xs
xsm
sm
md
lg

ปี 47 สถิติผู้ป่วยชาวตปท.ในไทย แรงงานพม่าสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยปี 2547 กว่า 19,000 ราย เป็นแรงงานมากที่สุดโดยเฉพาะสัญชาติพม่า รองลงมาคือนักท่องเที่ยว โรคที่ป่วยมากที่สุดคือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน รองลงมาคือ ไข้มาลาเรีย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปอดบวมและวัณโรค

นางสุวดี ดีวงษ์ และนางลัดดา ลิชิตยิ่งวรา เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ.2547 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยต่างชาติรวม 19,261 ราย ตาย 37 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.2 จำแนกเป็นผู้ป่วยแรงงานต่างชาติและครอบครัว 16,898 ราย ตาย 34 ราย และชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาและนักท่องเที่ยว 2,363 ราย ตาย 3 ราย พบผู้ป่วยชาย 10,920 ราย หญิง 8,341 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาอายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี

การจำแนกตามเชื้อชาติพบว่า เป็นผู้ป่วยพม่ามากที่สุด 12,693 คน คิดเป็นร้อยละ 65.90 รองลงมาได้แก่ ลาว จำนวน 1,486 คน กัมพูชา 944 คน จีน 151 คน มาเลเซีย 31 คน และเวียดนาม 19 คน โรคในชาวต่างชาติที่ได้รับรายงานผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 7,005 ราย มาลาเรีย 4,832 ราย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 1,844 ราย ปอดบวม 1,043 ราย และโรควัณโรค 766 ราย

เมื่อจำแนกตามประเภทของผู้ป่วย พบว่าโรคที่มีรายงานสูงสุดในกลุ่มผู้ป่วยแรงงานต่างชาติและครอบครัวได้แก่ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปอดบวม และวัณโรค โรคที่มีรายงานสูงสุดในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาและนักท่องเที่ยวได้แก่ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ปอดบวม ไข้ไม่ทราบสาเหตุ มาลาเรีย และไข้เลือดออก

นอกจากนั้นพบว่าผู้ป่วยชาวต่างชาติมีการป่วยด้วยโรคติดต่ออื่นที่สำคัญ ได้แก่ โรคตาแดง 30 ราย โรคสครับไทฟัส 9 ราย พบว่ามีการรายงานผู้ป่วยต่างชาติจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวม 70 จังหวัด จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กาญจนบุรี 4,150 ราย ตาก 2,619 ราย เชียงใหม่ 1,972 ราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งเป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยแรงงานต่างชาติและครอบครัวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กาญจนบุรี 4,063 ราย ตาก 2,615 ราย เชียงใหม่ 1 ,895 ราย ส่วนจังหวัดที่รายงานผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาและนักท่องเที่ยวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 638 ราย อุบลราชธานี 400 ราย และเลย 267 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น