xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรเมื่อไขมันในเลือดสูง (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน เราสามารถควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ การเริ่มป้องกันหรือรักษาตั้งแต่อายุประมาณ 35-40 ปี จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและโรคอัมพาตได้อย่างมาก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง สาเหตุหลักจริง ๆ คือการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวสูง น้ำตาล แอลกอฮอล์ บุหรี่ ความอ้วน และขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และกรรมพันธุ์ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้

ไขมันในเลือดมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่

1.คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันที่มีประโยชน์ โดยเป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไต ไม่เว้นแม้แต่อวัยวะเพศ เมื่อเกิดการตีบตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้อวัยวะนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ รวมไปถึงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

ไขมันคอเลสเตอรอล แบ่งแยกย่อยๆ ได้อีก 2 ชนิด คือ
1.1.แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (Low Density Lipoprotein Cholesterol) หรือคอเลสเตอรอลชนิดร้าย มีบทบาทสำคัญในการสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งและหลอดเลือดตีบตัน ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่ง และมาจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์

1.2.เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (High Density Lipoprotein Cholesterol) หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี ไขมันชนิดนี้จะช่วยในการขนถ่ายคอเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ออกมาทำลาย จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นหากยิ่งสูงจะยิ่งเป็นผลดี ไขมันนี้ร่างกายสร้างขึ้นเอง และจะสูงขึ้นในผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ

2.ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่มาจากอาหารร่วมกับร่างกายสร้างขึ้น ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยอาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และถูกเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมัน เพื่อเป็นพลังงานสำรอง

นอกจากนี้ไตรกลีเซอไรด์ยังช่วยดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค อาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ น้ำมันจากสัตว์ ปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการมีไขมันชนิดนี้สูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอลต่ำ

อันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะไขมันในเลือดสูง

1.ไขมันส่วนเกินจะไปตกตะกอนตามผนังของเส้นเลือด ทำให้ผนังเส้นเลือดหนาและแข็ง ทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ง่าย ถ้าเป็นเส้นเลือดที่หัวใจ จะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด

2.ถ้าเป็นเส้นเลือดที่เลี้ยงสมอง จะทำให้เส้นเลือดตีบตัน เกิดอัมพาต

3.เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาไม่พอ ทำให้เวลาเดินแล้วปวดน่อง

4.ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง ทำให้ตับอ่อนอักเสบ
ความจริงแล้วตัวไขมันในเลือดที่สูงนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการ อาการต่างๆ เป็นผลมาจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงนี้ เริ่มพบได้ตั้งแต่ในวัยรุ่น

ระดับไขมันในเลือดสูงเท่าไรจึงจะเป็นอันตราย

ค่าปกติของไขมันในเลือด

ระดับคอเลสเตอรอล น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ระดับไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ระดับเอช ดี แอล มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ระดับแอล ดี แอล น้อยกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

แต่ในทางการแพทย์ วิธีสำรวจว่าระดับไขมันในเลือดสูงหรือไม่ จะเทียบกับค่าระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลที่พึงปรารถนา ซึ่งค่าดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงในการจัดระดับแอลดีแอล คอเลสเตอรอลที่พึงปรารถนา มีอยู่ 6 ประการ คือ

1.อายุ (ชายเกิน 45 ปี หญิงเกิน 55 ปี)

2.มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี หญิงก่อนอายุ 65 ปี)

3.ความดันโลหิตสูง

4.โรคเบาหวาน

5.สูบบุหรี่

6.ค่าเอชดีแอล คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol) เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวานควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวาน แต่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ควรน้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวาน และมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า 2 ข้อ ควรน้อยกว่า 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

การปฏิบัติตัวเพื่อลดปริมาณไขมันในเลือด ทำได้โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอล ลดแอลดีแอล คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

ข้อแนะนำในการออกกำลังกาย คือจะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำต่อเนื่องครั้งละ 10-30 นาที วันละอย่างน้อย 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ออกกำลังกายแต่ละครั้งให้นานพอและหนักพอ แต่อย่าหักโหมเกินกำลัง

การออกกำลังกายที่จะเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ ได้แก่ การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เต้นรำ ขี่จักรยาน รำมวยจีน รำกระบอง ส่วนการควบคุมอาหารเพื่อลดไขมันในเลือด จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในสัปดาห์หน้าค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น