xs
xsm
sm
md
lg

เด็กและเยาวชนไทยจะไปทางไหน ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการไหลบ่าทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมไทย หรือยุคสมัยของข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนนั้น เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่สำคัญอย่างหนึ่งที่นำสังคมไทยไปสู่พัฒนาการของการประดิษฐ์คิดค้น การให้บริการด้วยการผลิต และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทั่วโลก ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ ฯลฯ โดยเครื่องมือการสื่อสารเหล่านี้ได้สร้างความพึงพอใจและสร้างค่านิยมให้กับ ผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับวันยิ่งมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการดำเนินวิถีชีวิตของคนทั่วโลก

แม้ว่าสังคมไทยจะอยู่ในยุคของกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยุคทุนนิยมหรือวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมก็ตาม แต่เราควรตระหนักถึงการสร้างความรู้และการทำความเข้าใจถึงคุณประโยชน์และโทษ ที่จะเกิดขึ้นจากผลพวงของการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านั้น เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชนและสังคมไทย หากเราลองย้อนกลับไปในอดีตสมัยก่อน เราจะมองเห็นภาพของความรักความผูกพันสายใยสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสารถึงกันหรือการเยี่ยมเยือนไปมาหาสู่กันด้วยการสัมผัสรับรู้ได้ด้วยกาย วาจา และจิตใจอย่างแท้จริง โดยมีจารีตประเพณี วัฒนธรรมเป็นตัวร้อยเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านั้นระหว่างเครือญาติกับกัลยาณมิตรของเรา

แต่ในปัจจุบันนี้ เราจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ผลพวงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลและแทรกกลางขวางกั้นระหว่างสายใยสัมพันธ์เหล่านั้นด้วยการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีหรือวัตถุเป็นตัวกลางเชื่อมโยงในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ซึ่งเราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยให้เราสามารถติดต่อ สื่อสารถึงกันได้มากขึ้นและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่แห่งใดไกลแค่ไหนก็ตาม แต่ทว่าการสัมผัสรับรู้หรือสายใยสัมพันธ์นั้นยากที่จะหยั่งรู้และเข้าถึงความรู้สึกทางด้านจิตใจได้ ส่งผลให้สังคมไทยทุกวันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและมีการสร้างระบบความสัมพันธ์ใหม่กลายเป็น “สังคมเทียมไม่ใช่สังคมแท้” ดังเช่นคำกล่าวของ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งประชุมภาคีความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้กับเครือข่ายปันความรู้สู่กระบวนทัศน์ใหม่ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 ณ วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม

ผลจากการสรุปภาพรวมของการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการในวันครอบครัวสดใสงาน “ความรู้เพื่อชีวิต 10 ปี สกว.” ในหัวข้อเรื่อง “เด็กและเยาวชนในยุคโลกาภิวัตน์: ปัญหา ทางเลือก ทางออก” ณ ห้องประชุม Meeting 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการนำเสนอข้อมูลสถิติจากผลการศึกษาวิจัยในเบื้องต้นของโครงการวิจัย 2 โครงการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ได้แก่

(1) โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย โดยมี แพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์อายุ 24 ปี เพื่อหาคำตอบของโจทย์วิจัยที่ว่า คนไทยควรเลี้ยงดูลูกอย่างไรหรือว่ารูปแบบใด คนไทยควรเลี้ยงลูกแบบไทยโบราณหรือแบบตะวันตก หรือควรผสมผสานทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องพิจารณาถึงปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นบริบทและพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการ พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย เช่น เรื่องสติปัญญา เรื่องพัฒนาการของเด็ก เรื่องสุขภาพ เรื่องโภชนาการ เรื่องสาเหตุการตายของเด็ก เรื่องจริยธรรม และเรื่องการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งสื่อประเภทต่าง ๆ ของเด็ก ฯลฯ เป็นต้น

และในประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการใช้เทคโนโลยีของเด็กนั้น การวิจัยชี้ให้เห็นภาพรวมของผลกระทบต่อค่านิยมการบริโภคสื่อหรือการใช้เทคโนโลยีของเด็กไทยในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มต้นจากการสำรวจกลุ่มเป้าหมายของโครงการวิจัยฯ พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี จะได้ชมภาพความรุนแรงที่เกี่ยวกับเรื่องฆ่ากันและตีกันประมาณ 501 ครั้งต่อวัน เด็กวัยประถมจะชมรายการการ์ตูนที่ส่อให้เห็นพฤติกรรมการแต่งกายของตัวการ์ตูนที่สวมใส่เสื้อผ้าโป๊และเน้นเนื้อหาไปในเรื่องเซ็กซ์ เป็นอันดับหนึ่ง ชมรายการละครเป็นอันดับสอง และชมรายการเกมโชว์ เป็นลำดับสาม

ส่วนเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะชมรายการละครเป็นอันดับหนึ่ง เกมโชว์เป็นอันดับสอง ฟังเพลงเป็นอันดับสาม และมักไม่สนใจรายการเกี่ยวกับการศึกษา เพราะเราไม่ปลูกฝังให้เด็กสนใจเนื้อหาสาระต่าง ๆ แทนการเลือกชมแต่รายการที่มีความบันเทิงเพียงอย่างเดียว อีกทั้งสื่อโฆษณาที่เผยแพร่ก็เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้าน พฤติกรรมของเด็กไทยพบว่า เด็กวัยประถมเริ่มทดลองสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 10 ปี ดื่มเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มบำรุงกำลังตั้งแต่อายุ 16 ปี ซึ่งเด็กที่เคยสูบบุหรี่จะมีโอกาสติดยาบ้าและผงขาวได้ง่าย และยังมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมทางเพศ เนื่องจากมีค่านิยมเลียนแบบแฟชั่น
นั่นคือการยอมรับการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานของวัยรุ่น และวัยรุ่นชายเริ่มทดลองมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับโสเภณี ทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคเอดส์ตายตั้งแต่อายุยังน้อย ล่าสุดพบว่ามีเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปีเป็นโรคเอดส์ตาย นั่นแสดงว่าเด็กติดเชื่อโรคเอชไอวี ตั้งแต่อายุ 11 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กถูกกระทำและตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

(2) โครงการวิจัย Child Watch โดยมี ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนใน 12 จังหวัดของภาคเหนือ โดยใช้ตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสังคม ฯลฯ เป็นเครื่องมือเพื่อสำรวจพฤติกรรมเด็ก รวมทั้งมีการทำวิจัยกรณีศึกษาในทั้ง 12 จังหวัด จากข้อมูลสถิติบางส่วนที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับสภาวการณ์ของเด็กในระดับน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พยายามสะท้อนให้มองเห็นภาพของการใช้เทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ต รวมถึงสื่อต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยพบว่า ปัจจุบันมีเว็บไซต์ทั่วโลก 7 ล้านเว็บ มีเว็บไซต์โป๊ประมาณ 2 ล้านเว็บ มีการผลิตหนังโป๊ผ่านเว็บไซต์ประมาณ 11,000 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจประมาณ 4,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการผลิตหนังโป๊มากกว่าการผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวูดประมาณ 20 เท่า ในแต่ละวันจะมีเด็กคลิ๊กเข้าไปเล่นเกมประมาณ 100 คน ทำให้ธุรกิจผลิตเกมส์มีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน และในปีหนึ่ง ๆ เด็กจะต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนประมาณ 900 - 1,000 ชั่วโมง แต่เด็กดูโทรทัศน์ประมาณปีละ 1,000 – 1,200 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่า เด็กเรียนหนังสือน้อยกว่าชมรายการโทรทัศน์

