xs
xsm
sm
md
lg

5 ธ.ค. น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พ่อหลวงของแผ่นดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องในมหามงคลวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม 2547 อันถือเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และ “วันชาติไทย” นี้ ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผู้เปรียบเสมือน “พ่อหลวงของแผ่นดิน” และศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี ความรู้จักประมาณตน และความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ให้สมกับที่พระองค์ได้ทรงเสียสละเพื่อพวกเราคนไทยมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา

5 ธ.ค. ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชแล้ว ยังถือเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และ “วันชาติไทย” ด้วย

วันพ่อแห่งชาติ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2523 เนื่องจากประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในน้ำพระราชหฤทัยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างกว้างขวางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยประเทศชาติและพสกนิกรของพระองค์ ทรงใช้พระราชวิริยะอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์ ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา และความห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ เหล่าอาณาประชาราษฎร์จึงเทิดทูนบูชาพระองค์ดุจดัง “พ่อหลวงของแผ่นดิน”

ส่วนการถือเอาวันนี้เป็น “วันชาติไทย” นั้น ก็มาจากมติคณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2503 ที่เห็นชอบให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เช่นเดียวกับประเทศที่มีประมุขโดยทั่วไป เช่น อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น

พระนาม “ภูมิพลอดุลยเดช” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีความหมายว่า “ผู้ทรงกำลังอำนาจไม่มีอะไรเทียบในแผ่นดิน” พระองค์ได้เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 มีพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในวโรกาสนี้ได้ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งคนไทยทั้งปวงต่างได้รับรู้ด้วยความซาบซึ้งใจตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำพระราชพิธีรัชดาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2514 และเมื่อปี 2520 คณะบุคคลอันประกอบด้วยประชาชนทุกสาขาอาชีพได้พร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” และได้ร่วมกันจัดงานถวายพระพรและเฉลิมพระเกียรติในนามปวงชนชาวไทยในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ โดยใช้ชื่อว่า “5 ธันวามหาราช” ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา

ต่อมา เพื่อความพร้อมเพรียงในหมู่พสกนิกรในอันที่จะถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” จึงได้มีการสำรวจประชามติของประชาชนทั่วประเทศ ปรากฏว่าประชาชนมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลและปวงชนชาวไทยจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ในงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล

ในปี 2531 ได้มีพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นการเฉลิมฉลองพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยืนยาวนานกว่าบุรพกษัตราธิราชพระองค์ใดๆ ซึ่งพิธีนี้เคยมีมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติได้ 40 ปีเสมอด้วยระยะเวลาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในรัชกาลปัจจุบัน มีกำหนด 3 วันคือ วันที่ 2, 3 และ 5 กรกฎาคม 2531 โดยคิดนับตั้งแต่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 42 ปี 22 วัน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 (ทรงครองราชย์ 9 มิถุนายน 2498) ซึ่งเป็นเวลาจำนวนปีและวันเท่ากับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยยิกาธิราช นับเป็นระยะเวลายืนนานที่สุดที่พระมหากษัตริย์ไทยเคยครองได้ดำรงราชย์มาแต่อดีต และเป็นการเฉลิมฉลองมหามงคลวโรกาสที่หาได้ยากยิ่ง

และในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 อันเป็นวันที่พระองค์ได้ทรงครองราชย์ครบ 50 ปีบริบูรณ์ รัฐบาลจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นราชสักการะและถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งประชาชนทั้งประเทศได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ที่ได้ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง ด้วยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่องานว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษที่ไม่เคยมีปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน ก่อให้เกิดความปลื้มปีติมาสู่พสกนิกรไทยโดยถ้วนหน้า

ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่มีอยู่มากกมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาชนบท ด้านการเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา รวมไปถึงด้านการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกมหาสมาคม พร้อมมีพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งพระบรมราโชวาทแต่ละครั้งล้วนเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความคิดและปรัชญาอันเป็นสารัตถประโยชน์ยิ่ง โดยเฉพาะแนวคิดต่างๆ ของพระองค์ท่านถือเป็น “คำสอน” ที่ทรงคุณค่าของ “พ่อ” ที่มีความห่วงใยและใส่ใจต่อพวกเราอันเปรียบเสมือน “ลูกๆ” ของพระองค์ จึงควรที่เราทุกคนจะได้น้อมนำพระบรมราโชวาทเหล่านี้ไปคิดและประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ดังจะได้ขออัญเชิญมาบางส่วน ดังนี้

“... บรรพชนของเรารักษาชาติรักษาแผ่นดินมาด้วยสติปัญญา ความสามารถ ด้วยกล้าหาญเสียสละ และด้วยคุณความดี บางสมัยบ้านเมืองก็สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง บางสมัยก็คับขันเดือดร้อนเปลี่ยนแปลงสลับกันมา แต่ถึงอย่างไรเราก็มีอิสรภาพและความสุขความเจริญทุกอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ข้อนี้ควรเป็นสิ่งเตือนใจให้คนไทยทุกฝ่ายทุกคนมีสมานฉันท์ ในอันที่จะรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความสามารถและความดีให้ยิ่งเพิ่มพูนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วเร่งรัดปฏิบัติสรรพกิจการงานบรรดามี ด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจโดยขะมักเขม้น ให้งานทั้งปวงดำเนินก้าวหน้าไปโดยสอดคล้องและเกื้อกูลกันทุกๆ ส่วน ...” ( 5 ธันวาคม 2534)

“... ความสามัคคีนี้เป็นคุณธรรมประการหนึ่ง ซึ่งหมู่ชนผู้อยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษาและต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ เนื่องด้วยสรรพกิจการงานที่เป็นส่วนรวมทุกด้าน ทุกระดับ ต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันคิดร่วมกันทำ ถ้าแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมงานกันด้วยความตั้งใจดี ความรู้ความสามารถ ด้วยความฉลาดมีเหตุผล และด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ งานก็จะสำเร็จผลสมบูรณ์งดงามตามประสงค์ทุกอย่าง ...” (5 ธันวาคม 2530)

“... ในบ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำบ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” (พิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 6 จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512)
กำลังโหลดความคิดเห็น