การเรียนรู้ในโลกขว้าง ย่อมดีกว่านั่งจุ้มปุ๊กอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเป็นแน่ เด็กๆ เยาวชนแลดูกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ เมื่อเขาได้มีโอกาสมาเข้าค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์ช้างเผือกซิเมนต์ไทย หรือ Cementhai Sci-Camp ในช่วงปิดเทอมนี้
“เราได้ศึกษาทดลองสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ ตัว ด้วยวิธีการแบบใหม่ๆ แตกต่างจากในห้องเรียน เรารู้ว่าดินมีสารอาหารประเภทใดบ้าง อากาศที่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างไร หรือน้ำที่สะอาดมีคุณสมบัติอย่างไร และยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ด้วย” วิทวัส ศรีแก้ววณวรรณ หรือ น้องเบนซ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนประสาทบำรุง จ.นครศรีธรรมราช ให้ภาพ
จากนั้นก็อธิบายถึงข้อดีของวิชาวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์นั้นมีความเกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำรงชีวิต การได้มาสัมผัสวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จริง ได้ทดลองจริงทำให้ใกล้ชิดธรรมชาติและสามารถจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างแม่นยำมากขึ้น
“การมาเข้าค่ายครั้งนี้สนุกมากครับ”
น้องเบนซ์บอกและยังเล่าด้วยว่า วันแรกๆ ที่เดินทางมาเข้าค่าย ไม่รู้จักใครเลย แต่พอมาได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และกิจกรรมสันทนาการร่วมกันจึงสนิทกันมากขึ้น จากนั้น เมื่อเพื่อนมีปัญหาอะไรที่ไม่เข้าใจก็อธิบายให้กันฟัง หรือไม่เพื่อนก็อธิบายให้ฟังบ้างเรียกว่า แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหลังจากได้มาเข้าค่ายทำให้มีเป้าหมายในการศึกษาชัดเจนขึ้น
“ผมตั้งใจอยากเป็นตำรวจหรือไม่ก็ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และแน่นอนว่าจะต้องเลือกเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสายวิทยาศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย”
ส่วน กุลชา ผลพิสิษฐ์ หรือน้องเฟิร์น นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย พูดจาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเข้าค่ายเพราะสนุกมาก ได้ทั้งเพื่อนใหม่จากทั่วประเทศ ได้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้ประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว
“เฟิร์น ชอบฐานการเรียนรู้เรื่องน้ำมากที่สุดเพราะได้ลงมือทดลองเอง นอกจากนั้น ยังประทับใจเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคน เราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญการได้ออกค่ายวิทยาศาสตร์ทำให้เฟิร์นชอบวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นและตั้งใจว่าจะเรียนต่อในสายวิทย์เช่นกันกับเพื่อนๆ หลายๆคน”
สำหรับรายละเอียดความเป็นมาของโครงการ ผศ.ปกรณ์ สุวานิช รองคณะบดีฝ่ายบริหารพัฒนาระบบ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้คัดเลือกเด็กนักเรียนม.3 ทั่วประเทศเกือบ 1,500 คน เหลือเพียง 100 คน เพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรม Cementhai Sci-Camp ค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนช้างเผือกซิเมนต์ไทย รุ่นที่ 15 ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า เพื่อมาร่วมเรียนรู้วิทนยาศาสตร์และสิ่งรอบๆ ตัว ฝึกการคิดวิเคราะห์และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันและโครงการนี้จะทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป
“วัตถุประสงค์ของค่าย คือ การกระตุ้นเด็กให้รักวิทยาศาสตร์ อย่างที่จะเรียนรู้ และคุ้นเคยกับแขนงวิชาทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะและคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเด็กมัธยมต้นที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างมาก ”
