xs
xsm
sm
md
lg

ปอกเปลือกปลายทางโอลิมปิกวิชาการกับ “ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้คนจำนวนไม่น้อย บังเกิดความชื่นชมและปลื้มปีติเมื่อเด็กไทยคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการกลับมา ไม่ว่าจะเป็นสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ

แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้น การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเปรียบเสมือนการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร เป็นเพียงเครื่องช่วยกระตุ้นให้วงการการศึกษาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์คึกคักขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนไหนมีนักเรียนเป็นตัวแทนหรือได้รับรางวัลติดไม้ติดมือกลับมาก็เป็นเกียรติเป็นศรีสร้างความภาคภูมิใจ

ขณะที่ชีวิตคนเรามิใช่วิ่งครั้งเดียวแล้วจบ ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะในชีวิตจริงของคนคนหนึ่งเท่ากับการวิ่งมาราธอน เช่นเดียวกับความคาดหวังของสังคมที่ไม่ใช่หยุดอยู่แค่เหรียญรางวัลและความภูมิอกภูมิใจ หากต้องการมองเห็นเด็กๆ เหล่านี้กลับมาพัฒนาประเทศ

ดังนั้น เวทีวิชาการโอลิมปิกก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นบันไดที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงเท่านั้น

โลกของโอลิมปิกวิชาการกับความเป็นจริงของวงการศึกษาไทยเป็นอย่างไร มีจุดเด่นหรือจุดด้อยที่ตรงไหน คงต้องไปรับฟังความคิดเห็นจาก “ศ.ดร. สุทัศน์ ยกส้าน” ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกัน

แต่ละย่างก้าวบนเวทีโลก

ศ.ดร.สุทัศน์ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เริ่มต้นมองเวทีวิชาการโอลิมปิกว่า ช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในระดับนานาชาติมีการพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่ประเทศไทยส่งตัวแทนเพื่อแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งช่วงแรกคนในแวดวงการศึกษาจะมีความรู้สึกว่าล้มเหลวเพราะวัดความสำเร็จด้วยการได้เหรียญมากหรือน้อย หลายคนเริ่มท้อถอย เนื่องจากเด็กไทยสู้ต่างชาติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เด็กไทยก็ได้เหรียญเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการที่ดี ก็ทำให้นักเรียนมีความพร้อมมากขึ้น รวมทั้งมีแรงจูงใจ เช่น มีทุนเรียนต่อต่างประเทศ เด็กได้รับอภิสิทธิ์มากขึ้น จึงเริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสในการได้ทำงานที่ดี เป็นผลให้จากสถิติ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์และดาราศาสตร์ทุกด้านกำลังแข็งแรงขึ้น

“โครงการนี้ถือว่าได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์หลายๆ ด้าน ทั้งแง่บวกและลบ แล้วแต่จะฟังใคร คนที่เห็นด้วยก็สนับสนุน คนที่ไม่เห็นด้วยก็เห็นว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ เอาเงินไปถลุงเล่น เป็นเรื่องของเด็กไม่กี่คน เด็กที่ถูกส่งแข่งขันโอลิมปิกจึงมีแค่ 23 คนจากเด็กทั่วๆ ประเทศ 100,000 กว่าคน”

อย่างไรก็ตาม การที่เราภาคภูมิใจกับเหรียญรางวัล คิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว มีความสุข ดีใจ โดยมิได้เปรียบเทียบกันกับชาติอื่นๆ ในโลกและในภูมิภาคนั้น ก่อให้เกิดแต่ผลเสีย อย่างที่รู้ๆ กันว่า การแข่งขันในเวทีโลกไม่ได้แข่งขันเพื่อแย่งเหรียญเพียงเหรียญเดียว แต่ใช้การสรุปยอดรวม
ยกตัวอย่างคือ จำนวนเหรียญแข่งขันจะคิดเป็น 10% ของจำนวนคนเข้าสอบทั้งหมดในแต่ละวิชา เช่น สอบ 400 คน 10% ของจำนวนคนเข้าแข่งขันเท่ากับ 40 เหรียญ

คำถามจึงมักเกิดขึ้นว่า เราเป็นที่เท่าไหร่ของโลก?

