xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาเจ๋ง! ผ่าตัดวิธีส่องกล้องโรคลำไส้สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศัลยแพทย์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดโรคระบบลำไส้ โดยคงหูรูดทวารหนักไว้ด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้ผู้ป่วยขับถ่ายทางทวารหนักได้เหมือนเดิม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ถือเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ทำสำเร็จแห่งแรกในไทย เตรียมเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการส่องกล้อง เผยแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นเพราะคนไทยอายุยืน วิถีชีวิตเหมือนคนตะวันตก

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำเร็จในการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบบเก็บหูรูดททวารหนักด้วยกล้องส่องครั้งนี้เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งการผ่าตัดลำไส้ด้วยการส่องกล้องและเก็บหูรูดทวารหนักไว้ยังไม่มีใครทำมาก่อนในประเทศไทย และถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน ซึ่งต้องใช้แพทย์ที่เก่งทั้งการผ่าตัดและเชี่ยวชาญการส่องกล้อง จุฬาฯ เตรียมเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการส่องกล้อง

รศ.นพ.อรุณ โรจนสกุล หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคทางลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีหลายประเภท เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ กระเปาะลำไส้ใหญ่อักเสบ เลือดออกจากลำไส้ใหญ่ เนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีวิธีการรักษาแต่ละโรคขึ้นกับพยาธิสภาพ แต่มีหลักพื้นฐานคือการผ่าตัดรอยโรคต้องตัดลำไส้ส่วนที่ดี เลาะต่อมน้ำเหลือง ตัดเส้นเลือดออกด้วยเพื่อป้องกันโรคแพร่กระจายและการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งหากเป็นโรคบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ต้องตัดหูรูดทวารหนักทิ้งด้วยเสมอ กรณีนี้แพทย์จะทำทวารหนักเทียมที่หน้าท้อง เพื่อขับถ่ายอุจจาระ แต่เทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่สามารถเก็บหูรูดทวารหนักไว้ได้

ผศ.นพ.ชูชีพ สหกิจรุ่งเรือง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและต่อลำไส้ที่หูรูดทวารหนักเกิดขึ้นครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้วโดยการเปิดแผลทางหน้าท้อง และผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออกทั้งหมดและต่อลำไส้เล็กกับหูรูดทวารหนักในเวลาไล่เลี่ยกัน ข้อมูลช่วงปี 2546-2547 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ รวมทั้งสิ้น 293 ราย เป็นรอยโรคที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 138 ราย จำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก 18 ราย ผ่าตัดเก็บรักษาหูรูดทวารหนักไว้ได้ 120 ราย

“บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นตำแหน่งที่มีความซับซ้อนในการผ่าตัด เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ซึ่งในอดีตการผ่าตัดส่วนใหญ่จะตัดเอาหูรูดทวารหนักออกด้วยเสมอ เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถลดอัตราการเกิดเนื้องอกเป็นซ้ำได้ การผ่าตัดแบบนี้จะมีลำไส้เปิดที่หน้าท้องเพื่อการขับถ่ายอุจจาระแต่ ในปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดที่ถูกต้องสามารถลดอัตราการเป็นซ้ำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องตัดเอาหูรูดทวารหนักของผู้ป่วยออกไปด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องส่อง หรือ Laparoscopic Surgery” ผศ.นพ.ชูชีพ กล่าว

ผศ.นพ.ชูชีพ กล่าวด้วยว่า การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง ทำให้ผู้ป่วยลดความเจ็บปวดลง สามารถกลับไปทำงานได้เร็วว่าเดิมประมาณ 2 เท่า จากการผ่าตัดแบบเดิม สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท โดยสามารถใช้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรครักษาได้ แต่หากเป็นผู้ป่วยจากต่างจังหวัดจะต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดก่อน

ผศ.นพ.ชูชีพ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดด้วยกล้องส่องนั้นผู้ป่วยจะต้องมีความพร้อมสำหรับการผ่าตัดใหญ่ เช่น หัวใจและปอดแข็งแรงดี ขนาดก้อนเนื้องอกไม่ใหญ่เกินไป ก้อนเนื้องอกไม่ยึดติดกับอวัยวะข้างเคียง ไม่เคยรับการผ่าตัดใหญ่ในช่องท้อง และแพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ประมาณ 2-3 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น