xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาความลับพระมาลาทองคำ ค้นหาความลับกรุวัดราชบูรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวการพบพระมาลาทองคำโบราณของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อาจถูกโจรกรรมไปจากวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์อาเซียนอาร์ตมิวเซียม นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ก่อให้เกิดกระแสการหวงแหนโบราณวัตถุของชาติขึ้นมาบนผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง

แน่นอนว่า สิ่งที่หลายคนคงอยากรู้ก็คือ เรื่องราวของพระมาลาที่เกี่ยวพันกับวัดราชบูรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เมื่อคราวที่กรุแตกและมีการขนสมบัติออกไปเป็นจำนวนมาก โดยที่จำนวนไม่น้อยถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องเพราะในบรรดากรุมหาสมบัติโบราณล้ำค่าของไทยนั้น “กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา” คือแหล่งที่มีทรัพย์สินอยู่มากที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้

ย้อนรอยวันกรุแตก

ในราวปี พ.ศ.2499 ขณะที่กรมศิลปากรกำลังบูรณะวัดราชบูรณะ ก็ปรากฏว่า มีคนร้ายลักลอบเข้าไปขุดกรุ ต่อมามีการรวบรวมของมีค่าในกรุวัดราชบูรณะ ทำบัญชีไว้ เฉพาะที่ทำด้วยทอง เงิน นาก เพชรนิลจินดา 2,121 ชิ้น ชั่งน้ำหนักได้ 10,919.5 กรัม ส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์เนื้อชิน เครื่องสังคโลก เครื่องเคลือบดินเผา มีมากจำนวนนับไม่ถ้วน

จากนั้นได้มีการติดตามเอาเครื่องราชูปโภคทองคำ ที่คนร้ายขโมยไปได้คืนมา รวมแล้วเฉพาะทองคำน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กก. พลอยหัวแหวน ทับทิม หนัก 1,800 กรัม แก้วผลึกชนิดต่างๆ 1,050 กรัม ลูกปัดเงินกับทับทิมปนกัน หนัก 250 กรัม ส่วนพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ มีอยู่หลายสิบองค์ พระปั้นทองและเงินสองกระสอบข้าว

นายลิ เกษมสังข์ อายุ 78 ปี หนึ่งในทีมขุดกรุโบราณสถานวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เมื่อปี 2499 ได้ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 20 คน เข้าไปที่บริเวณโบราณสถานวัดราชบูรณะ ซึ่งขณะนั้นมีสภาพเป็นป่ารกชัฏมาก ขาดการดูแล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กรมศิลปากรเริ่มบูรณะ ตนกับเพื่อนๆ ช่วงนั้นต้องการพระเครื่องเก่าจึงตัดสินใจเข้าไปขุดกรุที่พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ของวัด โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 20.00 น.วันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น

บรรยากาศตอนนั้น จู่ๆ ก็มีลมฝนกระหน่ำอย่างแรงแบบไม่มีเค้า น้ำที่พื้นด้านล่างสูงเกือบถึงหน้าแข้ง เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนของพระปรางค์ก็ใช้ชะแลงงัดเข้าไป และเพื่อนๆ พากันลงไปด้านล่างตรงกลางองค์พระปรางค์ แต่เพื่อนที่ลงไปบอกไม่พบอะไร แต่เมื่อผมลงไปก็มีความรู้สึกว่าแผ่นหินที่เหยียบอยู่นั้น เหมือนเป็นแผ่นศิลาที่ปิดเอาไว้เฉยๆ จึงได้ช่วยกันยกออก ทุกคนก็ต้องตกตะลึงเพราะเมื่อมองลงไปด้านล่างพบว่ามีสิ่งของภาชนะ พระพุทธรูป เครื่องอาภรณ์สีเหลืองอร่ามมากมาย รวมทั้งยังมีพระแสงดาบและมงกุฎ

"เมื่อทุกคนเห็นถึงกับตกใจ เนื่องจากรู้ว่าต้องเป็นของกษัตริย์แน่นอน ผมจึงหยิบเพียงเครื่องทองเล็กๆ น้อยๆ ส่วนเพื่อนๆ แบ่งกันไปจนหมด โดยใช้ถุงแป้งใส่แล้วใช้เชือกโยงขึ้นไปใช้เวลาเกือบ 3 วัน จึงนำสิ่งของออกมาจนหมด ส่วนพระแสงดาบนั้นไม่มีใครเอาไป ทิ้งไว้ที่ต้นไม้ และต่อมาก็ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา"