สมมุติ ฟิสิกส์เราได้ 1 เหรียญขณะที่ จีน ได้ 5 เหรียญ อิหร่านได้ 4 เหรียญ แต่เราไม่รู้เรื่อง หลงภูมิใจกับเหรียญที่เราได้มา เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับต่างชาติจริงๆ เรายังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การแข่งขันเชิงเปรียบเทียบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราจะต้องยืนอยู่ในโลกของการแข่งขัน
ศ.ดร. สุทัศน์ ยกตัวอย่างอีกว่า ขณะที่ไทยกับเวียดนามลงทุน 100 ล้านบาทเท่ากัน แต่เวียดนามเห็นผลชัดเจนกว่า จุดนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ทำให้สามารถวิเคราะห์ถึงจุดอ่อน ข้อบกพร่อง และนำมาแก้ไข

นอกจากนั้น ยังขึ้นอยู่กับว่า เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร ซึ่งตามหลักแล้วก็ควรเปรียบกับประเทศที่พัฒนามากกว่า อย่างสิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ และคงต้องยอมรับความจริงกันว่า ขณะนี้ไทยยังสู้กับประเทศเหล่านั้นได้ยาก

นี่คือ คำถามใหญ่ที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจะต้องตระหนักให้มาก

ทุ่มเงินร้อยล้านคุ้มหรือไม่คุ้ม

คำถามสำคัญประการถัดมาก็คือ สังคมคาดหวังอย่างไรกับเด็กเหล่านี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลให้ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 100 ล้านต่อปีในการคัดเลือกเด็กจากเด็กทั่วประเทศ จากหมื่นเป็นพันจากพันเป็นร้อยจากร้อยเป็นสิบ ซึ่งเมื่อได้ตัวแทนแล้วก็ต้องนำมาเก็บตัวเข้าค่ายอีกนับเป็นปีๆ รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์อีกมากมายสารพัด

ขณะที่ต้องไม่ลืมด้วยว่า เด็กๆ ส่วนมากของสังคมไทย การพัฒนาทางการศึกษายังย่ำอยู่กับที่ ภาครัฐได้มีการวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากเด็กๆ ที่ได้รับเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกวิชาการเหล่านี้อย่างไรบ้าง
 
ในประเด็นนี้ ศ.ดร.สุทัศน์ บอกว่า “สังคมคาดหวังอะไรจากเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมถามตัวเองเหมือนกัน เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถเฉพาะทางที่เด่นมาก เขาควรจะเดินเส้นทางสายนี้ต่อไป อย่างเก่งคณิตศาสตร์ก็ควรเป็นนักคณิตศาสตร์ เก่งเคมีก็ควรเป็นนักเคมี เก่งฟิสิกส์ก็ควรเป็นนักฟิสิกส์ให้กับประเทศ แต่นั่นเป็นความคาดหวังโดยหลักการ เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลเพียงทุ่มเทเงินเพื่อให้ได้เด็กมา แต่ยังไม่มีการตั้งกฎหรือข้อบังคับที่ชัดเจน ว่าหลังจากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศในการแข่งขันตลอดจนการได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศนับ 10 ปี เด็กได้เจริญรอยตามสิ่งที่เฝ้าฝึกฝนหรือกลับมาเพื่อทำงานพัฒนาประเทศชาติหรือไม่ ขณะนี้เรามองกันคนละครึ่งทาง เหมือนกับเด็กที่เอนทรานซ์ติดหมอเรียนจบออกมาแล้ว จะเป็นหมอทำงานเพื่อคนยากจนหรือเบนเข็มไปด้านอื่น เรากำหนดไม่ได้ เพราะเราให้ทุกอย่างเขาไปเฉยๆ ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือเรียกว่า ไม่อยากบังคับจิตใจ”