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการวิเคราะห์เนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศพบว่า เด็กอเมริกันก่อนอายุครบ 18 ปี จะได้ดูฉากความรุนแรงทางโทรทัศน์ประมาณ 1 แสนฉากต่อปี เป็นฉากการฆ่ากันประมาณ 10,000 ฉาก เป็นฉากเลิฟซีน ประมาณ 14,000 ฉาก และเด็กอเมริกันในช่วงวัยรุ่นอายุ 13–17 ปี พบว่า ประมาณ 1 ใน 5 เคยถูกชักชวนแบบที่มีนัยไปในเชิงเพศสัมพันธ์ โดยผ่านวิธีการแช็ต (Chat) ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อปี ค.ศ.1998 มีคดีล่อลวงเด็กทางอินเทอร์เน็ตประมาณ 710 กว่าคดี เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2000 มีคดีล่อลวงเด็กทางอินเทอร์เน็ตประมาณ 3,000 คดี ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยในเรื่องเหล่านี้เลย

จากข้อมูลสถิติของโครงการวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมของเด็กไทยในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นพลวัต รวมทั้งต้องเผชิญกับกระแสบริโภคนิยมและทุนนิยมที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญและคุณค่ากับตัวเงินเป็นหลัก ดังนั้น หากพ่อแม่-ผู้ปกครอง-ครูอาจารย์ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่เท่าที่ควรหรือขาดความรู้และความเข้าใจไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของเด็ก รวมทั้งสังคมก็ปล่อยให้มีสถานประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบ มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์หรือกำไรสูงสุดทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว ขาดจรรยาบรรณและขาดความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กไทย ตลอดจน ยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมหรือปกป้องคุ้มครองเด็กแล้ว
เราจะหวังว่าเด็กไทยในวันนี้จะเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติได้อย่างไร โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษานั้น หากพิจารณาในเชิงระบบโครงสร้าง นับได้ว่าเป็นหน่วยหนึ่งของระดับฐานรากที่สำคัญของประเทศ เพราะมีบทบาทหน้าที่ในการผลิต เลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติให้เจริญเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

กล่าวคือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทหน้าที่และมีส่วนร่วม รับผิดชอบในการบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนได้เติบใหญ่เป็นผู้นำที่ดีหรือเป็นคนดี มีความสุข มีจริยธรรม มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะพร้อมจะช่วยเหลือสังคมและพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ทั้งสองสถาบันจะอ่อนแอลงก็ตาม ความเพียรพยายามของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั้งสองสถาบันหลักนี้

ยกตัวอย่างรูปธรรมที่มีหลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เช่น กิจกรรมค่ายเด็กและเยาวชนเพื่อ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน กิจกรรมค่ายครอบครัวเพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์สายใยในครอบครัว กิจกรรมการพัฒนาโรงเรียนผู้นำหรือโรงเรียนต้นแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการปฏิรูปการเรียนรู้ ฯลฯ
แต่ความเพียรพยายามดังกล่าวคงจะไม่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก เพราะการตระหนักและการรับรู้หรือการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องสร้างความรู้และทำความเข้าใจ เพื่อนิยามความหมายของคำว่า “การมีส่วนร่วม” ว่าคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน ต้องทำอย่างไร และมีกฎหมายหรือมาตรการใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาหรือการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อทุกคนจะได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และนี่คือประเด็นคำถามหรือโจทย์วิจัยที่ต้องการแสวงหาหรือค้นหาคำตอบ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคำถามของสังคมว่า เราจะมียุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไรในการสร้างความรู้และใช้ความรู้เพื่อสร้างความความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม ใครจะเป็นผู้ตอบ คำถามนี้แก่สังคม

ยุทธศาสตร์การสร้างความรู้และการใช้ข้อมูลหรือชุดความรู้เพื่อก่อให้เกิดสติปัญญาและเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้านและยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาหรือสร้างกลไกใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมหรือที่เรียกว่า “หน่วยจัดการความรู้ (Unit of Knowledge Management)” อย่างอิสระ โดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ และใช้กระบวนการเรียนรู้มาบูรณาการกับการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนของชาติให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสุข และมีความมั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง
…………………………………………………
ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ติดต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร.0-2298-0454 e-mail : pr@trf.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น