นายลิ เปิดเผยอีกว่า ส่วนที่ขนไปได้นั้น บางส่วนถูกนำกลับมาได้หลังจากที่เพื่อนๆ รวม 8 คน ถูกจับกุมในเวลาต่อมา ส่วนที่เหลือนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เช่นเดียวกับตน เงินทองที่ได้มาจากการขายสมบัติเหล่านั้น ก็ต้องใช้กับการหลบหนี ในที่สุดเพื่อนๆ ที่เคยร่วมทีมกับตนก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลืออยู่อีกคนชื่อวิ ที่ยังนอนรักษาตัวเจาะคอเพราะพูดไม่ได้

ส่วนตนก็ไปขอขมาและพยายามทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้ เพราะหลังจากขุดเอาของเก่ามาแล้วชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขต้องเข้าเรือนจำด้วยเรื่องต่างๆ 7 ครั้ง ครอบครัวก็ไม่มีความสุข เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่ก้าวล่วงนำของกษัตริย์ไป

สำหรับตัวพระมาลาทองคำที่จัดแสดงอยู่ในอาเซียนอาร์ต มิวเซียม ซานฟรานซิสโกนั้น ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดี บอกว่า ถ้ามองแง่ศิลปะร่วมสมัยกับของที่พบที่กรุวัดราชบูรณะเป็นของรุ่นเดียวกัน ยกเว้นแต่เป็นของปลอม แต่ถ้าปลอมก็ทำได้แนบเนียน ซึ่งถ้าเป็นของจริง จะมีความสำคัญมาก

“ที่จริงแล้ว ของอันนี้อยู่ในกรุวัดราชบูรณะคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) สร้างถวายในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระบิดา พระมาลานี้จึงเป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญน้อย”อาจารย์ศรีศักรอธิบาย

ด้าน น.ส.สุบงกช ธงทองทิพย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า พระมาลาทองคำที่จัดแสดงอยู่ที่สหรัฐฯ ขณะนี้เป็นชุดเดียวกับที่ถูกลักลอบขุดไปจากกรุวัดราชบูรณะอย่างแน่นอน โดยดูจากลักษณะลวดลาย แม้ว่าจะมีความแตกต่างของลักษณะรูปแบบ เนื่องจากการใช้สอย

ทั้งนี้ การโจรกรรมหรือลักลอบขุดนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2499 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมศิลปากรเตรียมการบูรณะวัดและโบราณสถานอื่นๆ ซึ่งพระปรางค์ประธานที่ถูกขุดนั้น มีความเชื่อตามหลักฐานว่าเป็นการสร้างของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ที่สร้างถวายเจ้าอ้าย เจ้ายี่

“หลักฐานฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่าเป็นการสร้างถวายสมเด็จพระนครินทรา พระมหากษัตริย์ที่ มีชื่อเสียงในสุพรรณภูมิ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ในราว พ.ศ. 1952-1967 ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 6 ของกรุงศรีอยุธยา และเป็นกษัตริย์ที่มีการค้าขายกับประเทศจีน จนประเทศจีนมีบันทึกพงศาวดารกล่าวถึงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในช่วงดังกล่าวไว้ด้วย จึงเชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระนครินทรา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงสร้างพระปรางค์นี้ถวายหลัง พ.ศ.1967”

“โดยหลังการสวรรคตก็นำเครื่องราชูปโภค พระแสงดาบ เครื่องมหรรฆภัณฑ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของพระราชวงศ์ชั้นสูง บรรจุเอาไว้จนมีการมาขุดค้นขโมยไป และติดตามคืนมาได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งตนก็เห็นว่ามงกุฎกษัตริย์และเครื่องราชูปโภคอีกหลายรายการ ที่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนในต่างประเทศก็สมควรที่จะทวงกลับมายัง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คิดว่ารัฐบาลคงดำเนินการทวงกลับมาได้ หากได้ทุกชิ้นกลับมาคืนยังพิพิธภัณฑ์ก็จะทำให้เห็นภาพของราชวงศ์กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามากขึ้น”

สมบัติที่เหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

เมื่อพูดถึงวัดราชบูรณะแล้ว ก็ต้องพูดถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพราะที่นี่แหล่งที่เก็บโบราณวัตถุที่ค้นพบในวัดราชบูรณะเอาไว้

พิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ 2 ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า

“โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”

กรมศิลปากรจึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาขึ้นเพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาคารก่อสร้างด้วยเงินบริจาคจากประชาชน โดยผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ

สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง 6 องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย 5 องค์และในประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ ในประเทศไทยอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ 2 องค์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 1 องค์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 1 องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์

นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำ ทองกร พาหุรัด ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆ เป็นต้น แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (035) 241587







กำลังโหลดความคิดเห็น