xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคู่มือ (ไม่ลับ) เลือก”ขนมเด็ก” เลือกอย่างไรไม่ให้โรคอ้วนถามหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟังสถิติและข้อมูลเรื่องเด็กอ้วนในเมืองไทยแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะต้องนอนเอามือก่ายหน้าผากคิดกันให้หนัก เพราะนับวันจะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือทำให้เด็กไทยมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บสารพัด ทั้งนี้ ต้นตอของปัญหาทั้งหมดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “อาหารการกิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขนมและอาหารว่าง” ที่ใช้สารพัดกลยุทธ์ทำให้เด็กตกเป็นทาสในการบริโภคสิ่งของไร้คุณค่ากันเกือบทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่เมื่อถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันไหนมีประโยชน์ อันไหนมีโทษ ก็ไม่มีใครหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

แต่ล่าสุดโครงการวิจัยโรคอ้วนในเด็ก เครือข่ายวิจัยสุขภาพมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกคำแนะนำเรื่องขนม และอาหารว่าง สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว

รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มเด็กไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคขนมและอาหารว่างของเด็กอายุ 3-15 ปี จำนวน 1,589 คนใน 6 จังหวัด เมื่อปี 2547 คือ กทม. สุพรรณบุรี ปทุมธานี แพร่ อุบลราชธานี และตรัง โดยกองทันตสาธารณสุขร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการพบว่าเด็กอายุ 3-15 ปี บริโภคขนมและของว่างสูงถึงร้อยละ 27

ขณะเดียวกันเมื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ มีผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ในกลุ่มเด็กนักเรียนที่อยู่ในเขตเมืองและเขตชนบทกึ่งเมือง ในการสำรวจภาวะโภชนาการของคนไทยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 19 ปี ในปี 2542 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่านักเรียนอนุบาลร้อยละ 12.9 และชั้นประถมศึกษาร้อยละ 13.8 มีภาวะโภชนาการเกิน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เทียบกับ10 ปีที่ผ่านมา

“เด็กเล็กมีพฤติกรรมการกินไม่ถูกต้อง มีการกินอาหารที่ไม่ใช่อาหารหลักมากกว่า 1 ใน 4 ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน ในเด็กโตมีความถี่ในการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานมากกว่าเด็กเล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่ให้พลังงานว่างเปล่า เป็นสาเหตุของโรคฟันผุและโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กกลุ่มอายุ 3-5 ปี และ 6-8 ปี มีอัตราโรคฟันผุร้อยละ 61.7 และ 70.6 และในช่วงที่มีฟันแท้ขึ้นแล้วคืออายุ 9-12 ปี และ 13-15 ปี มีอัตราการเกิดโรคฟันผุร้อยละ 55 และ 60.7”

“การมีฟันผุทำให้เกิดปัญหาต่อการเคี้ยวอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้เด็กกินอาหารประเภทผัก ผลไม้น้อยลง ส่วนโซเดียมหรือเกลือที่มีอยู่ในส่วนประกอบของเครื่องปรุงรสในอาหารกรุบกรอบ ขนมขบเคี้ยวหากบริโภคมากเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดัน ขอเรียกร้องผู้บริโภคอ่านฉลากขนม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่ได้บังคับ จึงมีขนมแค่ร้อยละ 25 เท่านั้นที่มีฉลากโภชนาการ”


รศ.ดร.ประไพศรี อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการวิเคราะห์ขนมและอาหารว่างสำหรับเด็กที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือต่ำ ได้แก่ ซาลาเปาไส้หมู แซนวิชไส้ทูน่า ซาลาเปาไส้ถั่วดำ ขนมปังไส้หมูหยอง ส่วนขนมและอาหารว่างที่มีไขมัน น้ำตาลสูงและเกลือต่ำ เช่น โดนัทสอดไส้แยม ขณะที่พิซซ่ามีไขมัน เกลือสูง ส่วนน้ำตาลต่ำ

สำหรับขนมทางเลือกที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือต่ำ ที่เป็นขนมไทย ได้แก่ ขนมตาล ถั่วแปบ ถั่วกวน ข้ามต้มมัด ข้าวเหนียวถั่วดำ ถั่วเขียวต้ม ขนมกล้วย ฟักทอง เล็บมือนาง ขณะที่ปลากริมไข่เต่า ลอดช่องน้ำกะทิ หม้อแกง จัดเป็นขนมที่มีไขมัน น้ำตาลสูง

“เราเสนอความคิดว่า ควรมีการใช้สีในการแยกขนมสำหรับเด็กว่า มีไขมัน น้ำตาล และเกลือ เป็นปริมาณเท่าใด ถ้าขนมและอาหารว่างนั้น ๆ มีไขมัน น้ำตาลและเกลือสูงก็ให้มีแดง ถ้าเป็นสีเหลืองแสดงว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแต่พออนุโลมให้รับประทานได้แต่ไม่ควรรับประทานบ่อย ขณะที่สีเขียวถือเป็นขนมและอาหารว่างที่ปลอดภัย มีไขมัน น้ำตาลและเกลือต่ำ ผู้ปกครองเลือกให้เด็กรับประทานได้”รศ.ดร.ประไพศรีฝากข้อเสนอแนะ