ผศ.ปกรณ์ ยังเล่าถึงรายละเอียดปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยว่า มีการแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม มีการศึกษาภาคทฤษฎี จากนั้นจึงลงฐานการเรียนรู้ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฐาน คือ ดิน น้ำ อากาศ
การศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านธรรมชาติ โดยมองสิ่งที่อยู่รอบตัวเป็นวิทยาศาสตร์โดยไม่ต้องมานั่งท่องสูตร ทำให้เด็กๆ ได้เห็นของจริงจากประสบการณ์จริง ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง “ดิน” เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งวิชา เคมี ชีววิทยาไปพร้อมๆ กัน
“ปัญหาการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เรียนแล้วลืมง่าย ก็จะหมดไป การศึกษายุคใหม่จำเป็นที่เด็กจะต้องเรียนแล้วจับต้องได้ ที่ผ่านมาเด็กไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์เพราะอะไร นั่นเพราะเด็กไม่อยากที่จะต้องคลุกอยู่กับตัวเลขหรือห้องแล็บนานๆ ดังนั้นที่นี่เด็กๆ จะได้รับในสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน”
ผศ.ปกรณ์ บอกอีกว่า วันสุดท้ายจะมีการจัดสอบวัดความรู้เพื่อชิงทุนการศึกษา โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาวิชา จะได้รับทุนการศึกษาพร้อมเกียรติบัตรด้วย อีกทั้งยังจัดให้มีการทัศนะศึกษาที่โรงงานผลิตกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ของธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทยด้วย
สำหรับฐานการเรียนรู้ ทดลอง ฐานแรก-ฐานดิน จะเป็นการนำดินบริเวณต่างๆ มาวิเคราะห์สภาพ เช่น มี สารอนินทรีย์ อินทรีย์ สารพิษ มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ขณะที่ฐานที่ 2 ฐานอากาศ ผศ.ดร วินัย นุตมากุล อาจารย์ประจำ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟังว่า ฐานนี้เป็นการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยการสอนให้เด็กๆ ใช้เครื่องมือวัดปริมาณฝุ่นในอากาศ ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษหรือไม่ และส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งการเรียนรู้เรื่องอากาศช่วยให้พวกเข้าเข้าใจกระบวนการทางวิชาฟิสิกส์และกายภาพมากขึ้น
ฐานสุดท้าย-ฐานน้ำ ผศ.ดร.จำลอง อรุณเลิศอารีย์ อาจารย์ผู้ดูแลฐานอธิบายให้ฟังว่า ฐานนี้เด็กจะได้ทดสอบดูความโปร่งใสของน้ำและตรวจวัดคุณภาพน้ำเช่นตรวจ ค่า PH ตรวจหาสารพิษ ออกซิเจน กรดด่าง รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพื้นที่ทางการเกษตรเพราะน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เป็นน้ำที่ชาวบ้านนำไปใช้ในการเกษตร แล้วนำมาเปรียญเทียบกับแหล่งน้ำในจุดที่แตกต่างกัน การเรียนรู้เรื่องน้ำจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจคลอบคลุมทั้งเคมี ฟิสิกส์ ชีวะฯ พร้อมกับน้ำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ ดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
สำหรับ น.ส.วัชญา แก้วทิพย์ หรือ น้องกวาง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่คอยดูแลน้องๆ บอกว่า การได้มาเข้าค่ายร่วมกับน้องๆ ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างมากทั้งความรู้ ทักษะ การใช้ปฏิบัติการห้องแล็บ ซึ่งถือเป็นความรู้ที่ดีเป็นอย่างมาก
“ตอนนี้สนิทกับน้องๆมาก เวลาเขาไม่รู้อะไรเขาก็จะถามแล้วถ้าเราตอบไม่ได้เราก็จะถามอาจารย์อีกทีหนึ่ง การได้มาเข้าค่ายถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ในความความเป็นกันเองของน้องๆ”กวางทิ้งท้าย
...ที่จะขาดไม่ได้เลยของค่ายนี้คือป้าแดงหรือนางมยุรีย์ สิทธิสากล เลขาโครงการที่ลงทุนลงแรงดูแลเด็กๆ ทุกคน บอกว่า เด็กๆจะได้เรียนรู้อะไรมากมายและนอกจากวิชาการที่จะได้รับแน่นอนแล้วยังจะได้รับมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนและงานนี้ทุกคนถึงจะเหนื่อยแต่ก็สนุกอย่างแน่นอน