“จริงๆ แล้ว เด็กโอลิมปิกไม่จำเป็นต้องเป็นเสาหลักให้ประเทศหรอก เป็นนักวิจัย หรือเป็นอาจารย์ช่วยถ่ายทอดความรู้ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ เด็กโอลิมปิกสามารถเสริมพลังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ถ่ายเทเลือดเก่า ผู้ใหญ่ต้องผลักเด็กออกมาให้เด็กทำงานแต่ยังไม่ค่อยพบ รวมทั้งผมกำลังจับตาดูเวลามีการประกาศนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จะปรากฏเด็กโอลิมปิกหรือไม่ หรือ อีก 10 ปีข้างหน้า เป็นอย่างไรกันบ้าง มีผลงานทางวิชาการออกมามากน้อยเพียงใด ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังไม่มีเด็กโอลิมปิกที่โดดเด่นมาก สิ่งสำคัญคือ เด็กโอลิมปิกได้รับโอกาสจากประเทศชาติเยอะ ใจผมถ้าคุณเป็นเด็กทุนรัฐบาล คุณต้องพยายามสร้างงานให้เยอะให้มีผลกระทบด้านดีต่อสังคมให้มาก”

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุทัศน์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเด็กกลับมาทุกคนต้องพยายามดิ้นรนหางานไขว่คว้าชื่อเสียง ด้วยตัวเอง เนื่องจากต่างอยากทำงานที่ดี มีความมั่นคง เงินเดือนสูงๆ รวมทั้งบรรยากาศการทำงานก็ไม่เหมือนสมัยเรียน

ที่สำคัญคือ ทุกอย่างอยู่ในโลกของความเป็นจริงในประเทศไทยไม่ได้สะดวกสบาย อุปกรณ์เครื่องมือมีไม่พร้อม ดังนั้น จึงเกิดการกระจุกตัวทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่กับหน่วยงานที่เกินพร้อมมีเงินเดือนสูงแทนที่จะกระจายเพื่อพัฒนาประเทศ เช่น ทำงานในมหาวิทยาลัยภูธรที่ขาดแคลน ซึ่งในการพัฒนาประเทศจะต้องมีการกระจายตัวมากกว่านี้

“ในระยะยาวรัฐบาลยังไม่ได้เตรียมพร้อมในการรองรับเด็กกลุ่มนี้เลย เมื่อขึ้นเครื่องบินไปแล้วก็แล้วกัน นี่เป็นปัญหาที่เด็กกำลังเจอ เขาจะเริ่มเห็นความแตกต่าง รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยกำหนดให้ชัดเจนว่า การส่งเด็กเรียนต่างประเทศเป็นวัตถุประสงค์ใด มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และอนาคตต้องไม่ใช่ส่งเด็กแค่ 23 คน แต่ต้องเป็น 100 คน อีกอย่างเด็กคงต้องรู้จักเปลี่ยนวิธีคิด กลับมาช่วยสังคมบ้าง”

ปัญหาอีกประการที่สำคัญคือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพกับเด็กมากเกินไป โดยไม่มีการตีกรอบให้กับคนที่ได้รับทุนว่า ควรเรียนและไม่ควรเรียนอะไร จึงทำให้การเลือกเรียนของเด็กในบางสาขาวิชาไม่เหมาะกับบ้านเรา เมื่อกลับมาก็ประสบปัญหา

ด้วยเหตุนี้ ศ.ดร.สุทัศน์ จึงสรุปว่า การพัฒนาประเทศโดยอาศัยเด็กหัวกะทิเพียงหยิบมือจึงแทบเป็นไปไม่ได้เพราะทุกอย่างต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

“ทุกวันนี้ เราสร้างนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ก่อน แล้วไปยืนคนเดียวซึ่งพัฒนาประเทศไม่ได้ เราเหมือนโตแต่หัวแต่แขนขาลีบ ฉะนั้น การวัดความสำเร็จจากการแข่งขันวิชาการโอลิมปิกจึงไม่ได้วัดที่เหรียญแต่หลังจากผ่านจุดนี้ไปแล้วต่างหาก ดังนั้น การประเมินความสำเร็จจึงต้องประเมินที่จุดปลาย โอลิมปิกเป็นเพียงต้นทางเท่านั้น”

“เด็กโอลิมปิกเป็นเพียงเด็กกลุ่มเล็กๆ เราต้องดูในภาพรวมทั้งประเทศซึ่งมีเด็กที่ได้ทุนต่างๆ รวมแล้ว 1,000 กว่าทุนต่อปี แต่หากถามว่า การส่งเด็กเรียนเมืองนอกคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเด็กที่เราได้มาทำงานให้กับสังคมมากน้อยแค่ไหนต่างหาก”ศ.ดร.สุทัศน์ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น