xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเว็บไซด์ข้อมูลพืชพิษทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พืชใกล้ตัวที่พบเห็นอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไป เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับและพืชที่ปลูกไว้เพื่อรับประทานหรือแม้แต่พืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วจากอินเดีย เม็ดตะกล่ำตาหนู ชุมเห็ดเทศ กลอย ต้นจามจุรี(ก้ามปู) ชวนชม ดองดึง กะทกรก(เถาเงาะ) บอน ตำแย ต้นสบู่ดำหรือต้นสบู่ขาว บอระเพ็ด โป๊ยเซียน ล้วนแล้วแต่มีส่วนที่เป็นพิษทั้งสิ้น ซึ่งหากไม่ระมัดระวัง นำมารับประทานหรือสัมผัสถูกผิวหนัง หรือสัมผัสถูกร่างกายโดยวิธีการใดๆ ก็ตามในปริมาณมากหรือน้อยก็อาจจะเกิดอันตรายกับร่างกายได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีได้รับพิษจากการรับประทานต้นสบู่ขาวเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณื จนอาเจียนและท้องเสียอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เสมอๆ เนื่องจากความไม่รู้และการมองข้ามอันตรายจากพืชต่างๆ

น.พ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น สถาบันวิจัยสมุนไพรจึงได้จัดทำศูนย์ข้อมูลลงในเว็บไซด์ http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษให้แก่ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป

สำหรับเนื้อหาในเว็บไซด์นั้น จะประกอบไปด้วยระบบฐานข้อมูลที่สามารถค้นหาได้จากชื่อของพืชพิษ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อวิทยาศาสตร์ อาการของพิษ ส่วนที่มีพิษ เช่น ลำต้น ดอก ใบ โดยมีรูปภาพของพืชพิษชนิดนั้น ประกอบ พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของพืชพิษ อาการพิษและวิธีการแก้พิษเบื้องต้น

นอกเหนือจากเรื่องพืชพิษชนิดต่างๆ ในเว็บไซด์ดังกล่าวแล้ว ยังมีฐานข้อมูลเรื่องสมุนไพรในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์และสรรพคุณทางยาของสมุนไพรชนิดต่างๆ และโลกของสมุนไพร ซึ่งรวบรวม Link ที่เกี่ยวกับเรื่องของสมุนไพร เช่น ข้อมูลการเผยแพร่วิชาการเกี่ยวกับสมุนไพร พืชผักสมุนไพร ชมรมรักษ์สมุนไพร เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสมุนไพรได้ทำการวิจัยสมุนไพรอย่างครบวงจร ทั้งสมุนไพรที่ผลิตเป็นยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการคุณภาพสุขไพรไทย โดยสมุนไพรที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษา วิจัย และส่งเสริมให้มีการใช้ในขณะนี้มี 12 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล ชุมเห็ดเทศ ดีปลี พริกไทย มะขามป้อม สมอไทย บัวบก ขิง หญ้าหนวดแมวและมะกรูด ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรตระหนึกถึงความสำคัญของมาตรฐานการผลิตและการเพาะปลูกที่ดีและช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อส่งเสริมการส่งออกและลดการนำเข้าเพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีให้แก่ประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติได้อีกทางหนึ่ง”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ภาพถึงการดำเนินงานและการส่งเสริมสมุนไพรทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น