดับไว้ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เราก็ลืม ไม่มีการพูดถึง

“น่าจะมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้รู้ถึงความยากลำบากในการทวงคืน เราสนุกแต่การไปดู แต่ไม่มีการพูดถึงคุณค่าและความสำคัญ นั่นหมายความว่าเราไม่เข้าใจในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเลยใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องทวงคืนกันตลอด เพราะจะมีวัตถุโบราณหลุดรอดไปได้ตลอดอีกเช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น