xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนมาตรา 41 เปิดช่องให้จ่ายเงินชดเชยสุขภาพง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เสนอทบทวน ข้อบังคับ 4 มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพหวังให้การชดเชยง่ายขึ้น พร้อมประสานงานศูนย์สันติวิธีอบรมการไกล่เกลี่ยอนุกรรมการจังหวัด

นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นมาตราที่กล่าวถึงการให้เงินชดเชยเบื้องต้นกับผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ว่าขณะนี้มีการใช้มาตราดังกล่าวน้อยมาก ดังนั้นทาง สปสช. จึงจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้มาตรานี้มากขึ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเงินชดเชยดังกล่าวมีไว้เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ผู้ป่วยเห็นว่าได้รับการรักษาไม่ดี หรือเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่มีใครตั้งใจให้เกิด และไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าแพทย์ทำผิด ส่วนแพทย์ทาง สปสช.ก็จะไปสร้างความเข้าใจว่าในการรักษาพยาบาล แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความผิดพลาดขึ้น แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วแพทย์ก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วย เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

“จากการทบทวนผลการใช้มาตรา 41 มาประมาณ 3 ปี พบว่า มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่คือ การบังคับใช้ข้อบังคับที่ 4 ที่ระบุว่าการรับเงินช่วยเหลือจะต้องไม่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในการรักษาพยาบาล เพราะบางครั้งแพทย์ให้การรักษาถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง แต่ไม่ทราบว่าคนไข้จะเกิดแพ้ยาบางชนิดกระทันหัน ซึ่งหากใช้ข้อบังคับนี้ในการพิจารณาผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยเบื้องต้น แต่จากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาตามมาตรา 41 ในระดับจังหวัดก็มักจะพิจารณาให้จ่ายเงินชดเชยให้ เนื่องจากเป็นการเห็นแก่มนุษยธรรม” นพ.ปิยะกล่าว

นพ.ปิยะกล่าวว่า ทาง สปสช. ได้ว่าจ้างให้ คณะวิจัย ของรศ.ลือชัย ศรีเงินยวง คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขให้การใช้มาตรา 41 มีความคล่องตัวมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเรียกค่าชดเชยเบื้องต้นได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการแก้ไขข้อบังคับที่เป็นปัญหาในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ในช่วงปี 2547 มีผู้มาขอรับเงินชดเชยเบื้องต้นตามมาตรา 41 เพียง 80 ราย จากการเข้ารับการรักษาพยาบาล 120 ล้านครั้ง โดยจ่ายไปเพียง 60 ราย ส่วนที่เหลือไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับคามช่วยเหลือ

นพ.ปิยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือนั้น ทางคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจะพิจารณาโดยดูจากกฎหมายประกอบกับดุลพินิจ และหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นลักษณะการไกล่เกลี่ย เพราะภายหลังจากการบังคับใช้กฎหมายแล้วพบว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับแพทย์ เรื่องการรักษาพยาบาลลดลง อย่างไรก็ตามจะต้องมีการสร้างกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยทาง สปสช.ได้ประสานไปยังศูนย์สันติวิธี กระทรวงยุติธรรมเพื่ออบรมคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ให้การพิจารณาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ปิยะ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทาง สปสช.ได้สร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค แต่จากกนี้ไปจะต้องสร้างความเข้าใจเรื่อง มาตรา 41 มากขึ้น และการให้เงินชดเชยเบื้องต้นจากการรักษาพยาบาลนี้ในต่างประเทศ เช่น แถบสแกนดิเนเวีย มีระบบที่เข้มแข็งมาก ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจอันดีของทุกฝ่าย ดังนั้นปัญหาการฟ้องร้องแพทย์จึงมีน้อยมาก ต่างจากในสหรัฐที่มีการฟ้อร้องอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหากับระบบประกันสุขภาพโดยรวม เพราะต้องกันเงินจำนวนมากไว้เพื่อจ่ายค่าประกันการฟ้องร้อง ซึ่งแม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีเรื่องฟ้องร้องมากนัก แต่ก็คงไม่มีใครอยากเห็นเมืองไทยเป็นเหมือนสหรัฐ

ด้านนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ เลขธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กล่าวว่า มาตรา 41 ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพ ในการกำหนดการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นระบบที่ดีในการลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยดีขึ้น อีกทั้งผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายได้รับการดูแลที่ดีจากการชดเชย จากเดิมที่ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเคยวิตกว่าจะก่อให้เกิดปัญหา ขณะนี้แม้แต่สหรัฐยังได้ให้ความสนใจระบบดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาในสหรัฐมีอัตราการฟ้องร้องการบริการทางการแพทย์สูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องคิดค่าฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถึงร้อยละ 1.5 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างการจัดทำระบบดังกล่าวแล้ว

“มาตรา 41 แม้ว่าจะดำเนินไปด้วยเจตนาที่ดีต่อทุกฝ่าย ทั้งต่อแพทย์ ผู้เสียหาย แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ริเริ่มใหม่ในสังคมไทย อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการวิตกว่าจะมีการฟ้องร้องมากขึ้น แต่ทางสหรัฐและอังกฤษเองกลับมองว่า เป็นระบบที่ดีเพราะเป็นกระบวนการไกล่เกลี่ย ป้องกันการฟ้องร้องสู่ศาล และกำลังจะทำระบบนี้ขึ้นแล้วโดยดูแบบอย่างในไทย อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยนั้น ยังต้องศึกษาจากประเทศที่มีประสบการณ์จัดทำระบบที่ดี อย่าง กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และต้องติดตามดูการทำระบบนี้ทั้งของสหรัฐ และอังกฤษต่อไป โดยนำระบบผสานกับวัฒนธรรมตะวันออกเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์มากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น