ใครที่มักจะเครียดทุกครั้งเมื่อมีเรื่องมากระทบใจ หรือบางคนแค่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มักจะเก็บมาเป็นอารมณ์และก็เครียดกับมันเสียจนไม่เป็นอันทำอะไร คงต้องระวังตัวกันมากขึ้นแล้ว เพราะนอกจากภาวะทางจิตทำให้เราเครียดอย่างหนักหน่วงแล้ว สารพัดโรคทางกายก็กำลังถามหาด้วย ดีไม่ดีหลายคนก็กำลังประสบกับโรคภัยเหล่านั้นอยู่ก็เป็นได้
ผศ.น.พ.ปราโมทย์ สุดคณิชย์ จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ให้ภาพว่า โรคภาวะทางจิตใจสามารถทำให้เกิดโรคทางกายได้หลายชนิดมักผ่านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน ทั้งนี้ โรคทางกายที่พบว่าเกิดจากภาวะจิตใจมีทั้งหมด 7 โรคด้วยกัน
โรคแรกได้แก่ ปวดศีรษะ ซึ่งเชื่อกันว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์และความเครียด เช่น ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ ชนิดของโรคปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับจิตใจมี 2 ประเภทคือ ไมเกรนและปวดศีรษะจากความตึงเครียด
สำหรับไมเกรนนั้น มักพบในผู้มีอาการมีบุคลิกภาพแบบพยายามควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้ดี มีระเบียบ ไม่แสดงความโกรธ แต่ไม่พบว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่เจาะจงให้เกิดอาการนี้ อาศัยการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการ และใช้จิตบำบัดเพื่อแก้ไขบุคลิกดังกล่าวในระยะยาว
ส่วนปวดศีรษะจากความตึงเครียด ส่วนใหญ่มีอาการในช่วงบ่ายหรือเย็นหลังการงานที่ทำให้เครียด หรือบางรายก็มีปัญหากับครอบครัว โรคทางจิตเวชเกือบทุกโรคทำให้เกิดอาการชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่จริงจังและแข่งขัน ควรค้นหาว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่ โดยถามถึงอาการร่วมอื่นๆ อาจให้ยาคลายกังวล ในระยะยาว นอกจากนี้ การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัดจะช่วยป้องกันอาการเป็นซ้ำได้
ผศ.น.พ.ปราโมทย์ อธิบายต่อไปว่า นอกจากปวดศีรษะแล้ว อีกโรคหนึ่งที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับระบบจิตใจก็คือ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีข้อสังเกตมานานแล้วว่า เมื่อบุคคลมีความเครียด จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้นจากโรคต่างๆ ไม่ว่าโรคติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้
นอกจากนี้ การทำงานของเม็ดเลือดขาว ก็ขึ้นกับสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิด หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางอย่าง รวมทั้งผู้ป่วยเอดส์ก็มีอาการรุนแรงมากน้อยตามความเครียดด้วย ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจจะฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น
โรคถัดมาคือ ปวดหลัง ที่กว่าร้อยละ 95 ของผู้มีอาการปวดหลังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจนได้ ซึ่งพบว่าผู้มีอาการนี้ไม่น้อยมีความกังวลหรือซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น การรักษาจึงอาจให้ยารักษาภาวะดังกล่าวร่วมกับยาแก้ปวด รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ขณะที่โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็อยู่ในข่ายเช่นกัน กล่าวคือ มีผู้สนใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ว่า มักมีลักษณะเสียสละ ทำตนให้ลำบาก อดกลั้น และต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยไม่แสดงความรู้สึก และมีบางรายพบว่า อาการกำเริบตามความเครียดทางจิตใจ
สำหรับโรคที่ 5 นั้น ผศ.น.พ.ปราโมทย์บอกว่าคือ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งโรคหัวใจขาดเลือดเกิดอาการได้เสมอหากผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือโกรธ มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ป่วยโรคเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพที่แข่งขัน รุนแรง ทะเยอทะยาน ไขว่คว้า แต่อารมณ์ฉุนเฉียว โดยจะพบระดับโปรตีนในเลือด คอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงด้วย จนเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว
ขณะที่โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ คนเหล่านี้มักมีท่าทีเป็นมิตร เชื่อฟังเคร่งครัดตามกฎ และเก็บงำความโกรธไว้ไม่แสดงออก ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการป่วยโรคนี้
“การรักษาของทั้ง 2 โรค ได้แก่ การทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต แนวคิดมุ่งหวัง ให้รู้จักผ่อนคลาย ทำเทคนิคคลายเครียดอย่างมีหลักการ ร่วมกับการใช้ยาควบคุมโรคดังกล่าวโดยตรง”
โรคต่อมา โรคที่ 6 คือโรคระบบทางเดินอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด เป็นที่ยอมรับมานานแล้วว่า อาการและโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรควิตกกังวลเรื้อรัง โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาด้วยว่า ความกังวลทำให้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติ ร่วมกับรายงานที่ว่า เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เครียดที่รุนแรง เช่น การสูญเสียคนใกล้ชิด จะมีอาการท้องอืดมากกว่าคนทั่วไป การรักษาด้วยยารักษาโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว จึงอาจไม่เพียงพอในการรักษาหรือป้องกันในระยะยาว การฝึกผ่อนคลาย การแก้ปัญหา และจิตบำบัดร่วมไปด้วย จะทำให้ผู้ป่วยปลอดจากอากรดังกล่าวได้นานกว่าผู้รับประทานยารักษาโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว
และโรคสุดท้ายคือ ระบบทางเดินหายใจ ผศ.น.พ.ปราโมทย์ บอกว่า อาการของระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง (hyperventilation syndrome) ที่มีอาการคล้ายหอบหืด โดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หัวใจเต้นแรง บ่นแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือเท้าชา เกร็ง บางรายจะมีนิ้วมือจีบร่วมด้วย
โรคหอบหืด แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาการของโรคเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันแต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยมักมีลักษณะเก็บความโกรธ ไม่สามารถแสดงความอยากพึ่งพิงผู้อื่นออกได้ และอารมณ์ดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการ ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นประจำ การมองหาปัจจัยทางจิตใจและแก้ไขนอกเหนือไปจากการให้ยาขยายหลอดลม อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพจิตใจกับการเกิดมะเร็งนั้น ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นเหตุและผลต่อกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่เข้ามามีบทบาทในการเกิดมะเร็ง เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต การได้เผชิญกับสารต่างๆ ตลอดจนภาวะภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้นๆ แต่ก็พบว่าสภาพจิตใจมีผลต่อการดำเนินโรคของมะเร็งอยู่ไม่น้อยเช่นกัน