ด้าน ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเด็กอ้วนและมีฟันผุมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกินไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่ร่างกายต้องการเพื่อการเจริญเติบโต

ทั้งนี้ สัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับพลังงานที่เด็กควรได้รับจากการรับประทานอาหารว่าง ควรอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารทั้งหมดในแต่ละวัน แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กรับประทานขนมและของว่างแซงหน้าอาหารมื้อหลักไปแล้ว ทั้งนี้ ในความเป็นจริง เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ นมวันละ 2-3 แก้ว ซึ่งควรเลือกเป็นนมจืดสำหรับเด็กทั่วไปและนมจืดพร่องมันเนยสำหรับเด็กที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ไม่แนะนำให้บริโภคนมหวานหรือนมปรุงแต่งและอาหารว่าง

“อาหารว่างเป็นอาหารที่บริโภคระหว่างอาหารมื้อหลัก ห่างจากมื้อหลัก 1 ชั่วโมง ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน นั่นคือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 2-5 ปี ไม่เกินมื้อละ 100-130 กิโลแคลอรี เด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี ไม่เกินมื้อละ 150 กิโลแคลอรี เด็กวัยรุ่น อายุ 13-15 ปี ไม่เกินมื้อละ 200 กิโลแคลอรี หรือโดยเฉลี่ยมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี สำหรับเด็กอายุ 2-15 ปี”

ศ.น.พ.สมศักดิ์ให้ข้อมูลต่อว่า อาหารว่างที่ดีควรจำกัดปริมาณไขมัน น้ำมัน น้ำตาล และเกลือ ไม่ให้สูงเกินไป มีน้ำมันในแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 2.5 กรัม หรือครึ่งช้อนกาแฟ น้ำตาลในแต่ละมื้อไม่เกิน 12 กรัม หรือ 3 ช้อนกาแฟ และเกลือในแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม หรือ 1/10 ช้อนกาแฟของเกลือธรรมดา หากเป็นเกลือปรุงทิพย์ไม่ควรเกิน 1/30 ช้อนกาแฟ และควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 หรือใยอาหาร ไม่น้อยกว่า 2 ชนิด โดยแต่ละชนิดมีปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน

ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรใช้อาหารหรือขนมเป็นเงื่อนไขของการให้รางวัลหรือการลงโทษ ส่วนอาหารว่างที่ควรมีอยู่ติดประจำบ้าน ได้แก่ นมจืด ผลไม้สด ผลไม้อบแห้งที่ไม่หวาน ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีท ไม่ตุนของว่างที่มีไขมันและน้ำตาลสูงไว้ในบ้าน ได้แก่ น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ คุกกี้

ขณะนี้ผลไม้สดเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ มีแร่ธาตุและใยอาหาร และวิตามินสูง ซึ่งผลไม้ที่เหมาะสำหรับเป็นอาหารว่าง ได้แก่ กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้ที่มีรสหวานจัดบ่อย เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน เป็นต้น

สำหรับเครื่องดื่ม สิ่งที่เด็กต้องการคือ น้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ได้จากน้ำแกงจืด นม และเครื่องดื่มอื่น ๆ ซึ่งเครื่องดื่มที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ไม่ควรมีน้ำตาลเกินร้อยละ 5

ส่วนคนอ้วนควรดื่มนมจืดพร่องมันเนย ถ้าดื่มนมสดแล้วไม่สบายท้อง ก็ให้เลือกโยเกิร์ตรสธรรมชาติจะดีกว่า คนที่ไม่อ้วนถ้าอยากดื่มนมเปรี้ยว ให้เลือกชนิดที่มีส่วนผสมเป็นนมวัวสูงและมีน้ำตาลต่ำ ทั้งนี้ น้ำอัดลม ไม่ควรบริโภคเลยในเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน

“ขนมซองหรือขนมถุงที่มีแป้ง ไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ถ้าจะบริโภคให้เลือกชนิดที่มีโปรตีนสูงแทน ได้แก่ ปลาเส้น เมล็ดพืชอบ เช่น ถั่วอบกรอบ เมล็ดทานตะวันอบ เม็ดฟักทอง เม็ดแตงโม ไอศกรีม ควรให้นาน ๆ ครั้ง ให้เลือกไอศกรีมที่มีไขมันต่ำ เช่น ไอศกรีมหวานเย็น ที่ไม่แต่งสีจัด ไอศกรีมเชอร์เบท โยเกิร์ตแข็ง เป็นต้น” ศ.นพ.สมศักดิ์สรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น